ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับศีลธรรม (ที่จับต้องไม่ได้) และรักษาไว้ซึ่งโครงสร้างการผูกขาดในแทบทุกมิติ เหล้า เบียร์ จึงถูกแปะป้ายว่าเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามมีไว้มอมเมาประชาชน แต่ถ้าเป็นยี่ห้อแบรนด์ใหญ่กลับหาซื้อได้ทั่วไปในร้านสะดวกซื้อ ในขณะที่แบรนด์เล็กๆ ในท้องถิ่น จะเริ่มทำขายแต่ละทีต้องเจอกับข้อจำกัด ทางกฎหมายมากมาย
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยรู้สึกถึงความไม่สมเหตุสมผล และการใช้อำนาจที่โน้มเอียง แสดงว่าคุณเริ่มตื่นรู้ และเห็นความจริงเช่นเดียวกับ วิชิต ซ้ายเกล้า ขบถนักต้มเบียร์ที่เชื่อว่า “เมื่อใดก็ตามที่คนไทยพึ่งพาความเมาได้ เมื่อนั้นประเทศจะเกิดการเปลี่ยนแปลง”
วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้งแบรนด์ CHIT BEER คราฟต์เบียร์สัญชาติไทย และเป็นเจ้าของโรงเบียร์มิตรสัมพันธ์ อีกทั้งยังรับหน้าที่เป็นคุณครูสอนต้มเบียร์ที่ CHIT BEER BREWING ACADEMY ก่อนที่นโยบายการผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าจะจุดกระแสให้คนหันมาสนับสนุนสุราท้องถิ่นอย่างจริงจัง
วิชิต คือ นักสู้ผู้มาก่อนการณ์ เจ้าของแนวคิด ‘ต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ’ ที่มีเป้าหมายในการใช้เบียร์ขับเคลื่อนอุดมการณ์
“เบียร์ เหมือนเป็น hub ที่เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งเข้าด้วยกัน เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการกินดื่มของคนไทย นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการแตกขยายของความเชื่อมโยง อาจจะเรียกได้ว่าเบียร์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวของ brewer หรือที่มาของวัตถุดิบ หรืออธิบายอย่างง่ายๆ ก็คือ เบียร์สามารถเล่าเรื่องราวด้วยตัวมันเอง” วิชิต เริ่มอธิบายด้วยความหลงใหลก่อนเริ่มบทสนทนาอย่างเข้มข้น ถึงเรื่องราวการต่อสู้ ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น หากประเทศไทยสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมีมาได้
วิชิตเล่าว่า การเกิดขึ้นของ CHIT BEER เป็นไปด้วยความบังเอิญ ย้อนกลับไปในปี 2554 เป็นปีแรกที่เขาเริ่มทดลองต้มเบียร์กินเอง ด้วยการสั่งชุดเครื่องมือขนาดเล็กจากต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายที่เรียบง่าย คือ ‘ต้มเบียร์แก้เหงา’
“ตอนนั้นก็แค่อยากต้มเบียร์ให้อร่อยเพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง”
ต่อมาปลายปี 2556 มีน้องที่รู้จักขอให้สอนต้มเบียร์ จึงเกิดเป็น chit beer brewing academy ขึ้นและมีลูกศิษย์รุ่นแรก พอลูกศิษย์จบไปก็มีการไปเปิดร้านทำเบียร์เป็นของตัวเอง เกิดการแบ่งปันและส่งต่อความรู้ ทำให้ชุมชนคราฟต์เบียร์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้ต้นทุนการต้มเบียร์ในตอนนั้นจะสูงถึง 15,000 บาทก็ตาม พอมีคนไทยเริ่มนำเข้ามอลต์ และอุปกรณ์ทำเบียร์ที่เกราะเกร็ด ก็ยิ่งทำให้คนมาเรียนทำเบียร์ เกิดการทดลองและพัฒนาคุณภาพเบียร์ได้ไวขึ้น เนื่องจากต้นทุนลดลงเหลือเพียง 1,000 บาท
เมื่อผลิตเป็นแล้วก็หาทางต่อยอดที่จะขายออกไปสู่ตลาด จนเกิดการรวมกลุ่ม brewer ในไทย เพื่อลงทุนสร้างโรงผลิตเบียร์ที่เกาะกรง ประเทศกัมพูชา ทำให้ตอนนั้นกัมพูชากลายเป็น brewer oasis คนไทยจึงแห่นำเงินไปลงทุน เพื่อผลิตเบียร์เป็นของตัวเอง แล้วส่งสินค้ากลับมาขายที่ไทย โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า แต่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เนื่องจากช่วงเวลานั้น ประเทศไทยไม่อนุญาตให้ผลิตเบียร์เอง แต่ผลิตข้างนอกแล้วส่งกลับมาขายในประเทศได้
แต่เส้นทางก็ไม่ได้ง่าย เมื่อ Chit beer เริ่มเป็นที่รู้จักมาก ก็นำมาซึ่งหลากสายตาที่มาจับจ้อง ดังนั้นในปี 2557 จึงเป็นครั้งแรกที่ถูกจับในข้อหาต้มและขายเบียร์เถื่อน
และนี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้วิชิตรู้สึกว่ากฎหมายไม่เป็นธรรมสำหรับคนตัวเล็กเลย
“ตอนนั้นโดนจับและปรับครั้งแรกเป็นเงิน 10,000 บาท ก็ทำให้เกิดคำถามในใจว่าจะยืนหยัดทำคราฟต์ต่อไปหรือสมควรจะพอใจกับจุดที่เป็นอยู่ จนกระทั่งเพื่อนชาวเยอรมันชวนไปดูงานโรงเบียร์ขนาดเล็กในเยอรมนี ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่อุตสาหกรรมคราฟต์เบียร์ไทย จะเติบโตได้แบบเยอรมัน พร้อมวางแนวทางการต่อสู้ตั้งแต่ตอนนั้น เปลี่ยน message ให้ยิ่งใหญ่ จากต้มเบียร์แก้เหงา สู่เป้าหมายการต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ”
วิชิต เล่าต่อว่า ในช่วง 4 ปี แรกที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงผลิตเบียร์มิตรสัมพันธ์ ก็โดนจับมาเรื่อย ๆ จำได้เลยว่ากว่าจะตั้งได้ถูกกฎหมาย โดนจับถึง 8 ครั้ง ด้วยข้อหาเดิมๆ
อุปสรรคในการจัดตั้งโรงผลิตเบียร์ขนาดเล็กหรือบริวผับ (Brewpub) ในตอนนั้น ไม่ได้ติดปัญหาที่กฎหมายกรมสรรพสามิต แต่อยู่ที่เงื่อนไขกฎหมายการขออนุญาตจัดตั้งโรงผลิตเบียร์ของหน่วยงานรัฐ ที่ขัดแย้งกันเอง โดยการจะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงผลิตเบียร์นั้น
เริ่มแรกต้องไปติดต่อ กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ที่กำหนดเงื่อนไขให้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตเกิน 5 แรงม้า จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ซึ่งการที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะออกใบอนุญาตได้นั้น จะต้องได้รับการพิจารณาผังเมืองจากกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ที่เราจะจัดตั้งโรงผลิต
ดังนั้นการจะเปิดโรงเบียร์แบบริวผับ(Brewpub) จะต้องผ่านกระบวนการขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิต นอกจากนี้ยังต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือกำลังการผลิต 100,000-1,000,000 ลิตรต่อปี เงื่อนไขทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนของกระบวนการและข้อจำกัดที่ไม่สมเหตุสมผล สำหรับผู้ผลิตเบียร์รายย่อย และทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาคราฟต์เบียร์ไทยในระดับโลก
“ความจริงมันช้า… ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ถูกยอมรับจากผู้มีอำนาจว่าเป็นความจริง” วิชิตสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของคราฟต์เบียร์ไทยที่มีการพัฒนามาอยางต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 10 ปี แล้ว
วิชิต ให้มุมมองว่า พ.ร.บ สุราก้าวหน้า ไม่ได้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่วันนี้ พ.ร.บ ดังกล่าวจุดกระแสให้คนไทยเห็นความจริงร่วมกัน จนทำให้เกิดปรากฏการณ์อย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนถึงพลังการสนับสนุนระหว่างกันของคนตัวเล็ก
แต่มากกว่ากระแสความนิยมชั่วคราว สิ่งที่จะทำให้คราฟต์เบียร์ไทยเติบโตอย่างยั่งยืน คือต้องมีนวัตกรรมด้านภูมิปัญญา แต่ด่านแรกก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต้องแน่ใจว่าคนไทยมีพื้นที่ให้ทดลอง ยิ่งเราได้รับโอกาสในการทดลองเยอะ ก็ยิ่งมีโอกาสค้นพบสิ่งใหม่ พอนำการค้นพบสิ่งใหม่ของหลายๆ คนมารวมกันก็เกิดเป็นนวัตกรรมที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโลก สร้างการยอมรับให้กับประเทศไทย
“เพราะฉะนั้นเราต้องกลับไปดูที่ frame work ที่มันทำให้ความอยากรู้ อยากเห็นมันยั่งยืน ฝังอยู่ใน DNA ตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งว่าคนไทยมีสิทธิ์ที่จะคิด คนไทยมีสิทธิ์ที่จะใช้ศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองจนตาย จนวินาทีสุดท้าย นั่นต่างหากที่จะทำให้เรายั่งยืน”
ซึ่งหาก พ.ร.บ สุราก้าวหน้า มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายได้จริง ก็จะช่วยให้คนไทยสามารถเริ่มต้มเบียร์เองในสเกลจากเล็กไปใหญ่ได้ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดด้านต้นทุนและกำลังการผลิต ประกอบการเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำร่วมกัน จะผลักดันให้เกิดตลาดการแข่งขัน มีลูกค้ารองรับ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะเป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อถามถึงภาพความเปลี่ยนแปลงหลังปลดล็อกคราฟต์เบียร์ในอีก 20 ปี ข้างหน้า วิชิตให้มุมมองว่า เบียร์จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการดื่มกิน และเป็นเครื่องมือ soft power ที่รัฐบาล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเห็นคุณค่า และประเทศไทยจะสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการผสมผสานวัตถุดิบชั้นดีจากทั่วโลกเข้ากับวัตถุดิบเฉพาะของไทย แล้วส่งออกสินค้าที่มีเรื่องราวให้โลกได้ชื่นชม
“แต่วันนี้เราขาดอย่างเดียว คือ จินตนาการเพราะเรายังมีกรอบความเชื่อเดิมๆ เราต้องต้องการทำลายกรอบความเชื่อเก่าๆ เพื่อให้คนไทยมีอิสระกล้าคิด กล้าทำมากขึ้น”
ประเทศไทยโดยพื้นฐานแล้ว เป็นสังคมของคนตัวเล็กเราจึงต้องเปลี่ยนความคิด ใหม่ว่าประเทศนี้ขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กโดยช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของประเทศไทยที่จะเกิดการปุจฉา วิปัสสนา สังคายนาความคิดกันใหม่หมด เพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถอยู่รอดในกระแสที่โลกกำลังจะไปได้
ดังนั้นการปลดล็อกคราฟต์เบียร์จึงไม่ใช่ปลายทางของเส้นชัย แต่คือจุดเริ่มต้นของการจุดประกายให้คนไทยทั้งประเทศได้ตื่นรู้
โดยใช้เบียร์เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนไปสู่อุดมการณ์ frame work และ mindset ประกอบกับการมีพื้นที่ให้ทดลอง จะช่วยปลดปล่อยศักยภาพของ คนไทยที่มีอยู่แล้วให้มี productivity มากขึ้น สอดคล้องกับบริบทโลกในปัจจุบัน ที่ท้ายที่สุดแล้วต้องแข่งขันกันด้วย productivity