นี่คือแบรนด์คราฟต์ไอศกรีมคนไทยเจ้าแรกๆ ที่เป็นแบบอย่างและเปิดทางให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ให้ออกมาปั้นแบรนด์ไอศกรีมของตนเอง ด้วยไอเดียการขายไอศกรีมที่ฉีกกรอบเดิมๆ ทั้งการคิดค้นรสชาติ และการนำเสนอตัวเอง ทำให้แบรนด์สามารถขายไอศกรีมสกู๊ปราคาเหยียบร้อย โดดเด่นกว่าใครในท้องตลาด จนเรียกได้ว่าปัจจุบันสายไอศกรีมไม่มีใครไม่รู้จัก
กัสส์ แดมน์ กู๊ด ‘Guss Damn Good’ ร้านไอศกรีมแบรนด์ไทยที่นอกจากจะตกหลายๆ คนด้วยรสชาติไอศกรีมสุดจึ้งที่มีให้ทานแค่ร้านนี้เท่านั้นแล้ว ยังตกแบรนด์ไทยแบรนด์ต่างประเทศจำนวนมากที่สนใจอยากให้ Guss Damn Good ทำไอศกรีมรสชาติของตนเองให้อีกด้วย
Thairath Money คอลัมน์ BrandStory ครั้งนี้ชวนรู้จักแนวคิดเบื้องหลังสุดประณีตในการทำให้เรื่องเล่ากลายเป็นไอศกรีมของ Guss Damn Good ที่ทำให้ทุกคนอยากให้แบรนด์กลายเป็น ‘นักทำไอศกรีม’ ที่ไม่ว่าแบรนด์ไหนก็อยากร่วมคอลแล็บ
สำหรับใครที่อาจจะยังไม่รู้จัก Guss Damn Good ไม่เป็นไรค่ะ เรามาทำความรู้จักกับร้านไอศกรีมสุดคราฟต์ไอเดียเก๋กันก่อน และเพื่อพิสูจน์ชื่อเสียงความอร่อยด้วยตัวเองก็สามารถไปลิ้มรสเนื้อไอศกรีมเหนียวหนึบนุ่มลิ้นเหมือนอิมพอร์ตจากบอสตันได้เองตามความสะดวก
Guss Damn Good เกิดขึ้นจากไอเดียของ ‘ระริน ธรรมวัฒนะ’ และ ‘นที จรัสสุริยค์’ สองผู้ร่วมก่อตั้งที่ผันตัวสู่เจ้าของธุรกิจร้านไอศกรีม แม้จะไม่เคยทำไอศกรีมมาก่อน (ปัจจุบันร้านมีหุ้นส่วนอีก 3 คน คือ สวิตา นาคะชัย, พัฒจิรา สีมานนทปริญญา และ ทัตพงค์ วุฒิหิรัญปรีดา)
ทุกอย่างเริ่มต้นจากแรงบันดาลใจระหว่างเรียนปริญญาโทที่บอสตัน สหรัฐอเมริกา ทั้งสองสังเกตเห็นความพิเศษของร้านไอศกรีมในละแวกนั้น ที่แม้จะอากาศหนาวแต่ผู้คนกลับใส่โค้ตออกมาต่อคิวยาวเหยียดเพื่อซื้อไอศกรีม แม้จะหิมะตกแต่คนบอสตันออกมาแฮงก์เอาต์กันเต็มร้านไอศกรีม
พวกเขาพบว่าคนบอสตันทานไอศกรีมเพื่อระลึกถึงช่วงเวลาพักผ่อนของวันหยุดในช่วงฤดูร้อน แล้วถ้าเป็นเหตุการณ์อื่นล่ะ ไอศกรีมทำให้เราคิดถึงช่วงเวลาไหนได้อีกบ้าง?
ความชื่นชอบในการทานไอศกรีมอยู่แล้ว ทำให้พวกเขาหลงใหลเสน่ห์ของชาวบอสตัน ที่ทำให้ไอศกรีมเป็นมากกว่าร้านขนม โดยไอศกรีมคือสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คน และร้านก็ทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการรวมตัวของคนจากหลายคอมมูนิตี้
หลังจากเรียนจบ ทั้งสองกลับมาที่ประเทศก็เริ่มต้นทำปั้นธุรกิจไอศกรีมอย่างจริงจัง และเปิดตัวครั้งแรกในปี 2557 โดยนำเอาวัฒนธรรมการทานไอศกรีมของคนบอสตัน บวกกับความรู้ที่ได้บรรดาเจ้าของร้านไอศกรีมในบอสตัน สไตล์ และรสสัมผัสแบบบอสตันแท้ๆ กลับมาเปิดร้านไอศกรีมแบบฉบับ Guss Damn Good ที่ยังไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย
นอกจากวัตถุดิบหลักในการทำไอศกรีม Guss Damn Good ยังเก่งในเรื่องดีไซน์รสชาติ การผสมผสานวัตถุดิบอื่นๆ ที่ตีความจากความรู้สึก ชนิดที่ว่าเรื่องราวต่างๆ ถูกชั่งตวงวัดเสมือนเป็นวัตถุดิบสำคัญของไอศกรีม Guss Damn Good ผ่านการคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วน ก่อนแปลงมาเป็นรสชาติแปลกใหม่ และท่ีสำคัญยังอร่อยไม่ซ้ำใครอีกด้วย
“Don’t Give up #18 ไอศกรีมนมสด ที่มีแรงบันดาลใจจากเรื่องราวการฝ่าฟันธุรกิจในช่วงเริ่มต้น ทั้งสองใช้เวลาไปกับการกวนไอศกรีมด้วยตัวเอง เวลาส่วนใหญ่คือการคิดค้นสูตร ตระเวนซื้อนมและครีมที่มีในท้องตลาดจนกระทั่งได้สูตรที่ลงตัว โดยเลข 18 คือครั้งที่ 18 ที่ได้สูตรใกล้เคียงกับที่ต้องการมากที่สุด”
“Why Can’t Coffee Be White? ไอศกรีมกาแฟรสแรกของแบรนด์ ที่หลังจากคิดค้นสูตรและทดลองทำแล้วสูตรที่ได้ออกมารสชาติและกลิ่นคือกาแฟโดยสมบูรณ์ แต่ตัวไอศกรีมกลับมีสีขาว จึงนำไปสู่การตั้งคำถามเล่นๆ ว่า ทำไมกาแฟจะเป็นสีขาวไม่ได้”
“Make A Toast ไอศกรีมสตรอว์เบอร์รีเชอร์เบตที่มีส่วนผสมของแชมเปญ ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากคู่แต่งงานใหม่ และบรรยากาศการเฉลิมฉลอง การเปิดแชมเปญและความรู้สึกร่วมยินดี ที่ทำให้เราหวนคิดถึงช่วงเวลาดีๆ ในทุกๆ งานเฉลิมฉลอง”
Story to Flavor กลายมาเป็นจุดขายสำคัญของแบรนด์ แทนที่จะแปะป้ายบอกว่านี่คือรสชาติวานิลลา ช็อกโกแลต หรือรัมเรซิน แบบเดิมๆ Guss Damn Good สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านการบอกเล่ารสชาติที่เต็มไปด้วยความรู้สึก การตั้งชื่อรสชาติจากชื่อสถานที่ การเล่นคำ หรือวลีที่เราคุ้นหู จากหลายๆ เหตุการณ์สามารถเชื่อมโยงกับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ความสนุกที่ได้จากชิมรสชาติอันหลากหลายที่หน้าร้าน ยังทำให้ Guss Damn Good สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ในการต่อคิวซื้อไอศกรีมที่ติดอยู่ในใจลูกค้า จนแบรนด์มีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น และมากไปกว่านั้นหลายคนยังนำ ไอศกรีมของ Guss Damn Good มอบเป็นของขวัญของฝากวันสำคัญๆ เพื่อบ่งบอกแทนความรู้สึก สะท้อนให้เห็นว่าแบรนด์ทำถึงสุดๆ
จากกระบวนการทำให้เรื่องราว ช่วงเวลา หรือเหตุการณ์สำคัญของผู้คนกลายเป็นรสชาตินี้เอง ทำให้ Guss Damn Good คิดค้นสูตรใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา นอกจากรสชาติซิกเนเจอร์ก็ยังมีรสชาติที่ทำออกมาตามเทศกาล รวมถึงรสชาติที่เกิดการ Collaboration กับแบรนด์ ศิลปิน ไปจนถึงองค์กรธุรกิจ รวมแล้วนับไม่ถ้วน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Guss Damn Good ทำให้ไอศกรีมกลายเป็นสื่อกลางในการสื่อสารกับผู้คน และด้วยความที่ ไอศกรีมเป็น Happy Product หรือขนมหวานที่ทำให้คนทานสดชื่นรู้สึกดีอยู่แล้ว ทำให้ความตั้งใจ ความกล้าในการคิดนอกกรอบของแบรนด์ประสบความสำเร็จ ซึ่งนั่นยังทำให้แบรนด์ธุรกิจจำนวนมากเห็นโอกาสในการสื่อสารผ่านไอศกรีม และเข้ามาคอลแล็บกับ Guss Damn Good เพื่อมอบความรู้สึกดีๆ ผ่านไอศกรีมไปสู่ลูกค้าของพวกเขา จนเราเริ่มเห็นเทรนด์ใช้ไอศกรีมทำ Marketing เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง
ตลอดสิบปีทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาเป็นลูกค้าของ Guss Damn Good ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง แฟชั่น ธนาคาร สถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์ พลังงาน รีเทล สถาบันการศึกษา รวมถึงศิลปินหลากหลายวงการ ปัจจุบัน Guss Damn Good มีไอศกรีมมากกว่า 130 รสชาติ โดยครึ่งหนึ่งของรสชาติเหล่านั้นเป็นรสชาติที่ออกแบบให้กับแบรนด์ต่างๆ
โดยล่าสุดแบรนด์ก็ได้เปิดตัวโปรเจกต์ที่สร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง ด้วยการจับมือกับ 9 แบรนด์ไทยที่ทุกคนคุ้นเคยอย่าง ส.ขอนแก่น แม่ประนอม ยาอมตะขาบห้าตัว ซอสภูเขาทอง บาร์บีคิวพลาซ่า มาม่า โรซ่า จอลลี่แบร์ และ คุกกี้อาร์เซนอล ทำไอศกรีม 9 รสชาติ โดยหยิบจับผลิตภัณฑ์ชื่อดังของแต่ละแบรนด์มาเป็นไอเดีย
ตัวอย่าง Noodle Crumble with Lime Juice ครัมเบิลเส้นมาม่ารสต้มยำ ซอร์เบต์มะนาวแป้น Sauce with Honey Molasses ซอสบาร์บีคิวพลาซ่า น้ำผึ้ง โมลาส หรือจะเป็น Roza Tomato with Strawberry มะเขือเทศโรซ่า สตรอว์เบอร์รี สำหรับใครที่ไปลองมาแล้ว ชอบรสชาติไหนก็คอมเมนต์บอกกันหน่อยนะคะ
อ้างอิง Guss Damn Good, Readthecloud , BrandAge
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney