เส้นทาง 170 ปี Louis Vuitton แบรนด์ทรงอิทธิพลโลก ผู้ฉีกนิยามแบรนด์หรูให้เข้ากับยุคสมัยด้วยนวัตกรรม

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เส้นทาง 170 ปี Louis Vuitton แบรนด์ทรงอิทธิพลโลก ผู้ฉีกนิยามแบรนด์หรูให้เข้ากับยุคสมัยด้วยนวัตกรรม

Date Time: 23 มี.ค. 2567 15:48 น.

Video

บิทคอยน์ VS เงินในกระเป๋าเกี่ยวกันยังไง ? | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money คอลัมน์ BrandStory หยิบยกเรื่องราวของ ‘Louis Vuitton’ (หลุยส์ วิตตอง) หนึ่งในแบรนด์ทรงอิทธิพลระดับโลกที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘หีบเดินทาง’ สู่การเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมแฟชั่นแบรนด์ที่ครองใจคนทั่วโลกมาอย่างยาวนานกว่า 170 ปี เส้นทางการเติบโตที่มากกว่าความลักชูรี่ แต่เต็มไปด้วยการคิดค้นนวัตกรรมและการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยแบบที่ใครก็ทำไม่ได้!

Latest


หากพูดถึงหนึ่งในแบรนด์เนมระดับโลก แน่นอนว่า ‘Louis Vuitton’ ต้องติดอันดับต้นๆ ของลิสต์ในใจใครหลายคน สำหรับสาวกแบรนด์นอกเหนือจากมูลค่าสินค้าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ย่อมรู้ดีว่าเสน่ห์ของแบรนด์หรูเจ้านี้ไม่ใช่เพียงแฟชั่นที่ให้ความหรูหราประณีต แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวการเติบโตที่ล้อไปกับประวัติศาสตร์ อิทธิพลงานออกแบบของเหล่าดีไซเนอร์และครีเอททีฟไดเร็กเตอร์ผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์

การร่วมมือกันของศิลปินที่เชื่อมโยงรอยต่อยุคต่อยุค ทำให้ Louis Vuitton ไม่เคยล้าสมัย แต่กลับยืนหนึ่งครองอาณาจักรแฟชั่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ... 

จุดเริ่มต้น ธุรกิจหีบรุ่นสู่รุ่น

ย้อนกลับไปราวช่วงกลางของการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่การขนส่งเริ่มเฟื่องฟู เพราะวิวัฒนาการของเครื่องจักรสมัยใหม่ กลุ่มคนที่มีฐานะในยุโรปเริ่มสัญจรเดินทางระหว่างเมืองอย่างคับคั่ง มองซิเออร์ หลุยส์ วิตตอง มัลติเยร์ (Louis Vuitton Malletier) ผู้ให้กำเนิดแบรนด์ที่ขณะนั้นเป็นลูกจ้างของโรงงานทำหีบและบรรจุภัณฑ์ชั้นสูงในปารีสมานานกว่า 17 ปี เห็นถึงโอกาสในการทำธุรกิจของตนเอง จึงเริ่มต้นคิดค้น ‘Louis Vuitton Trunk’ หีบไม้เก็บของสำหรับการเดินทางที่ปฏิวัติวงการการเดินทางด้วย 'ทรังก์รูปทรงเหลี่ยมตัด' Flat Top Trunk ที่มีฝาปิดด้านบนแบนเรียบและเปิดตัวครั้งแรกในปี 1854

หีบไม้ยุคแรกจะมีฝาปิดทรงโดมที่ออกแบบมาเพื่อให้น้ำฝนไหลตกอย่างสะดวก มีขนาดที่ใหญ่เหมาะกับการเดินทางที่ต้องใช้เวลานานอย่างการเดิน เช่น การเดินทางด้วยเรือ หรือบางคนอาจหยุดพักที่จุดหมายปลายทางเป็นเวลาหนึ่ง

เรียกได้ว่า หีบของ Louis Vuitton ถูกคิดให้เข้ากับพาหนะและการขนย้าย เพื่อให้ตอบโจทย์รูปแบบการเดินทางของผู้คนทั้งรถม้า รถไฟ รถยนต์ในสมัยนั้น 

จนกระทั่งต่อมาธุรกิจหีบของ Louis Vuitton เริ่มได้รับความนิยมจากลูกค้าชนชั้นสูงและลูกค้าต่างชาติที่ต้องสัญจรไปมาในกรุงปารีส เขาจึงเริ่มต้นเปิดโรงงานแห่งแรกในเมือง Asnière ที่นับเป็นจุดยุทธศาสตร์แรกๆ ในการขยายธุรกิจหีบเก็บของ และทำให้จุดเริ่มต้นการรังสรรค์นวัตกรรมกระเป๋าเดินทางอย่างไม่ขาดสาย

ขณะนั้นนวัตกรรมของ Louis Vuitton โด่งดังสุดขีด ได้รับการยอมรับจากกษัตริย์ฝรั่งเศสให้เป็นผู้ผลิตหีบส่วนพระองค์ ชื่อเสียงของเขาแพร่หลายทั่วราชวงศ์ชั้นสูงและกษัตริย์ทั่วภูมิภาค

Louis Vuitton นำเสนอหีบเก็บของที่มีนวัตกรรมการล็อกเฉพาะตัว พร้อมด้วยคุณสมบัติพิเศษด้านอื่นๆ อย่างหีบที่เปิดออกมาเป็นเตียงสำหรับนักสำรวจ ‘Pierre Savorgnan de Brazza’ รวมถึงการนำผ้าใบแคนวาสสีเทา และมาหุ้มด้านนอกก่อนจะพัฒนาลวดลายเพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ ดังที่เราเห็นบนกระเป๋าหลายรุ่นในปัจจุบัน อย่างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่พัฒนาและเปิดตัวโดย จอร์จ วิตตอง (Georges Vuitton) ลูกชายที่เข้ารับช่วงต่อธุรกิจในยุคต่อมา ได้แก่ ลวดลายดามีเย่ร์ (Damier canvas) ตารางหมากรุกสีน้ำตาล และ ลาย Monogram ที่หยิบตัวอักษรย่อชื่อ ‘LV’ มาใช้เพื่อรำลึกถึงพ่อตนเองและได้กลายเป็นลายเซ็นสุดอมตะของแบรนด์ Louis Vuitton นั่นเอง

โดยหลังจากโชว์นวัตกรรมในงานแสดงสินค้าระดับโลก ‘Exposition Universelle’ Louis Vuitton เริ่มได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ เริ่มเปิดหน้าร้านในลอนดอนและสหรัฐอเมริกาที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ตลอดจนหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย 

การบรรจบกันของ Louis Vuitton และ ‘การเดินทาง’ 

กระทั่งปี 1897 ธุรกิจถูกส่งต่อให้กับหลานชาย กัสตง หลุยส์ วิตตอง (Gaston-Louis Vuitton) ที่ได้ผสมผสานวิสัยทัศน์ในฐานะศิลปิน นักเดินทาง และนักสะสมตัวยง ผู้ชื่นชอบการรวบรวมของเก่าและของที่ระลึกเกี่ยวกับการเดินทาง ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อการออกแบบของเฮาส์ในขณะนั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขาเริ่มทำนวัตกรรมกระเป๋ารูปทรงต่างๆ ที่มีประโยชน์ใช้สอยแต่ยังความสวยงาม เข้ากับรูปแบบการเดินทางในขณะนั้นที่การเดินทางด้วยเครื่องบินเริ่มเกิดขึ้น เช่น กระเป๋ารุ่น Alma กระเป๋ารุ่นขนมจีบ Noè ที่สามารถใส่ขวดไวน์แชมเปญได้ หรือกระเป๋ารุ่น Keepall ต้นแบบรุ่น Speedy หนึ่งในกระเป๋าเดินทางน้ำหนักเบาชิ้นแรกๆ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของกระเป๋าเดินทางยุคใหม่ในขณะนั้น เป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดของ Louis Vuitton 

เรียกได้ว่าในยุคนี้ได้ทำลายกรอบทุกขีดจำกัดของ Louis Vuitton กลายเป็นธุรกิจที่ครอบคลุมหลากหลายผลิตภัณฑ์สำหรับชีวิตประจำวันของลูกค้าได้อย่างเต็มตัว ซึ่งรวมไปถึงการเติบโตของวิถีไลฟ์สไตล์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น

ซึ่งหลังจากกัสตองเสียชีวิต อองรี เรอคามีเย่ร์ (Henry Racamier) ลูกเขยของตระกูลเข้ามาบริหารและเปลี่ยน Louis Vuitton จากธุรกิจครอบครัวที่บริหารเองสู่ร้านค้าปลีกที่กระจายอยู่ทั่วโลก เขาพา Louis Vuitton เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ และตัดสินใจผนึกกิจการเข้ากับ ‘โมเอต์แอนด์ชันด็อน’ ผู้ผลิตแชมเปญ และ ‘เฮนเนสซี่’ ผู้ผลิตคอนญักยักษ์ใหญ่ระดับโลกในปี 1987 รวมเป็น ‘โมเอต์เฮนเนสซี่’ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “LVMH” ที่ปัจจุบันกลายเป็นเครือบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ครองธุรกิจสินค้าหรูหราระดับไฮเอนด์จำนวนมากในเครือกว่า 75 แบรนด์ ทั้งแบรนด์แฟชั่น เครื่องสำอาง น้ำหอม อัญมณี ไวน์ สุรา 

การขยายอาณาจักรภายใต้ Moët Hennessy Louis Vuitton

เรียกได้ว่าหลังจากนั้น LVMH ขยายเครือข่ายสินค้าบริการของ Louis Vuitton ให้ใหญ่โตขึ้นทั่วโลกจนปัจจุบัน LVMH (Louis Vuitton Moet Hennessy) ขึ้นแท่นธุรกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดย Louis Vuitton ยังคงเป็นแบรนด์หรูที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกเป็นปีที่ 18 ติดต่อกัน โดยในปี 2023 มูลค่าแบรนด์อยู่ที่ 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.5 ล้านล้านบาท  

ยุคนี้เรียกว่าเป็น การสร้างภาพใหม่ให้กับแบรนด์ยุโรปสุดคลาสสิกให้ร่วมสมัยเข้ากับยุคได้อย่างน่าสนใจ โดยในระยะแรก อีฟ กาเซล (Yves Carcelle) ผู้บริหารคนแรกที่เข้ามาดูแลช่วงเปลี่ยนผ่าน เขาคือหนึ่งในผู้สานต่อ กลยุทธ์การ ‘Collaboration’ หรือแนวคิดธุรกิจการร่วมมือข้ามแบรนด์ ท่าไม้ตายที่ได้กลายเป็นดีเอ็นเออันโดดเด่นของแบรนด์ ซึ่งนับเป็นการต่อยอดนอกเหนือจากการคิดค้นนวัตกรรมกระเป๋าอันคาดไม่ถึงยุคต่อยุคของครอบครัววิตตองอย่างโปรเจ็คแรกๆ เขาได้ชวนดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียงมาร่วมกันออกแบบกระเป๋าทรงแปลกใหม่ในวาระครบ 100 ปี ซึ่งนับเป็นเรื่องใหม่ในวงการและยังสร้างอิมแพกต์อย่างมาก

ผู้ฉีกนิยามแบรนด์หรู ด้วย 'พลังแห่งการคอลแลบส์' 

ซึ่งหากกล่าวถึง 'พลังแห่งการคอลแลบส์' ของ Louis Vuittonและศิลปินต่างๆ เริ่มต้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา จากในยุคของ กัสตง หลุยส์ วิตตอง ที่ได้ริเริ่มให้ศิลปินที่มาร่วมรังสรรค์คอลเลกชัน 'Editions d’art' ตั้งแต่แปรง ขวดน้ำหอม และชิ้นงานอื่นๆ ซึ่งนับจากนั้นเป็นต้นมา Louis Vuitton ก็ได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเหล่าศิลปิน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลลัพธ์ใหม่ๆ ตลอดจนตีความเรื่องราวบทใหม่ของคำว่าแฟชั่นหรือลักชัวรี่แบรนด์

กระทั่งอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี 1997 ที่ทำให้แบรนด์เป็นมากกว่าธุรกิจกระเป๋าและเครื่องหนังหลังจากนั้น หลังจาก LVMH ตัดสินใจว่าจ้าง มาร์ค จาค็อบ (Marc Jacobs) ดีไซเนอร์ชื่อดังให้มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ (Creative Director) คนแรกที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบเสื้อผ้าผู้หญิงและผู้ชายของแบรนด์ Louis Vuitton คอลเลกชันแรก 

เรียกได้ว่าเขาผสมผสานงานฝีมือแบบดั้งเดิมเข้ากับเทรนด์ร่วมสมัยได้อย่างพิถีพิถัน วางรากฐานบทใหม่ของ Louis Vuitton บนเวทีแฟชั่นโชว์ได้อย่างงดงาม แถมยังต่อยอดการคอลแลบส์ ไม่วาจะดีไซเนอร์สมัยใหม่หรือศิลปินในโลก Art World ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับวงการจนกลายเป็นดีเอ็นเอหลักของ Louis Vuitton ในยุคต่อมา

ยกตัวอย่างครั้งที่ มาร์ค จาค็อบ ได้เชื้อเชิญให้ สตีเฟ่น สเปราส์ (Stephen Sprouse) มาร่วมสร้างสรรค์งานกราฟฟิตีของเขาลงบนผืนแคนวาสลวดลายโมโนแกรมแบบดั้งเดิม ซึ่งคอลเล็กชั่นนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่จดจําสูงสุดในประวัติศาสตร์วงการแฟชั่น รวมทั้งเบิกทางให้ศิลปินอื่นๆเข้ามาสร้างสรรค์แคนวาสไอคอนิกรูปแบบใหม่ๆ อย่างลายแคนวาส Monogram Multicolore ของ ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) หรือโลโก้สีขาวของ Supreme บนกระเป๋า Keepall สีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ ไปจนถึงคอลเล็กชั่นของ ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) ที่ได้ผสานเอกลักษณ์ลายจุดของเธอเข้ากับแบรนด์ ตั้งแต่ตัวสินค้าไปจนพื้นที่หน้าร้านรูปแบบต่าง ๆ แค่กระเป๋า สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการตื่นตาตื่นใจ 

หลังจากนั้นผู้คนต่างรอคอยการคอลแลบส์ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละคอลเลกชันที่จะออกใหม่ เพราะ Louis Vuitton สามารถผลิตสินค้าที่ผสมผสานความสร้างสรรค์แปลกใหม่เข้ากับมรดกแฟชั่นในประวัติศาสตร์ของตนเองได้อย่างหลากหลาย ผ่านการบริหารงาน และการตีความใหม่ผ่านมุมมองมิติแห่งศิลป์ของเหล่าครีเอททีฟไดเร็กเตอร์ที่เข้ามาสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ยุคต่อยุคอย่าง คิม โจนส์ (Kim Jones), นิโคลัส แฌ็สเกียร์ (Nicolas Ghesquière) , เวอร์จิล อาโบลห์ (Virgil Abloh) และ แฟเรล วิลเลียมส์ (Pharrell Williams) อาร์ตไดเร็กเตอร์คนปัจจุบัน 

โดยเฉพาะในยุคของ เวอร์จิล อาโบลห์ (Virgil Abloh) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ off-white เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวเรือใหญ่ในฝั่งของเสื้อผ้าผู้ชายในปี 2018 ที่ได้ผสมผสาน Street Fashion เข้ามาใน Louis Vuitton ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ 

Louis Vuitton ภายใต้เรื่องราวการเดินทางอันไม่มีวันสิ้นสุด 

เรียกได้ว่าตลอดเส้นทางเกือบสองศตวรรษล้วนเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่บอกเล่าถึงความเชี่ยวชาญ นวัตกรรม และการท่องเที่ยว แม้จะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่ Louis Vuitton ไม่เคยหยุดนิ่ง จนสิ่งนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของแบรนด์

เป็นหนึ่งตัวอย่างของ 'แบรนด์นักนวัตกรรมชั้นยอด' ที่สามารถปรับตัวด้านการออกแบบ ด้านกลยุทธ์ธุรกิจ และการสื่อสารกับคนในแต่ละสมัย ด้วยการหันไปหยิบยืมมรดกประวัติศาสตร์ของตนเองมาใช้ในสินค้าในยุคปัจจุบันได้อย่างทรงคุณค่า

Louis Vuitton สามารถรักษาสถานะเป็นแบรนด์หรูชั้นนำระดับโลก ผ่านการนำเสนอสินค้าแปลกใหม่ก้าวข้ามขอบเขตที่มาพร้อมกับความครีเอทีฟ ทันสมัย ทันสังคม ซึ่งบางครั้งเองก็ก้าวล้ำนำหน้าจนกลายเป็น Trend Setter ให้กับวงการ 

ดั่งที่เราเห็นการวิวัฒนาการเรื่อยมาของบรรดาสินค้าสุดไอคอนิกที่ปรากฏบนรันเวย์แฟชั่นโชว์ พร้อมด้วยความชื่นชมจากวงการแฟชั่นและบรรดาแฟนคลับที่นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง  

โดยล่าสุดแบรนด์ก็ได้ขยับขยายมิติใหม่ ๆ ตอกย้ำกลยุทธ์นำเสนอไลฟ์สไตล์ผ่านจักรวาลของ Louis Vuitton ด้วยการเปิดตัว ‘LV The Place Bangkok’ ณ ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ คอนเซ็ปต์สโตร์ใหม่ของ Louis Vuitton ที่เปิดตัวครั้งแรกในประเทศไทย จุดหมายแห่งใหม่ล่าสุดที่รวมคอนเซ็ปต์ครบทุกประสบการณ์ภายในพื้นที่เดียวกัน ตั้งแต่รีเทลสโตร์ คาเฟ่ Le Café Louis Vuitton ร้านอาหารโดยเชฟชื่อดัง Gaggan Anand และนิทรรศการเรื่องราวการเดินทางแห่งวิสัยทัศน์ Visionary Journeys ด้วยผลงานการออกแบบของบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่าง OMA และ Partner Shohei Shigematsu

ซึ่งก่อนหน้านี้แบรนด์ก็ได้เปิดตัว ‘Louis Vuitton Maison Osaka Midosuji’ แฟล็กชิปสโตร์แห่งแรกที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Café V & Sugalabo คาเฟ่และร้านอาหารแห่งแรกของแบรนด์  


อ้างอิง Louis Vuitton , Savoirflair

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ