โมเดลการพัฒนาอสังหาฯ ของภาครัฐที่ตอบโจทย์ Green Building เป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญของการพัฒนาอาคารของภาครัฐ ภายใต้หัวเรือใหญ่ ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ DAD Asset Development หน่วยงานผู้นำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กับภาครัฐ ซึ่งได้ขับเคลื่อนนำพาองค์กรร่วมพัฒนาพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ และอาคารภาครัฐมุ่งสู่มาตรฐานอาคารเขียว
ความท้าทายของการพัฒนาอาคารอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่บอกว่าเราทำตามเป้าหมายของ SDG ข้อใดบ้าง...!!! แต่ความท้าทายที่แท้จริงแล้วอยู่ที่ “คุณจะพัฒนาให้ยั่งยืนได้อย่างไร?” ประเด็นสำคัญที่ ดร.นาฬิกอติภัค ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจ
เรื่องความยั่งยืน ถูกฝังอยู่ใน DNA ของบุคลากรของ DAD ในทุกด้านทั้งชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ทำให้การทำงานของทุกฝ่ายทำต่อได้ง่าย ตอบรับทั้งแนวคิด ESG และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG) ได้รอบด้าน มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอาคารเขียวโดยเฉพาะ
ยอมรับว่าปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญกับมาตรฐานอาคารเขียวมากกว่าภาครัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการพื้นที่เช่าของลูกค้าบริษัทต่างชาติที่มีนโยบายเลือกเช่าเฉพาะอาคารที่ได้รับการรับรองอาคารเขียวเท่านั้น ภาคเอกชนจึงพัฒนาอาคารเขียวขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางธุรกิจ สำหรับภาครัฐจะเน้นมาตรการส่งเสริมอาคารเขียว แต่ไม่ถึงขั้นบังคับ ทำให้อาคารเขียวของภาครัฐยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ดังนั้น ธพส. จึงเปรียบเหมือนแรงขับเคลื่อนสำคัญที่มีส่วนในการสนับสนุนสร้างอาคารเขียวของภาครัฐทั้งในปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ปี 2568 DAD ได้เริ่มต้นพัฒนาอาคารกักเก็บพลังงานไฮโดรเจนปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบและก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดใช้งานผลิตไฟฟ้าในปี 2569 นำไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้งานที่ “อาคารธนพิพัฒน์” เป็นแห่งแรก ซึ่งอาคารหลังนี้คือที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของ DAD ถูกออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน ได้มาตรฐานอาคารยั่งยืน Deutsche Gesellschaft für Nachhaltiges Bauen หรือ DGNB ระดับสูงสุด Platinum จากสภาอาคารยั่งยืน ประเทศเยอรมนี ปัจจุบันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บางส่วน และมีเป้าหมายจะปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนให้เต็ม 100% ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนมาวิเคราะห์ศึกษาความคุ้มค่าได้ในปี 2570 ตั้งเป้าหมาย “อาคารธนพิพัฒน์” เป็นอาคารต้นแบบ Net Zero Building พร้อมขยายไปสู่การพัฒนาอาคารอื่นๆ ทั้งในพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ และโครงการก่อสร้างอาคารในอนาคตของ DAD ในฐานะที่ DAD เป็นหน่วยงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ จึงมีทิศทางที่จะพัฒนาอาคารกักเก็บพลังงานสะอาดให้เป็นหนึ่งในอาคารต้นแบบที่แสดงถึงเทคโนโลยีใหม่ และจะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ลงทุน และทดลองใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อแสดงถึงความน่าสนใจกับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก เพื่อรองรับหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อเปิดโอกาสสู่การพัฒนาอาคารภาครัฐแห่งใหม่ในอนาคต
งานด้านความยั่งยืน DAD ได้ทำให้เห็นมาตลอด เพราะเป็น DNA ของบุคลากรในองค์กร ตั้งแต่ SDG7 เรื่องพลังงานสะอาด ทั้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในอาคาร A, B และ C และเป็นที่มาของโครงการอาคารกักเก็บพลังงานไฮโดรเจน เพื่อชี้ให้เห็นว่า DAD เราทำอะไรไปบ้าง และทำอย่างไร ซึ่งดูท้าทายกว่า
สำหรับ SDG 9 เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ สะท้อนผ่านอาคารที่ DAD สร้างทั้งอาคาร A, B และ C รวมไปถึงอาคารที่ DAD เข้าไปดูแล ซึ่งอาคารทั้งหมดได้รับมาตรฐานอาคารเขียว และจะทำต่อไปในอนาคต ด้าน SDG 11 ธพส. ให้ความสำคัญกับชุมชนโดยรอบ ที่รับผลกระทบในเชิงบวกและเชิงลบ ทั้งเรื่องการจราจรติดขัด, ฝุ่น หรือเสียงที่รบกวน DAD จึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วยการพัฒนาพื้นที่สวน 40 ไร่ เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาใช้งานได้อย่างอิสระ และปลอดภัยด้วยระบบกล้องวงจรปิด พัฒนาทักษะวิชาชีพงานช่างให้แก่คนในชุมชน เช่น ช่างตัดผม ตัดเสื้อผ้า และช่างซ่อม เพื่อนำความรู้ไปหางานสร้างรายได้
SDG 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน คืออีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาภายในพื้นที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ ที่เน้นส่งเสริมใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น การจัดการน้ำเสียบำบัดน้ำนำกลับมาใช้ในโถสุขภัณฑ์ห้องน้ำ, รดน้ำต้นไม้, ล้างพื้น, รวมถึงจัดการน้ำฝนเพื่อนำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี การจัดการขยะ ที่นอกจากการคัดแยกขยะและทิ้งให้เหมาะสม ยังได้เข้าร่วมโครงการ "ส่งขยะกำพร้ากลับบ้าน"
DAD ยังได้จัดทำโครงการขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหาร โดยนำเศษผักผลไม้ กากกาแฟ จากศูนย์อาหาร ร้านค้า ร้านเครื่องดื่ม จากทุกอาคารในศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ปริมาณ 600 กิโลกรัม/วัน นำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วยเครื่องกำจัดเศษอาหารตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 จึงเห็นได้ว่ากิจกรรมของ DAD มีหลายๆ กิจกรรมสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ BCG Model นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG 13 โดยกำหนดเป็น KPI ให้บุคลากรของ ธพส. ทุกคน ที่มีตัวชี้วัด eco efficiency ถึง 3 ปีต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นการทำงานและเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนอีกด้วย