ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าวว่า ความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastics) เกิดขึ้นภายหลังการบริโภคประมาณ 2.76 ล้านตัน ด้วยเหตุนี้ LINE MAN Wongnai ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งขับเคลื่อนแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ผ่านเทคโนโลยี และแพลตฟอร์มที่เข้าถึงผู้ใช้และร้านค้าจำนวนมาก เพื่อร่วมกันลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
หลังจากเปิดใช้ฟีเจอร์ "ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก" มาได้ระยะหนึ่ง ล่าสุดเราได้พัฒนาฟีเจอร์ตัวเลือก "ไม่รับเครื่องปรุง" บนแอป LINE MAN ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการกินของคนไทยที่นิยมปรุงอาหารด้วยน้ำปลา น้ำตาล น้ำจิ้ม และซอสต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้ที่ไม่ต้องการเครื่องปรุงสามารถแจ้งร้านได้โดยตรง ช่วยลดขยะพลาสติกจากซองเครื่องปรุงลงได้มาก
หลังจากปล่อยฟีเจอร์นี้เป็นเวลา 2 เดือน มีผู้ใช้กดเลือกไม่รับเครื่องปรุงรวมกว่า 20 ล้านซอง เมนูก๋วยเตี๋ยวเป็นเมนูที่ผู้ใช้เลือกไม่รับเครื่องปรุงสูงที่สุด คาดว่าจะช่วยลดขยะพลาสติกที่เกิดจากฟู้ดเดลิเวอรี่ (ช้อนส้อมพลาสติกและซองเครื่องปรุง) และขยะอาหารในซองเครื่องปรุงรวมกันกว่า 350 ตันต่อเดือน หรือเท่ากับ 4,200 ตันต่อปี
นอกจากแนวทางการลดขยะจากผู้สั่งอาหารแล้ว LINE MAN Wongnai ยังมีโครงการภาชนะรักษ์โลกร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ Doozy Online, Dezpax, gracz และ aro ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ Green Packaging เพื่อสนับสนุนร้านค้าให้เปลี่ยนจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ ในช่วง 3 เดือนที่ ผ่านมามีร้านอาหารเข้าร่วมแล้วกว่า 1,300 ร้าน ร้านเหล่านี้จะได้สัญลักษณ์ “ภาชนะรักษ์โลก” บนแอป LINE MAN เพื่อบ่งบอกให้ผู้ใช้ที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้รับรู้
บริษัทยังมีความร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ภายใต้โครงการ Plastic ACTion (PACT), Plastic Smart Cities - TVA ลงพื้นที่สร้างความตระหนักรู้เรื่องการลดการใช้พลาสติกแก่ร้านอาหารใน 4 พื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี และเกาะสมุย โดยภายในสิ้นปี 2567 LINE MAN Wongnai ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้านอาหารรักษ์โลกที่เพิ่มตัวเลือกไม่รับเครื่องปรุง หรือใช้ภาชนะรักษ์โลกรวมเป็น 100,000 ร้านทั่วประเทศ
ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษมีแนวทางการจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่ต้นทาง โดยการมุ่งเน้นให้ผู้ผลิตสินค้าออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้หมด (Eco-design) และมีการใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กลางทาง มุ่งเน้นให้ผู้จำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ รวมถึงประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้บรรจุภัณฑ์เท่าที่จำเป็น ลดหรืองดการให้/การใช้ที่ฟุ่มเฟือย หรือไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ถุงหูหิ้ว หลอด ช้อมส้อมพลาสติก กล่องโฟม รวมถึงซองเครื่องปรุง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน ทำให้ขยะรีไซเคิลไม่เข้าสู่ระบบ จึงทำให้ขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งเหล่านี้ตกค้างในสถานที่ฝังกลบขยะมูลฝอยจำนวนมาก และย่อยสลายได้ช้า รวมทั้งอาจแตกตัวเป็นไมโครพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น ประชาชนควรมีการลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะอาหาร เพื่อลดปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดที่ปลายทาง และเพิ่มศักยภาพในการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งง่ายต่อการจัดการ เพราะฉะนั้นการที่แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่คิดค้นฟีเจอร์ไม่รับช้อนส้อมพลาสติกและซองเครื่องปรุง ถือเป็นการร่วมด้วยช่วยกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจำนวนมาก รวมถึงการสนับสนุนให้ร้านอาหารใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีเป็นลูกโซ่ไปถึงผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้นทางในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่คุณภาพดีและราคาที่เข้าถึงได้ยิ่งขึ้น
สรชา พวงพัฒน์ หรือ พี่กุ้ง เจ้าของร้านผัดไทยร้อยห้ากุ้งเต้น หนึ่งในร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนออเดอร์ของลูกค้า LINE MAN ประมาณ 30% ที่กดเลือกไม่รับเครื่องปรุงและไม่รับช้อนส้อมพลาสติก โดยหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ร้านใช้มัดใจลูกค้า นอกจากเลือกใช้ของดี ตั้งแต่วัตถุดิบคุณภาพที่สดใหม่แล้ว คือการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างกระดาษและใบตองแทนการใช้พลาสติกก็เป็นหนึ่งปัจจัยหลักสำคัญที่เราทำมาอย่างยาวนานกว่า 6 ปี เนื่องจากเราคำนึงถึงความปลอดภัยไม่มีสารตกค้างกับผู้รับประทาน และย่อยสลายง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังช่วยสร้างคุณค่าที่แตกต่างให้กับร้านอีกด้วย