ใครจะไปนึกว่า “คนที่ขับรถไม่เป็น” จะมาบริหารธุรกิจ “โลจิสติคส์” นี่อาจเป็นคำถามที่ มัดหมี่-วราพรรณ วัชรพล ต้องตอบอยู่บ่อยครั้ง เพราะภาพจำของธุรกิจขนส่งที่ติดอยู่ในหัวของหลายๆ คนนั้น อาจอยู่คนละขั้วกับเส้นทางชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องมารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวในฐานะทายาทองค์กรใหญ่อย่าง “ไทยรัฐ กรุ๊ป” หรือสมญานามที่ใครๆ ต่างก็เรียกว่า “ยักษ์เขียววิภา”
ที่ ณ วันนี้ไม่ใช่แค่ส่ง “หนังสือพิมพ์” และมีมากกว่าแค่ “ธุรกิจสื่อ” นั่นคือการต่อยอดศักยภาพของเครือข่ายรถสายส่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ที่คร่ำหวอดในวงการขนส่งมากว่า 75 ปี สู่ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” น้องใหม่ของวงการที่จะให้บริการซัพพลายเชนแบบครบวงจร
เริ่มแรก วราพรรณ เล่าว่า “มันก็คงตลกดี ถ้าหมี่จะบอกว่าทุกวันนี้หมี่ขับรถไม่เป็น แต่เดชะบุญ ในอดีตเรามีประสบการณ์อยู่กลุ่มธุรกิจบริการ นั่นก็คือโรงแรม เพราะฉะนั้นการที่เราจะมี Service Mind หรือการที่เราอยากจะบริการคนอื่น อยากทำให้ประสบการณ์ของเขาดีขึ้น ตรงจุดนี้เองเราจึงนำมาประยุกต์ใช้กับการเป็นผู้ให้บริการในฐานะขนส่ง การขนย้าย เหมือนกับ Soft Skill ที่คนส่วนใหญ่ในวงการที่เป็นผู้ชายอาจจะไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดในสิ่งนี้ พร้อมกับดึงจุดแข็งที่มีมาใส่ใจในรายละเอียด พร้อมกับดูแลลูกค้าเป็นหลัก”
ดังนั้นหากพูดถึง “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” แน่นอนว่าจะต้องมีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร โดย วราพรรณ ฉายภาพว่า การต่อยอดจุดแข็ง และทรัพยากรที่มี ซึ่งหนึ่งในความสำเร็จของหนังสือพิมพ์มาจากการขนส่ง คู่ค้าขนส่ง เราเชื่อว่าตรงนี้สามารถทรานส์ฟอร์มมาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ได้ โดยที่ไม่ต้องเริ่มจาก “ศูนย์” ในทุกๆ มิติ
“นับเป็นโอกาสที่ดีที่ไทยรัฐ กรุ๊ปจะได้ผันตัวเองเข้าไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่นอกจากสื่อ โดยใช้จุดแข็งและทรัพยากรที่มีอยู่ หนึ่งในนั้นคือ รถ จากที่เคยส่งหนังสือพิมพ์มาปรับเปลี่ยนรูปแบบสู่ผู้ให้บริการทางด้านโลจิสติคส์”
แต่กระนั้นเวลาที่เราพูดถึงโลจิสติคส์ คนจะนึกว่าเราส่งพวกพัสดุ กลุ่มส่งสินค้าตามบ้าน วราพรรณ จึงขยายความบริการของ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ให้ชัดขึ้นว่า ทั้งหมดคือบริการที่ครอบคลุมครบวงจร หรือหากจะกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการซัพพลายเชน ดูแลสินค้าของลูกค้าตั้งแต่ การจัดเก็บ การขนส่ง การกระจาย ไปยังผู้แทนจำหน่าย หรือผู้บริโภค
รวมถึงระบบต่างๆ ตั้งแต่คลังกระจายสินค้า เครือข่ายขนส่งต่างๆ และการเพิ่มมูลค่าสินค้าของลูกค้าผ่านช่องทางสื่อที่มี เพื่อช่วยในการเพิ่มยอดขาย กระจายการรับรู้ของแบรนด์นั้นๆ ภายใต้คำนิยาม “Service You Can Trust” ที่ถือเป็นจุดแข็งของการให้บริการที่ลูกค้าสามารถ “ไว้วางใจ” ได้ ไม่หาย ไม่เงียบ และมีความเป็นมืออาชีพ เรียกได้ว่าให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเลยก็ว่าได้
และจากวันนั้นมาจนถึงวันนี้กว่า 3 ปีที่เปิดตัวมา ถือได้ว่า “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” พร้อมแล้วสำหรับการแข่งขัน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเธอได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ซัพพลายเชน พร้อมกับลองผิดลองถูก เจออุปสรรค และลูกค้าที่หลากหลาย ทำให้รู้ว่าจะ Positioning ตัวเองในกลุ่มธุรกิจใด
“โลจิสติคส์ เป็นเกมของวอลุ่มล้วนๆ และการลดต้นทุน การบริหารต้นทุน ฉะนั้นโฟกัสตอนนี้คือการหาลูกค้าที่มีทราฟฟิกค่อนข้างเยอะ นั่นคือ ธุรกิจ B2B ที่มีสินค้าเป็นของตัวเอง อาทิ กลุ่มสินค้าทั่วไป, FMCG, ร้านค้าปลีก, โมเดิร์นเทรด รวมทั้งการนำรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้น กับกลุ่มสินค้านี้ไปส่งต่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย” วราพรรณ กล่าว
ส่วนแผนกลยุทธ์ เธอมองว่า “ไทยรัฐ โลจิสติคส์ ต้องการเป็น 3PL (Third Party Logistics) ที่ครบวงจร นั่นหมายถึงการบริหารจัดการ Supply chain การขนย้ายหรือส่งมอบสินค้า ตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ หรือ End to End มี Service ทั้งกระบวนการ ที่มีทั้งรถ คลังสินค้า ระบบ ทีม และพันธมิตร และแน่นอนการเป็นน้องใหม่คงไม่ง่าย จึงต้องลองเข้าไปเป็นหนึ่งในห่วงโซ่นั้นๆ ก่อนเป็นอันดับแรก”
ขณะที่เป้ารายได้แน่นอนว่าย่อมท้าทายอย่างมากกับการเป็นน้องใหม่ในวงการ ซึ่ง วราพรรณ ก็ไม่ได้ย่อท้อต่อจุดยืนที่วางไว้ โดยมีการตั้งเป้ารายได้ภายในปี 67 ไว้ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นการโต 200% จากปีที่ผ่านๆ มา ส่วนภายใน 3 ปี คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 500 ล้านบาท
แต่กระนั้นมันไม่ใช่จุดที่จะบอกได้ว่า อีก 10 ปีต้องมี 1,000 ล้านบาท เพราะเธอมองว่า “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ไม่ใช่สตาร์ทอัพ แต่เป็นธุรกิจกงสี เป็นธุรกิจครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือ “การบริหารต้นทุน อย่างมีกำไร” เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่ายอดอัตราการเติบโตจะอยู่ตรงจุดใด ทุกๆ ครั้งเราจะต้องเห็น “ผลประกอบการ” ที่ชัดเจน
“ด้วยเวลานี้เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องโตแบบก้าวกระโดด แต่จะต้องโตแบบยั่งยืน พร้อมกับสร้างรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานของขนส่ง ที่เป็นแบรนด์ของ “คนไทย” ให้ไปได้ทั่วประเทศ ฉะนั้น “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” จะอยู่ในเกมนี้ระยะยาวอย่างแน่นอน”
ดังนั้นคีย์สำคัญของการบริหารยอดให้ไปถึงเป้าที่มากกว่าเดิมที่เธอวางไว้ คือ Customer Service การดูแลที่จะต้องมุ่งเน้นสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และเมื่อเราสามารถรักษาลูกค้ากลุ่มเดิมได้แล้ว เราจะสามารถไปพัฒนาหาลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ และจะโตอย่างมั่นคง บวกกับการสร้างทีมที่จะเป็น People You Can Trust ให้กับทุกคนได้
และแน่นอนว่าเมื่อเป็น “น้องใหม่” ที่เข้ามาในตลาด ซึ่งมี “พี่เก่า” อยู่แล้วนั้น ย่อมท้าทายอยู่พอสมควร วราพรรณ กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้มีผู้เล่นเยอะ และมีเจ้าที่ครองตลาดเก่าแก่จำนวนมาก ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ เรียนรู้ให้เร็ว และปรับตัวให้ทัน ซึ่งการที่เราไม่ได้ฟิกซ์ว่าทุกอย่างจะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้ น่าจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้บริหารทีมได้ เพราะไม่ได้ยึดติดกับอะไร
และด้วยความจำเป็นของ “โลจิสติคส์” ที่ 80% ยังคงอยู่บนท้องถนน รวมถึงมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมโลจิสติคส์ที่สูงกว่าแสนล้านบาท ถือเป็นเม็ดเงินที่มากพอสมควร ทำให้ “เกม” นี้ยังคงมีดีมานด์สูง และธุรกิจนี้ยังคงไปต่อได้
“เราใหม่กับวงการนี้ สิ่งที่เราบอกตัวเองคือ เรามีความจริงใจกับคน เราพยายามนำสิ่งนี้มาใช้ทั้งกับพนักงาน องค์กร และลูกค้า ซึ่งจะทำให้เกิดความโปร่งใสที่เห็นได้ชัด และส่วนที่สองคือการจริงจังกับงาน นั่นคือ การไม่หยุดที่จะเรียนรู้ อย่างเช่น ในคลังมีอุปกรณ์อะไรบ้าง อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การเคลื่อนย้ายมีประสิทธิภาพ เพราะสุดท้ายเรื่องทักษะเราวางใจได้เนื่องจากเรามีทีมงานที่เก่ง แต่จะทำยังไงให้คนในองค์กรอยู่กับเราอย่างยั่งยืน การบริหารทีมและคนจึงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด”
และด้วยในเกมของธุรกิจ “การตัดราคา” ย่อมมีผลอย่างแน่นอน ซึ่ง วราพรรณ ก็มองว่า “เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีการบาลานซ์ Portfolio ให้แข็งแกร่ง ในบางเกมที่ยอดเยอะเราสู้เต็มที่ แล้วมาบริหารต้นทุนเอา แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือ การเพิ่มมูลค่าอื่นๆ จากบริการของเรา นั่นคือ การทำสื่อ การทำตลาดให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นสิ่งเดียวที่ “ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ทำให้กับลูกค้าได้โดยผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน”
ติดตามข่าวสารด้านการตลาด กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney