Casetify แบรนด์เคสโทรศัพท์คาแรกเตอร์จัดจากฮ่องกงที่ใครเห็นก็ต้องจำได้ แม้ขายสินค้าดูเหมือนธรรมดา แต่กลับครองใจลูกค้ายันเซเลบคนดังจนสามารถทำเงินได้มหาศาล บทความนี้ Thairath Money จะพาไปดูกันว่า Casetify จะสามารถทำเงินได้มากขนาดไหนจากการขาย Accessories สำหรับอุปกรณ์ IT
จุดเริ่มต้นของ Casetify นั้นค่อนข้างน่าสนใจ เริ่มจากการเป็นแพลตฟอร์มให้ตกแต่งเคสมือถือด้วยภาพจาก Instagram ภายใต้ชื่อ “Casetagram” ด้วยแนวคิดของ Wes Ng ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอที่ต้องการผลิตเคสมือถือที่ชูความโดดเด่น มีเอกลักษณ์ และตอบโจทย์กับทุกไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานเพื่อให้แตกต่างจากเคสมือถือในขณะนั้น ซึ่งเขามองว่าเทอะทะและน่าเบื่อ
จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน Casetify มีเคสมือถือให้เลือกกว่า 30,000 แบบ มีทั้งลวดลายที่ออกแบบโดยศิลปินหรือจะเป็นงานคอลแลบกับคาแรกเตอร์ชื่อดังอย่างนารูโตะหรือเจ้าหญิงดิสนีย์ หรือจะเป็นการออกแบบร่วมกับภาพยนตร์ กีฬา แบรนด์แฟชั่น หรือแม้แต่ศิลปิน K-Pop แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการส่งมอบสินค้าที่ตอบโจทย์ความชอบของคนแต่ละกลุ่มตามเป้าหมายแรกที่ซีอีโอตั้งเป้าไว้
อย่างไรก็ตาม Casetify ไม่ได้ขายเคสมือถือเพียงเท่านั้น เพราะอย่างที่บอกว่าเป็นผู้จำหน่าย Accessories จึงมีทั้งเคสสำหรับมือถือ ตลอดจนเคสแท็บเล็ต หูฟัง MacBook Apple Watch หรือแม้แต่ฟิล์มกันรอย สายคล้องโทรศัพท์และสารพัดของกุ๊กกิ๊ก และมีสินค้าที่โดดเด่นด้วยกรอบสีดำเขียนคำว่า “CASETiFY” ที่หลายคนคุ้นตาทั้งยังมีบริการปรับแต่งให้เข้ากับผู้ใช้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่และให้ความรู้สึกพิเศษกว่าเคสตามท้องตลาดแบบเดิม
และนับตั้งแต่ Wes Ng และ Ronald Yeung ผู้ร่วมก่อตั้งได้เปิดตัว Casetify ไปในปี 2011 ได้ขายเคสมือถือไปแล้วมากกว่า 15 ล้านชิ้น และทำรายได้ในปี 2022 ไปกว่า 300 ล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท) นอกจากนี้นับตั้งแต่ปี 2020-2022 รายได้ของ Casetify นั้นเติบโตขึ้นถึง 140% พร้อมตั้งเป้าสู่บริษัทมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ให้ได้ภายในปี 2025
นอกจากนี้การที่จะก้าวไปสู่จุดหมายดังกล่าวได้ Casetify ต้องดำเนินธุรกิจแบบ Omnichannel มากขึ้นโดยนอกจากการขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่แข็งแกร่งแล้วยังได้เปิดหน้าร้านเพิ่มขึ้นพร้อมตั้งเป้าเปิดหน้าร้านเพิ่มอีก 100 สาขาภายในปี 2025 ขยายฐานลูกค้าจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกไปสู่ตลาดในภูมิภาคอื่นที่เพิ่มมากขึ้น
และสำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Casetify จะเป็น Private Company ที่ได้รับการสนับสนุนจาก VC ซึ่งในปี 2021 ได้ระดมทุนครั้งล่าสุดในรอบ Series A จาก C Capital ซึ่งเป็น VC จากฮ่องกง และนอกเหนือจาก C Capital ในรอบนี้แล้วยังมีนักลงทุนอีกสองราย ได้แก่ Yitu Capital และ Grid110 Accelerator จากสหรัฐฯ
ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจของ Casetify ก็ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป แม้เป็นแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์ลิขสิทธิ์มากมายแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาได้มีกรณีฟ้องร้องจาก Zack Nelson ยูทูบเบอร์สายเทคจากช่อง ‘JerryRigEverything’ และ dbrand ผู้จำหน่าย Gadget และอุปกรณ์เสริม
จากกรณีที่ระบุว่า Casetify ละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยการคัดลอกผลงานการออกแบบเคส ซึ่งทาง Casetify ได้ออกมาปฏิเสธพร้อมลบสินค้าที่เป็นปัญหาออกจากทุกแพลตฟอร์ม แต่ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่ากรณีการฟ้องร้องในครั้งนี้จะกระทบกับความเชื่อมั่นของลูกค้าและยอดขายของแบรนด์ในอนาคตหรือไม่
อ้างอิง