ชาตรามือ ต้นตำรับชาไทย กลยุทธ์พลิกชีวิตแบรนด์โบราณอายุ 103 ปี ให้ดังไกลระดับโลก

Business & Marketing

Corporates

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ชาตรามือ ต้นตำรับชาไทย กลยุทธ์พลิกชีวิตแบรนด์โบราณอายุ 103 ปี ให้ดังไกลระดับโลก

Date Time: 15 ต.ค. 2566 13:49 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • Thairath Money พาย้อนประวัติ ‘ชาตรามือ’ อีกหนึ่งแบรนด์ไทยโดยคนไทย ที่เป็นขวัญใจนักท่องเที่ยวไม่ว่าชาติไหน ชาตรามือ ทำยังไงให้ชนะใจนักดื่มมายาวนานกว่าร้อยปี เรื่องราวการปลุกปั้นแบรนด์ตั้งแต่รุ่นปู่สู่รุ่นหลาน ตัวอย่างการพลิกภาพแบรนด์เก่าแก่ให้กลับมามีชีวิตชีวา จุดเริ่มต้นความหวานกลมกล่อมแบบฉบับชาไทยแท้

Latest


เรียกได้ว่าไม่ว่าอีกกี่แบรนด์ชานม ชาชง ชาไข่มุก จากต่างแดนจะเข้ามาตีตลาดไทย ก็ไม่สามารถกลบความยืนหนึ่งเมนูน้ำชงอันดับหนึ่งในใจใครหลายคนอย่าง ‘ชาไทย’ เมนูสุดปังจาก ‘ชาตรามือ’ (Cha Tre Mue) อีกหนึ่งแบรนด์โบราณไทยแท้ ตำนานชาชงต้นตำรับ ชาไทยเจ้าแรกๆ ที่โด่งดังมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่า ผู้ปลุกปั้นชาไทยให้กลายเป็นเมนูน้ำชงซิกเนเจอร์ที่ดังไกลระดับโลก 

ชาจีนของซาเหล่าแปะ สู่ ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 

จุดเริ่มต้นของ ชาตรามือ และ ตระกูลเรืองฤทธิเดช ผู้รังสรรค์ธุรกิจ เริ่มขึ้นเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว ‘ซาเหล่าแปะ’ ต้นตระกูลได้เดินทางจากจีนเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทยเมื่อปี 2463  และเริ่มจุดประกาย ‘ธุรกิจชาจีน’ ของตระกูลครั้งแรกในชื่อ ‘ลิมเมงกี’ Lim Meng Kee บนถนนเยาวราช นำเข้าทัพชาแท้ๆ ทั้งชาอู่หลง ชาเขียว ชาแดง จากจีนมาสู่ไทย โดยระหว่างขยับขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง ซาเหล่าแปะ เริ่มก่อตั้งโรงงานที่เชียงรายเป็นแห่งแรก โดยช่วงแรกของธุรกิจนั้นเป็นการรับผลิตชาและขายส่งให้กับร้านชาชงเจ้าอื่นตามพื้นที่ต่างๆ เป็นหลัก 

เมื่อธุรกิจก็เติบโตตามลำดับ ซาเหล่าแปะ ยังคงคิดค้นสูตรของร้านไปเรื่อยๆ นำเข้าชารูปแบบต่างๆ เพื่อตอบโจทย์รสนิยมของคนไทย อย่างการปรับเมนูชาชงใส่น้ำแข็งสดชื่นกว่าการดื่มชาร้อนแบบจีน เพราะจับสังเกตได้ว่าบ้านเราเป็นเมืองร้อน จะให้คนไทยซดชาร้อนสไตล์จีนตลอดก็คงไม่ไหว จึงปรับเมนูชาใส่น้ำแข็งที่ได้กลายเป็นต้นฉบับชาชงในปัจจุบันนั่นเอง 

อย่างไรก็ดีในช่วงแรก ชาตรามือ ยังไม่ได้มีชื่อแบรนด์ว่า ‘ตรามือ’ แต่คำว่า ‘ตรามือ’ นั้นที่มาจากโลโก้สีแดงสดดั้งเดิมที่ใช้ตั้งแต่สมัยก่อน ซึ่งเป็นรูปกาชงชาและมือยกนิ้วโป้ง ที่สื่อถึง ‘ความเป็นเลิศ’ ลูกค้าติดภาพจำผลิตภัณฑ์จนเรียกติดปากต่อๆ กันว่า ‘ชาตรามือ’ หรือปู่ย่าบางคนก็อาจจะอาจเรียกว่า ‘ชาตราหัวแม่โป้ง’ ‘ชาตรากา’ จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญนั่นก็คือ การตัดสินใจเปิดหน้าร้านอย่างเป็นทางการ พร้อมปรับแบรนด์ดิ้งโดยเรียกว่าชื่อธุรกิจว่า ‘ชาตรามือ’ เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับคนดื่มเป็นต้นมา 

จากยี่ปั๊วซาปั๊วจีนสู่ผู้ขายที่รุกโมเดิร์นเทรด และแฟรนไชส์ต่างประเทศ 

การคิดค้นสูตรอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ได้ชาไทยที่มีคุณภาพดี ทำให้ ‘ชาตรามือ’ โดดเด่นในเรื่องของเอกลักษณ์ รสชาติ ที่คงคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของธุรกิจแบบ B2B ที่รับผลิตวัตถุดิบชาให้กับเจ้าอื่น ก้าวสู่ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายชาของตัวเอง 

ผลิตภัณฑ์ชาชงสำเร็จรูปของชาตรามืออยู่เบื้องหลังความอร่อยของชาไทยหลายร้าน ถ้าสังเกตทุกวันนี้ร้านเล็กใหญ่ตามข้างทางไปจนถึงคาเฟ่หลายร้านต่างใช้ชาชงสำเร็จของชาตรามือเป็นวัตถุดิบหลักสำหรับเมนูชาไทยกันทั้งนั้น แน่นอนว่าความดีงามของชาไทยยังถูกอกถูกใจนักท่องเที่ยว และตลาดต่างประเทศที่นำ ชาตรามือ ไปชงต่อเช่นเดียวกัน  

สานต่อเอกลักษณ์ รสชาติ และลูกค้า รุ่นต่อรุ่น

ปัจจุบันหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ ‘พราวนรินทร์ เรืองฤทธิเดช’ ทายาทเจเนอเรชันล่าสุด (รุ่น 3) ผู้ขับเคลื่อนอาณาจักรธุรกิจชาตรามือที่สร้างกระแส ‘ชาตรามือฟีเวอร์’ ดันแบรนด์ดั้งเดิมของเหล่าแปะสู่คนรุ่นใหม่ๆ ต่อเนื่องจาก ดิฐพงศ์ เรืองฤทธิเดช ทายาทรุ่นที่ 2 พ่อของพราวนรินทร์ ลูกชายผู้สืบทอดกิจการ โดยพราวนรินทร์ตั้งเป้ายกระดับชาไทยให้ไปไกลระดับโลก 

หากใครที่ติดตามเรื่องราวของ ชาตรามือ มาโดยตลอดจะเห็นว่าท้ังสองรุ่นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้แบรนด์ดิ้งให้มีความกลมกล่อมในแต่ละยุคสมัย  เชื่อมโยงผู้บริโภคคอชากาแฟทั้งกลุ่มลูกค้าเก่าและใหม่ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การปรับตกแต่งหน้าร้านให้มีความโมเดิร์นผสมผสานความคลาสสิกเอกลักษณ์ร้านชาจีนสมัยก่อน ทำลวดลายแก้วสวยงามทันสมัย 

“ชาที่ทุกคนไว้ใจได้ในคุณภาพ และราคาที่เหมะาสม เป็นผู้ผลิตชาที่ผลิตชาได้ทุกชนิด ทำเครื่องดื่มที่เข้าถึงผู้คนได้จริง ”

เป้าหมายหลักของ ชาตรามือ ไม่ซับซ้อน และยังคงเป็นแก่นหลักในการพัฒนาธุรกิจ นั่นก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ เมื่อถูกบอกต่อกันแบบปากต่อปาก ก็ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในแต่ละเมนู โดยที่แบรนด์ไม่ต้องพูดอะไรเยอะ 

ซึ่งหากกล่าวถึงกลยุทธ์หลักๆ ที่ชาตรามือใช้เจาะตลาดผู้บริโภค นั่นก็คือ การเป็นชาที่เข้าถึงผู้คนได้จริง กล่าวคือ ความเข้าถึงง่าย (Drinking-Friendly) และราคาที่คุ้มค่า ชาตรามือเน้นกลยุทธ์เลือกสถานที่ในการตั้งหน้าร้านคีออสก์ที่มองไปทางไหนก็เจอ เน้นทำเลที่คนเข้าถึงง่าย ช่องทางที่คนเข้าถึงง่ายอย่างตามห้างสรรพสินค้า บีทีเอส จุดที่ผู้คนสัญจรไปมา ไม่ใช่แค่ขายได้ แต่การตั้งหน้าร้านที่ใกล้ชิดผู้บริโภคยังเป็นการสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย 

นอกจากนี้ ชาตรามือ ไม่เคยหยุดต่อยอดสูตร ออกสินค้าใหม่ๆ รังสรรค์มนูใหม่อยู่เสมอ เพื่อสร้างความประทับใจกับลูกค้าในแต่ละเทศกาลหรืออีเวนต์สำคัญๆ อีกทั้งยังเป็นการตอบโจทย์พฤติกรรมการดื่มที่เปลี่ยนไปตามยุค โดยเฉพาะปัจจุบันที่ตลาดน้ำชง ชานมเจ้าต่างๆ ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด การสร้างเอกลักษณ์ของตนเองให้โดดเด่นจากเจ้าอื่นในตลาดนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ยกตัวอย่าง 'ชากุหลาบ' เมนูเรือธงที่ได้สร้างปรากฏการณ์ไวรัลอย่างมากในประเทศไทย โดยเมนูชากุหลาบ คือ เมนูชารสชาติและกลิ่นกุหลาบ สามารถชงเปล่าๆ หรือชงใส่นมก็ได้ นอกเหนือจากรสชาติชาที่หอมกรุ่นดอกกุหลาบ ยังมาพร้อมสรรพคุณช่วยในการขับถ่าย ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาให้หมู่แฟนคลับทั้งไทยและต่างประเทศ เรียกได้ว่าไม่ใช่พลิกวงการน้ำชง แต่ยังพลิกชีวิตแบรนด์โบราณให้ขึ้นมาอยู่ในกระแสหลักได้ในทันที  

ปัจจุบัน ชาตรามือ ยังพัฒนาเมนูใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง กินสัดส่วนตลาดไปแล้วกว่า 80% ของตลาดชาชงทั้งประเทศ มี 150 สาขาทั่วประเทศไทย แถมยังเตะตานักลงทุนที่ต้องการนำแบรนด์ ชาตรามือ ไปขยายอาณาจักรต่อในต่างประเทศ ได้แก่ บรูไน, กัมพูชา, จีน, ฮ่องกง, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, เมียนมา, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ ซึ่งบางประเทศเปิดมากกว่า 1 สาขาเลยทีเดียว

สำหรับผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท ชาไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปี 2565 ทำรายได้ 2,104 ล้านบาท กำไร 34 ล้านบาท ปี 2564 1,977 ล้านบาท กำไร 32 ล้านบาท และปี 2563 1,599 ล้านบาท กำไร 25 ล้านบาท 

ชาตรามือ นับเป็นหนึ่งตัวอย่างของการไม่หยุดยั้งที่จะพัฒนาธุรกิจและปรับตัวโดยไม่ทิ้งแก่นแท้ ในฐานะแบรนด์ไทยที่มีอายุยาวนาน แถมยังปังข้ามศตวรรษ สร้างความประทับใจให้กับผู้คนจากการส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ส่งผ่านแบรนด์ดิ้งจากอดีตสู่ปัจจุบันได้อย่างประสบผลสำเร็จ

กลยุทธ์หลายอย่างๆ ล้วนประกอบร่างแบรนด์ ทำให้ให้ชาตรามือไม่จางหายไปตามกาลเวลาแต่กลับเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นความนิยมเมนูชาไทย ให้เจ้าอื่นๆ หันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าของตนเอง เพื่อร่วมกันยกระดับชาไทย เอกลักษณ์ของคนไทยในตลาดโลก 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ