ต้องยอมรับว่า เวลาที่เรา “หางาน-สมัครงาน” เลือกที่จะร่วมงานกับ องค์กร หรือ บริษัทไหนสักแห่ง นอกจาก พิจารณา ปัจจัยแง่ เงินเดือน, ค่าตอบแทน และ รายละเอียดของงาน ที่ตรงกับความสามารถ-ความถนัดของเราแล้ว “สวัสดิการพนักงาน” ก็เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญ ที่เราจะใช้ในการตัดสินใจร่วมด้วย ยิ่งในยุคที่ งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่งานที่ดี ต้องทำให้ การใช้ชีวิต มีคุณค่า และ มีความหมาย ด้วยนั้น สิทธิ์ฮีลใจ ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ล่าสุด JobThai แพลตฟอร์มสมัครงานชื่อดัง รวบรวม “สวัสดิการ” ที่น่าสนใจ ที่ช่วยดึงดูดคนทำงานยุคใหม่ มาร่วมงานด้วย ดังนี้
สวัสดิการด้านการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร
- Hybrid Working หรือ การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน อาจเข้าแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการกำหนดของแต่ละบริษัท
- Flexible Working Hours หรือเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น สามารถเลือกเวลาในการทำงานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้
- ของขวัญต้อนรับพนักงานใหม่ หรือ Welcome Gift เล็กๆ ที่มอบในวันแรกของการเริ่มทำงาน เช่น แก้วมัค สมุดโน้ต ถุงผ้า
- ของขวัญฉลองวันครบรอบทำงานสำหรับพนักงานที่ทำงานครบ 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี
- ส่วนลดในการอุดหนุนสินค้าหรือบริการของบริษัท หรือที่เรียกว่าราคาพนักงานนั่นเอง
สวัสดิการด้านวันหยุดและวันลา
- ลาพักใจ (Wellness Leave) ถ้าพนักงานสภาพจิตใจไม่พร้อมทำงาน อกหัก สูญเสียคนที่รัก เบิร์นเอาต์ ก็สามารถลาไปพักเพื่อฮีลใจได้
- ลาปวดประจำเดือน (Period/Menstrual Leave) ให้พนักงานทุกคนที่มีประจำเดือน สามารถลาหยุดได้ถ้ามีอาการปวดท้องหรือไม่สบายตัว
- ลาผ่าตัดแปลงเพศ (Gender Affirmation Leave) สำหรับพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ โดยบางองค์กรให้ลาได้สูงสุดถึง 45 วัน
- ลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับคุณพ่อและคุณแม่ (Parental Leave) การดูแลลูกไม่ใช่เรื่องของคนเป็นแม่เท่านั้น เพราะคนเป็นพ่อเองก็ควรมีสิทธิ์ในการลาไปเลี้ยงดูลูกด้วยเหมือนกัน
- ลาหยุดในวันเกิด (Birthday Leave) พนักงานสามารถหยุดไปใช้ช่วงเวลาในวันพิเศษของตัวเองได้
สวัสดิการด้านสุขภาพและความเป็นอยู่
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยอาจใช้บริการของโรงพยาบาลให้มาตรวจสุขภาพพนักงานที่บริษัท หรือมีงบให้พนักงานซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพตามโรงพยาบาลที่สะดวกแล้วมาเบิกกับบริษัท
- ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ ช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้ชีวิตและแบ่งเบาค่าใช้จ่ายของพนักงานกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันหรือป่วยกะทันหัน
- อุปกรณ์ทำงานเพื่อสุขภาพ เช่น บางองค์กรมีโต๊ะปรับระดับและเก้าอี้ Ergonomic ให้พนักงานใช้ หรือสามารถยืมไปใช้ที่บ้านได้กรณีทำงานทางไกล
- สวัสดิการนวด/กายภาพบำบัด เช่น จัดหาหมอนวดหรือนักกายภาพบำบัดเข้ามาที่ออฟฟิศเพื่อนวดคลายเส้นให้กับพนักงานและสอนท่ากายภาพบำบัดให้กับพนักงานที่เป็นออฟฟิศซินโดรม
- สวัสดิการด้านฟิตเนส เช่น มีห้องออกกำลังกายในออฟฟิศ มอบสิทธิ์ Membership ฟิตเนสใกล้ๆ ออฟฟิศให้กับพนักงาน หรือมีค่าสนับสนุนกิจกรรมด้านกีฬาอย่างค่าเช่าคอร์ตแบดมินตัน สนามฟุตบอลให้
- สวัสดิการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิต จัดหาบริการให้คำปรึกษาและพูดคุยกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาให้
- Nap Room ให้พนักงานเข้าไปนอนงีบ พักสายตาเวลาง่วงหรือล้าจากการทำงาน
- ห้องคลายเครียดในออฟฟิศ มีทีวีให้ดู มีเกมคอนโซล บอร์ดเกม โต๊ะปิงปอง หรือโต๊ะพูลให้เล่น ช่วยแก้เครียดและช่วยเพิ่มกิจกรรมให้ทำร่วมกันในออฟฟิศ
- อาหารกลางวัน ขนม หรือชาและกาแฟฟรี ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายให้พนักงาน
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฟรี จะได้ไม่ต้องวิ่งวุ่นหาร้านหรือเดินทางฝ่ารถติดไปจองโต๊ะ นั่งชนแก้วกันในออฟฟิศนี่แหละ
- เมนูพิเศษในวันเกิดพนักงาน เช่น มีเค้ก ไอศกรีม หรืออาหารที่พนักงานชอบมอบให้
สวัสดิการด้านการส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะ
- Training และ Workshop สำหรับพนักงาน หรืออาจมีเงินสนับสนุนการเรียนรู้ให้พนักงานสามารถเลือกลงคอร์สเรียนเพื่อพัฒนาทักษะตามตำแหน่งงานและความสนใจได้
- คอร์สอบรมและให้คำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุน เช่น การบริหารเงินสไตล์มนุษย์เงินเดือน การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี การออมเงินเพื่อเกษียณ
สวัสดิการด้านเงินสนับสนุนพิเศษ
- ค่าที่พักและค่าเดินทาง ช่วยแบ่งเบาภาระให้พนักงาน โดยเฉพาะคนที่เช่าบ้านอยู่ในโซนกลางเมืองติดรถไฟฟ้าซึ่งมีราคาแพง หรือคนที่บ้านอยู่ไกล ต้องเสียค่าเดินทางเยอะเพราะเดินทางหลายต่อ
- ทุนการศึกษาให้บุตรพนักงาน จะได้ช่วยลดภาระเรื่องค่าเล่าเรียนของลูกของคนทำงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่
- เงินสนับสนุนค่าไฟ / ค่าอินเทอร์เน็ตให้กับพนักงาน ในกรณีที่บริษัทมีนโยบายให้พนักงานทำงานแบบ Hybrid Working หรือ Work from Anywhere
- สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับพนักงาน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธนาคารพิจารณาให้สินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงได้รับดอกเบี้ยอัตราพิเศษ และอาจมีสิทธิ์ได้วงเงินกู้สูงอีกด้วย
- เงินช่วยเหลืองานแต่งงาน งานบวช และงานศพ ช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่างๆ
- งบพิเศษสำหรับซื้อของเพิ่ม Productivity หรือที่เรียกว่า Productivity Stipend ให้พนักงานซื้อสินค้าที่ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ซื้อหนังสือ อุปกรณ์ไอที หรือจ่ายค่า Subscription แอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลงเอาไว้ฟังเวลาทำงานให้ Productive มากขึ้น
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่