วากานะ ทานากะ (Wakana Tanaka) Country Head ของ Linkedin ประจำประเทศญี่ปุ่น ร่วมสัมภาษณ์พิเศษกับ Bloomberg ครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บอกเล่าถึง “ญี่ปุ่นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่โลกการทำงานในยุคนี้มีแนวคิดและหลักการในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ทานากะ บอกว่า ปัจจุบันบริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีการปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมและทัศนคติที่เปลี่ยนไปของคนในสังคม โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และหันมาให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานทักษะสูงแทนที่ระบบการการจ้างงานแบบเดิมที่จะเป็นการจ้างงานตลอดชีพ ซึ่งมักจะจูงใจให้พนักงานให้ความสำคัญกับความภักดีต่อองค์กร และผูกมัดให้พนักงานต้องทำงานกับบริษัทเดียวไปตลอดชีวิต
"คนยุคนี้ให้ความสำคัญกับชีวิต ครอบครัว ต่างจาก 20 ปีที่แล้วที่ให้ความสำคัญกับงานเป็นอันดับแรก"
ทานากะ บอกว่า แม้การเปลี่ยนแปลงในตลาดงานญี่ปุ่นในยุคนี้จะส่งผลดีต่อผู้หญิง และมีจำนวนผู้หญิงที่เข้าสู่ตลาดงานเพิ่มมากขึ้น แต่การเปิดโอกาสให้กับผู้หญิงนั้นกลับเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาจำนวนประชากรที่ลดลงและเศรษฐกิจที่ซบเซาของประเทศ แทนที่จะรู้สึกว่าได้รับอำนาจ หลายคนกลับมีความรู้สึกไม่เท่าเทียมมากขึ้นเรื่อยๆ
“จำนวนผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นในตลาดงานไม่ได้หมายความว่า ค่าจ้างจะเพิ่มขึ้น”
เดิมทีตลาดแรงงานมีการต่อสู้กับความไม่เสมอภาคทางเพศมาอย่างต่อเนื่อง ผู้ชายถูกคาดหวังถึงหน้าที่การงานที่มั่นคง ในขณะที่ผู้หญิงต้องทำงานพาร์ทไทม์ที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า อีกทั้งยังถูกคาดหวังให้ต้องทำหน้าที่ดูแลงานบ้านให้ไม่ขาดตกบกพร่อง ซึ่งหากครอบครัวใดมีลูก หน้าที่นั้นก็จะตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิง
โดยญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มี Gender pay gap หรือช่องว่างการจ่ายเงินเดือนตามเพศที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 (สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส และแคนาดา) โดยปัจจุบันผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงในองค์กรญี่ปุ่นยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่า 13%
ทั้งนี้ ทานากะ ให้มุมมองว่า การจ้างงานโดยโฟกัสที่ทักษะ เปิดโอกาสให้กับผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังผลักดันอย่างมากในปีนี้ โดยได้จัดสรรงบประมาณ 1 ล้านล้านเยน (7.3 พันล้านดอลลาร์) สนับสนุนให้ประชาชน Reskill เข้าถึงการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนงานไปสู่งานที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และยังได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่องว่างเรื่องค่าจ้างระหว่างเพศหญิงและชายยังคงมีอัตราสูง ซึ่งมีส่วนทำให้การเติบโตของค่าจ้างอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง
ทานากะ บอกว่า การทำงานในองค์กรที่ใกล้ชิดกับตลาดแรงงานอย่าง Linkedin ภารกิจของเธอนั้นจะเป็นไปเพื่อยกระดับสถานะของผู้หญิงในญี่ปุ่นและในเอเชีย
ในฐานะคุณแม่ลูกสองและ Country Head คนแรกของญี่ปุ่น เธอยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ดำรงตำแหน่งประธาน Harvard Business School Club of Japan
และยังเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้นำหญิงในญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีนักธุรกิจและผู้บริหารหญิงระดับสูงจากองค์กรชั้นนำร่วมด้วยมากมาย เช่น เคธี มัสซูอิ (Kathy Matsui) อดีตรองประธาน Goldman Sachs Japan ยูมิโกะ มุราคามิ (Yumiko Murakami) อดีตหัวหน้าศูนย์โตเกียวของ OECD และ มิกิ สึซากะ (Miki Tsusaka) ประธานคนใหม่ของ Microsoft Japan
อ้างอิง Bloomberg1, Bloomberg2