เปิดใจ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” จากคำดูถูก “ห้างชั้นสอง” สู่อาณาจักร Em District กลางสุขุมวิท

Business & Marketing

Executive Interviews

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

Tag

เปิดใจ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” จากคำดูถูก “ห้างชั้นสอง” สู่อาณาจักร Em District กลางสุขุมวิท

Date Time: 5 ธ.ค. 2566 16:29 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • เป็น ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในช่วงที่ผ่านมา ของการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการของศูนย์การค้า “EMSPHERE” หรือ “เอ็มสเฟียร์” จิ๊กซอว์ The EM District ของ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร เดอะ มอลล์ กรุ๊ป ผู้สะสมประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ และฝ่าฟันอุปสรรคนานา จนวันนี้เธอคือหญิงแกร่งแห่งวงการค้าปลีกไทย และเธอยังไม่หมด passion สร้างห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เป็น Game Changer เศรษฐกิจไทย

Latest


การเปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ “EMSPHERE” หรือ “เอ็มสเฟียร์” นับเป็นการสร้างปรากฏการณ์ศูนย์การค้าแห่งใหม่ย่านสุขุมวิทตอนกลาง ที่รวมร้านค้า ร้านอาหาร และร้านค้าของใช้จิปาถะ เป็นแหล่งพักผ่อนสร้างความบันเทิง และแฮงก์เอาต์คนเมือง


#ThairathMoney สัมภาษณ์พิเศษ “ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และดิ เอ็ม ดิสทริค ที่ใครๆ ต่างยกให้เธอเป็นหญิงแกร่งเป็นมาดามวงการห้างสรรพสินค้าไทย 


ชีวิตในวัย 68 ปีของคุณแอ๊ว (ศุภลักษณ์ อัมพุช) จากอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย ลาออกมาช่วยธุรกิจศูนย์การค้าของครอบครัว จากการเปิดศูนย์การค้าแห่งแรก The Mall ราชดำริ และไม่ประสบความสำเร็จ ถูกมองว่าเป็นห้างชั้น 2 แต่เธอมุ่งมั่นจริงจัง ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ 


ทำให้วันนี้ คุณแอ๊ว (ศุภลักษณ์ อัมพุช) บอกว่า การสร้างเอ็มสเฟียร์ ไม่ได้ให้เป็นเพียงศูนย์การค้า แต่จะทำทุกอย่างที่คนอื่นไม่ทำ และไม่ได้ต้องการเอาThe Em District ไปแข่งกับสยามพารากอน ซึ่งเธอถือหุ้น 50%


แต่คือการสร้างสูตรใหม่ของธุรกิจ ในวันที่ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันของการค้าออนไลน์ แต่เธอเชื่อว่ามนุษย์ยังต้องการ “ประสบการณ์” และการสร้างสินค้าบริการที่ตอบสนองความต้องการสร้างประสบการณ์คือสิ่งที่เป็นหัวใจ


พร้อมบอกถึง 3 สิ่งสำคัญของธุรกิจค้าปลีกปัจจุบัน ประกอบด้วย

  1. Socialization คุณต้องสร้างสถานที่ให้คนได้มาพบปะกัน แฮงก์เอาต์ มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งโลกออนไลน์อาจทำได้ไม่ครอบคลุม
  2. Globalization คุณต้องสร้างตลาดระดับโลก เพราะเพียงกำลังซื้อภายในประเทศไม่พอ ต้องสร้างสิ่งที่จะดึงดูดคนต่างชาติ นักท่องเที่ยวต่างประเทศให้เข้ามา
  3. Digitalization คุณต้องมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อทำให้คนได้พัฒนาคุณภาพชีวิต 


ดังนั้นในปี 2566 นี้ คุณแอ๊วจึงทำงานใหญ่พร้อมกัน 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

  1. การเปิดเอ็มสเฟียร์ ด้วยเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านบาท ต่อจิ๊กซอว์ของ ดิ เอ็ม ดิสทริค ย่านสุขุมวิทตอนกลาง โดยแกรนด์ โอเพนนิง เมื่อ 1 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้ง 3 สถานที่ในอาณาจักรเอ็ม ดิสทริค มีพื้นที่รวมกันกว่า 650,000 ตารางเมตร (เอ็ม โพเรียม 200,000 ตารางเมตร, เอ็มควอเทียร์ 250,000 ตารางเมตร และ เอ็มสเฟียร์ 200,000 ตารางเมตร)
  2. ลงทุนพลิกโฉม The Mall Lifestyle Bangkapi หรือ เดอะ มอลล์ บางกะปิ ซึ่งจะเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ธันวาคม 2566 และ The Mall Lifestyle Bangkhae หรือ เดอะ มอลล์ บางแค เปิดอย่างเป็นทางการต้นปี 2567 ด้วยเงินลงทุนรวมกว่า 10,000 ล้านบาท สำหรับปรับโฉมห้างสรรพสินค้าที่มีอายุกว่า 30 ปี ในทั้ง 2 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่รวมกัน 700,000 ตารางเมตร (เดอะ มอลล์ บางกะปิ และ เดอะ มอลล์ บางแค แห่งละ 350,000 ตารางเมตร)
  3. ลงทุนสร้างโครงการ Bangkok Mall หรือ บางกอก มอลล์ ย่านบางนา มูลค่าการลงทุน 30,000-40,000 ล้านบาท พื้นที่โครงการ 100 ไร่ พื้นที่ใช้สอยกว่า 1 ล้านตารางเมตร เพื่อเป็นทั้งศูนย์การค้าสำหรับผู้ค้าเอสเอ็มอี เป็นแหล่งรวมความบันเทิง จัดแสดงคอนเสิร์ต และการแสดงนานาชาติ ซึ่งคาดจะเปิดให้บริการราวๆ ปี 2570


ต้องมีโฟกัส แข่งในสนามที่มั่นใจว่าจะชนะ

คุณแอ๊ว เล่าย้อนว่า ทุกห้างทุกโครงการที่เธอทำ เธอต้องมีโฟกัส มันเป็นสิ่งที่ยาก ยิ่งเมื่อมองเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมนี้ เธอบอกว่าการมีโฟกัสเป็นเรื่องสำคัญ


“คู่แข่งเรา สนามเขาใหญ่มาก เราจะไปรบกับเขาเนี่ยนะ เราไปสนามเดียวกับเขาไม่ได้ เราจึงคิดว่าถ้าจะชนะ จะเล่นสนามใหญ่ที่ไม่เจ็บตัว จะไปเล่นในฟอร์มูลาวัน หรือวิมเบอร์ดัน ดังนั้น จะเห็นว่า เดอะ มอลล์ ไม่มีวอกแวกเลย ไม่ไปไฮเปอร์มาร์เก็ต เก็บพลังไว้ทำศูนย์ฯ ใหญ่ เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ในโลกนี้


“เราต้องโฟกัส ต้องดูสนามที่เราชนะได้ ถ้าชนะไม่ได้ อย่าทำดีกว่า เก็บเงินไว้ในแบงก์ดีกว่า เพราะไม่มีทางจะสู้ได้

"ส่วนตัวนี้ (เอ็มสเฟียร์) เราคิดว่ามีโอกาสจะวินได้ ถ้าไม่วิน ไม่ทำ เราอาจไม่มีปัญหา แต่ร้านค้าจะมีปัญหา ดังนั้นโครงการที่ทำ ไม่ได้รับประกันความสำเร็จ ต่อให้คุณมีทำเลดี แต่ถ้าสู้คู่แข่งไม่ได้ ก็ไม่มีความหมาย ดังนั้นการทำอะไรต้องสร้างความเชื่อมั่น ทุ่มเทสมองทุกอย่าง เพื่อให้ศูนย์การค้าที่เราทำขึ้นให้ได้ เพราะเรารับผิดชอบชีวิตผู้เช่าพื้นที่เป็นพันๆ ราย เราจึงต้องการความร่วมมือ ต้องการพันธมิตร” ศุภลักษณ์ กล่าว 


ถึงวันนี้ คุณแอ๊ว จึงให้ข้อสรุปกับการทำธุรกิจของเธอว่า มี 3 สิ่งที่ทำให้เธอและทีมงานฝ่าฟันทุกอุปสรรคการทำงาน คือ

  1. พลังความรัก ความใส่ใจ
  2. พลังความเชื่อมั่นศรัทธา
  3. พลังความสามัคคีและร่วมแรงร่วมใจกัน


และเพราะมี 3 สิ่งนี้ จึงทำให้เธอผ่านทุกด่านของธุรกิจ


บางกอก มอลล์ ภารกิจสร้างตลาดให้เอสเอ็มอีไทย


คุณแอ๊ว เล่าถึงโครงการ Bangkok Mall หรือ บางกอก มอลล์ ว่า เธอได้ที่ดินขนาด 100 ไร่ ตรงแยกบางนา โดยซื้อมาจากที่ดินของ ดร.ประสาน ภิรัช บุรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี หรือ ไบเทค และที่ดินของ คุณชนะ รุ่งแสง อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนักธุรกิจเจ้าของที่ดินหลายแห่งย่านบางนา ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อของเธอ


ส่วนโจทย์สำคัญการสร้างบางกอก มอลล์ สำหรับคุณแอ๊ว คือ จะทำอย่างไรจะช่วยร้านค้าที่เป็นเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งยิ่งกว่า Red Ocean ให้ร้านค้าเหล่านี้มีพื้นที่ค้าขายแบบ O2O (Online-to-Offline) ด้วยเป้าหมายในใจให้มีผู้ค้าเข้ามาในพื้นที่นี้ให้ได้กว่า 1 หมื่นราย


รวมถึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาใช้บริการในพื้นที่ ให้เป็นประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ ด้วยการวางตำแหน่งแห่งที่ของบางกอก มอลล์ เป็นศูนย์การค้าและความบันเทิงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่การค้า โรงภาพยนตร์ และที่สำคัญมี concert arena ความจุกว่า 16,000 ที่นั่ง ที่ร่วมมือกับ AEG (Anschutz Entertainment Group) ซึ่งเธอเชื่อมั่นว่าพื้นที่นี้ ทำให้คนทั่วโลกและทั่วเอเชียมาใช้บริการที่บางกอก มอลล์

ด้วยความมุ่งหวังสร้าง Bangkok Mall เป็นอาวุธสำคัญ เป็นตัวเปลี่ยนเกมธุรกิจค้าปลีกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)

อังศุมาลิน บุรุษ (ตุลย์)
บรรณาธิการ Thairath Money