นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การกำกับดูแลการให้บริการขนส่งให้สอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ถือเป็นนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม โดยล่าสุดได้ทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในการออกประกาศควบคุมแพลตฟอร์มขนส่งหรือ Ride Hailing ให้ต้องมาจดทะเบียนภายใต้กฎหมาย เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ไม่ยินยอมมาลงทะเบียน
ด้านนายศิวภูมิ เลิศสรรค์ศรัญย์ รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจบริการด้านออนดีมานด์ ไลน์แมน วงใน (LINE MAN Wongnai) กล่าวว่า หลังจากบริการไลน์แมนไรด์ (LINE MAN RIDE) ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกรมการขนส่งทางบกในช่วงต้นปี 2567 ทำให้สามารถให้บริการหลากหลาย ตั้งแต่ ไลน์แมนอีโค ไลน์แมนไบค์ ไลน์แมนแท็กซี่ และไลน์แมนคาร์ ซึ่งเป็นรถส่วนบุคคล ทำให้มีการเติบโตถึง 60%
“ในตลาดส่งอาหารหรือฟู้ดดิลิเวอรี ไลน์แมนถือเป็นเจ้าตลาด แต่สำหรับบริการแพลตฟอร์มขนส่ง เรายังเป็นหน้าใหม่ แต่ถือว่ามีจุดแข็ง เนื่องจากมีผู้ใช้งานบนแอปพลิเคชันสม่ำเสมอกว่าเดือนละ 10 ล้านคน รวมทั้งจุดขายที่วางไว้ที่ “ราคาถูก ปลอดภัย” เพราะคนขับของไลน์แมนจะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมก่อน รวมทั้งมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ (Trip Tracking) และประกันครอบคลุมทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร โดยหากคู่แข่งสามารถบุกตลาดนักท่องเที่ยวได้เข้มแข็งกว่าในขณะนี้ ไลน์แมนก็จะขอบุกตลาดผู้โดยสารไทยเป็นหลักก่อน โดยเฉพาะการนำเสนอบริการที่มีราคาคุ้มค่า สมเหตุสมผล ซึ่งเชื่อว่าจะโดนใจคนไทยแน่”