Saudi Aramco ทำอะไร ถึงเป็นธุรกิจอาหรับติดท็อปมูลค่าสูง ท่ามกลางบริษัทเทคอเมริกัน

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

Saudi Aramco ทำอะไร ถึงเป็นธุรกิจอาหรับติดท็อปมูลค่าสูง ท่ามกลางบริษัทเทคอเมริกัน

Date Time: 8 มี.ค. 2567 17:36 น.

Video

ศิรเดช โทณวณิก Gen 3 ดุสิตธานี ธุรกิจที่เป็นมากกว่าโรงแรม | On The Rise

Summary

  • เส้นทางความมั่งคั่งของ Saudi Aramco บริษัทน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียที่มีมูลค่าบริษัทถึง 73 ล้านล้าน และยังเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลกในปี 2023 จากการขายน้ำมันและปิโตรเคมี

Latest


Saudi Aramco บริษัทน้ำมันจากซาอุดีอาระเบียที่มีมูลค่าบริษัทกว่า 7.6 ล้านล้านริยาล (หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท) และติดอันดับ 4 เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกท่ามกลางบริษัทอเมริกัน เป็นรองเพียงแค่ Microsoft, Apple และ Nvidia ตามข้อมูลอัปเดตเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

บทความนี้ Thairath Money จะพาไปดูกันว่าบริษัทรัฐวิสาหกิจรายนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรถึงได้มีมูลค่าบริษัทอยู่ในอันดับต้น แถมยังมากกว่าบริษัทเทคโนโลยีชื่อดังที่เราคุ้นตากันเสียอีก

Aramco ถือเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 90 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1933 ที่ซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญาให้สัมปทานบ่อน้ำมันกับบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ Standard Oil Company of California (SOCAL) หรือ Chevron ในปัจจุบัน 

และเกิดเป็นบริษัทย่อยภายใต้ชื่อ “California Arabian Standard Oil Company” (CASOC) แต่ในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าพื้นที่นี้จะมีน้ำมันหรือไม่และได้เดินหน้าสำรวจเพื่อหาแหล่งน้ำมันโดยเริ่มขุดเจาะในปี 1935 แต่ก็ยังไม่พบแหล่งน้ำมันที่มีปริมาณมากพอจะใช้ในเชิงพาณิชย์ จนมาประสบความสำเร็จในปี 1938 ที่มีการขุดพบบ่อน้ำมัน “Dammam No. 7” ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดดินแดนน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย

ภายหลังการขุดพบแหล่งน้ำมันเชิงพาณิชย์ CASOC ก็เติบโตอย่างต่อเนื่องทำลายสถิติครั้งสำคัญของการผลิตน้ำมันและทำให้ซาอุดีอาระเบียมีชื่อเสียงในด้านพลังงานด้วยความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบได้ถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะเดียวกันก็ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น “Aramco” (Arabian American Oil Company) อย่างที่เราคุ้นตากันในทุกวันนี้ 

ด้วยความสามารถในการผลิตน้ำมันได้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว Aramco จึงต้องเพิ่มความพยายามในการขายน้ำมันโดยได้สร้างท่อส่งน้ำมันความยาวกว่า 1,212 กิโลเมตรขึ้นมาในปี 1950 เพื่อเชื่อมต่อซาอุดีอาระเบียตะวันออกกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ช่วยลดเวลาและต้นทุนในการส่งออกน้ำมันไปยังยุโรปได้เป็นอย่างมาก 

และยังได้ค้นพบแหล่งน้ำมัน “Safaniyah” บริเวณอ่าวอาหรับในปีต่อมาซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลกทำให้ในปี 1958 Aramco ผลิตน้ำมันดิบได้ทะลุ 1 ล้านบาร์เรลได้ในหนึ่งปีปฏิทิน และในอีกห้าปีต่อมาก็ผลิตน้ำมันได้มากขึ้นจนถึง 5 พันล้านบาร์เรล จากนั้นในปี 1971 ยอดการขนส่งน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมจากท่าเรือน้ำมันแห่งสำคัญ “Ras Tanura” ทะลุ 1 พันล้านบาร์เรลต่อปีได้เป็นครั้งแรก

จากนั้นในปี 1973 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ซื้อหุ้น Aramco 25% และเพิ่มเป็น 60% ในปีถัดมาจนในปี 1980 ได้เข้าถือหุ้น 100% และก่อตั้ง “Saudi Arabian Oil Company” (Saudi Aramco) รับช่วงต่อจาก Aramco แปดปีหลังจากนั้น และได้ Ali I. Al-Naimi เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานคนแรกของบริษัท

หลังจากนั้น Saudi Aramco ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านจากบริษัทผลิตและส่งออกน้ำมันสู่องค์กรปิโตรเลียมแบบครบวงจร ด้วยการก่อตั้ง “Star Enterprises” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัท Texaco ในปี 1989 และกลายมาเป็นบริษัท Motiva ที่เริ่มต้นจากความร่วมมือกับ Texaco และ Shell ก่อนที่ Saudi Aramco จะเข้าถือหุ้น 100%

และตลอดทศวรรษ 1990 บริษัทได้ขยายความร่วมมือ เพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ ตั้งแต่เข้าซื้อหุ้นบริษัท S-Oil ของเกาหลี Petron Corporation จากฟิลิปปินส์ และ Motor Oil (Hellas) ในกรีซ รวมถึงเข้ามาลงทุนในตลาดเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในโซลูชันใหม่ๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตด้วยเช่นกัน

ผลประกอบการดี ติดอันดับบริษัททำกำไรได้มากที่สุด

Aramco นับว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งให้กับชาวซาอุดีอาระเบียซึ่งก็เป็นเพราะว่าน้ำมันอาหรับนั้นมีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ และจากการประมาณการต้นทุนการผลิตน้ำมันหนึ่งบาร์เรลของ Aramco นั้นอยู่ที่เพียง 5-6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (หรือประมาณ 178-214 บาท) ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ ถึงสิบเท่า

นอกจากนี้ Aramco ยังต่างไปจากบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ที่ไม่ต้องยึดตามราคาน้ำมันโลก ในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกทั้งส่งออกน้ำมันจำนวนมหาศาล จึงทำให้สามารถคุมราคาน้ำมันโลกได้โดยการเพิ่มหรือลดอุปทานอย่างรวดเร็วซึ่งส่งจะผลกระทบกับราคาน้ำมัน

จากรายงานผลประกอบการปี 2022 รายได้สุทธิของ Aramco นั้นอยู่ที่ 1.6 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 5.7 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 46.5% จากรายได้ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 3.9 ล้านล้านบาท) ในปีก่อนหน้าและทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์โดยเป็นผลสะท้อนจากราคาน้ำมันดิบ ปริมาณการขาย และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น 

โดยกำไรจำนวนมหาศาลนี้มาจากการขายน้ำมันและปิโตรเคมีมูลค่ากว่า 5.9 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 21 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากยอดขาย 4 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 14.2 ล้านบาท) ของปีก่อนหน้า และได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ในปี 2023 จากการเป็นบริษัทที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก

สำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุน Aramco ใช้ไปที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2021 พร้อมคาดการณ์ค่าใช้จ่ายในการลงทุนของปี 2023 ว่าจะอยู่ที่ราว 4.5-5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.6-1.9 ล้านล้านบาท) รวมค่าใช้จ่ายในการลงทุนภายนอกด้วย

นอกจากนี้ในปี 2022 บริษัทยังได้บรรลุข้อตกลงโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานโดยกลุ่มนักลงทุนที่นำโดย BlackRock Real Assets และ Hassana Investment Company เข้าซื้อหุ้น 49% มูลค่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 5.5 แสนล้านบาท) ใน Aramco Gas Pipelines Company (AGPC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ตั้งขึ้นมาใหม่ของ Aramco 

และในรายงานผลประกอบไตรมาส 3 สิ้นสุดเดือนกันยายน 2023 บริษัทรายงานรายได้สุทธิตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงไตรมาสนี้ที่ 9.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท) ลดลงจากรายได้ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

อ้างอิง

Aramco (1), (2), (3), AramcoWorld

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ