นายปราโมทย์ ปาทาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) และผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัทโคตรคูล จำกัด (KK) เปิดเผยว่า สำหรับโคตรคูล ซึ่งอยู่ในธุรกิจบันเทิง คุณสมบัติของพนักงานที่มองหาคือคนที่เข้าใจดีเอ็นเอความ “สนุก” ในแบบที่โคตรคูลมี ไม่จำเป็นต้องตลกหรือสนุกตลอดเวลาและต้องมีอายุไม่เกิน 27 ปี “อย่างผมเวลางานก็จริงจัง ตั้งใจ ขอแค่เข้าใจความสนุกในแบบเดียวกับพวกเราก็พอ และที่สำคัญที่สุดคือความอดทน มีมานะ อุตสาหะ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะทำให้คุณเก่ง เพราะความเก่ง มันฝึกกันได้”
ซีอีโอโคตรคูล ยังอธิบายเหตุผลการแบ่งขายหุ้นจำนวน 49% ในโคตรคูลให้กับบริษัท ไทยบรอดคาสติ้ง จำกัด (THB) บริษัทย่อยบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ในมูลค่าไม่เกิน 216 ล้านบาทว่า อยากได้มุมมองในแบบมืออาชีพ มาช่วยให้โคตรคูลเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยมองไกลไปถึงการเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้โคตรคูลดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในฐานะบริษัทมหาชน ไม่พึ่งพาตัวเขาเป็นหลัก
โดยนับตั้งแต่เปิดกิจการย้อนหลัง 6 ปี โคตรคูลทำกำไรต่อเนื่อง ด้วยจำนวนพนักงาน 45 คนแต่มีคนสมัครงานหลักพัน และยังไม่มีแผนเพิ่มจำนวน หรือหากต้องเพิ่มจะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 100 คน
นายวีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า ลาซาด้าจะเติบโตต่อไปได้ ต้องมีพนักงานที่ “ใช่” โดยสิ่งที่มองหาคือคนที่มีคุณสมบัติ 3 ประการสำคัญต่อโลกการทำงานยุคใหม่ ได้แก่ 1.ทักษะในการแก้ปัญหา ในฐานะอยู่ในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ พนักงานของลาซาด้าต้องแก้ปัญหาให้ลูกค้าและพันธมิตรผู้ค้าบนแพลตฟอร์มตลอดเวลา 2.ทักษะในการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ดูแลร้านค้าได้เป็นอย่างดี และ 3.ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงอย่างคล่องแคล่ว ว่องไว
“ผมมองว่า ปัจจุบัน พนักงานไม่สามารถมี Fixed Mindset ได้ ต้องพร้อมเรียนรู้หลายเรื่อง แต่แน่นอนว่าต้องมีความรู้หลักของตัวเอง ผมไม่ติดหากพนักงานจะเป็น “เป็ด” เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณทำได้หลายอย่าง ผมเองก็เป็นเป็ด ผมเรียนรู้หลายอย่าง ผมจบวิศวกรรมชีวภาพมา แต่ตอนนี้มาขายของที่ลาซาด้า”
ซีอีโอลาซาด้า ปิดท้ายว่า หัวหน้างานมีบทบาทสำคัญยิ่ง มองหาหัวหน้าที่ “ใช่” ให้เจอ หัวหน้าเป็นเหมือนคนให้ปุ๋ย ให้ลูกน้องได้เติบโต พัฒนา และต้องเป็นคนที่พร้อมสนับสนุนเราให้เติบโต ก้าวหน้าทั้งในและนอกบริษัท
นายพิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า นอกจากคะแนนจบการศึกษาที่ดี เพราะเป็นเครื่องการันตีความสามารถของพนักงานในด่านแรกแล้ว ไลน์ยังมองหาคนที่สามารถแก้ปัญหาได้ (problem solver) ซึ่งนั่นหมายถึงการทำกิจกรรมพิเศษ นอกเหนือจากการเรียนเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้จะทำให้ผู้สมัครแตกต่างและโดดเด่น
“คนเจน Z เป็นคนที่มีทักษะในการเรียนรู้ (learning curve) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนทุกเจน พวกเขามีข้อมูลอยู่ที่ปลายนิ้วมือ เพียงแค่คลิกหรือไถหน้าจอ การแข่งขันของคนเจน Z จึงสูงมาก คนเก่งเยอะ โอกาสน้อย ทุกปีไลน์จะมีโครงการเปิดรับเด็กฝึกงาน ที่เรียกว่า Line Rookie ปีที่แล้วมีคนสมัคร 2,000 คน เรารับแค่ปีละ 20 คน หรือแค่ 1% เท่านั้น การแข่งขันจึงสูงมาก”
ซีอีโอไลน์ ยังฝากถึงพนักงานคนเก่งทั้งหลาย อย่าใช้โอกาสเปลือง จากที่เห็นคนเหล่านี้มักจะกระวนกระวายใจเมื่อเห็นเพื่อนเติบโตก้าวหน้า ได้ตำแหน่งดีกว่า แล้วเปรียบ เทียบกับตัวเอง ทำให้ไม่อยากอดทนรอ
อย่างไรก็ตาม หากที่สุดแล้วต้องเลือก ซีอีโอไลน์บอกว่า คนที่เก่ง “คน” จะได้รับการพิจารณาก่อน เพราะงานสามารถเรียนรู้หรือสอนกันได้ แต่นิสัย ทัศนคติที่ดีเป็นเรื่องที่สอนยาก นอกจากนั้นยังควรมีความถ่อมตน รู้จักฟัง เพราะไลน์อยู่ในธุรกิจเทคโนโลยี มีคู่แข่งเข้ามาท้าทายอย่างรวดเร็วและรุนแรงเสมอ.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่