การอ่านหนังสือให้ลูกฟังสามารถทำได้ตั้งแต่เจ้าหนูยังอยู่ในครรภ์ แต่สิ่งสำคัญคือการ “ต่อยอด” เมื่อทารกน้อยคลอดออกมาแล้ว การอ่านหนังสือให้ลูกฟังแม้เขาจะอยู่ในวัยทารก คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไปนะคะว่าอ่านไปแล้วลูกจะเข้าใจหรือไม่ มีประโยชน์อย่างไรหากอ่านไปแล้วลูกไม่เข้าใจ มาดูกันค่ะว่าทำไมจึงควรอ่านหนังสือให้ลูกฟัง แม้ว่าเขาจะยังไม่เข้าใจก็ตาม!!!

1. แรกเริ่มการอ่านหนังสือให้ทารกในครรภ์ คือ การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เด็กจะมีความจำเกี่ยวกับคำ แม้ว่าเด็กจะไม่ได้ยิน แต่เด็กจะคุ้นชินกับคำ และประโยคที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง ยิ่งถ้าพ่อแม่มีการต่อยอดหลังลูกคลอดออกมา เด็กก็จะยิ่งมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น และเรียนรู้ได้เร็วขึ้น

2. การต่อยอดเพื่อสอนลูกรักการอ่าน การอ่านหนังสือ โดยเฉพาะสำหรับลูกที่ยังเล็ก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของหนังสือแต่อย่างใด ยิ่งมีหนังสือมาก จะยิ่งทำให้เด็กอ่านมาก แต่ในความเป็นจริงการอ่านหนังสือเริ่มจากความประทับใจหนังสือเพียงไม่กี่เล่มหรือแม้แต่เล่มเดียวก็ตาม การที่ลูกให้พ่อแม่อ่านซ้ำไปซ้ำมาเช่นนี้ ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นนักอ่านได้มากกว่าเด็กที่ถูกบังคับให้อ่านหนังสือมากมาย

3. ทุกเสียงที่คุณพ่อและคุณแม่อ่านเป็นคำๆ ให้ลูกฟัง จะกระตุ้นให้สมองของลูกบันทึกและสร้างวงจรของคำศัพท์ต่างๆ เอาไว้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ ยิ่งถ้าอ่าน สอนลูกรักการอ่าน และการใช้คำจากหนังสือสอนลูกในวัยก่อน 3 ขวบมากเท่าไร เด็กจะมีชุดของคำเป็นหมื่นๆ คำ ซึ่งคำมีผลต่อสติปัญญามาก

4. หนังสือที่มีรูปเล่มดี ภาพประกอบสวย ใช้สีสดๆ ย่อมดึงดูดเด็กเล็กได้มากกว่าหนังสือที่ดูเรียบๆ ก็จริงอยู่ หากลูกเริ่มโตพูดคุยกันได้เข้าใจ โดยเฉพาะในวัยอนุบาล หนังสือที่ลูกจะอ่านหรือรักที่จะอ่าน ย่อมอยู่ที่เนื้อหาหรือเรื่องราวที่เด็กรู้สึกสัมผัสได้ เชื่อมโยงได้กับการเรียนรู้รอบๆ ตัว สัมพันธ์กับผู้คนและบรรยากาศที่ทำให้เด็กได้ประสบกับความรู้สึกนึกคิดบางอย่าง และเปิดช่องทางให้เด็กได้คิด ได้ถาม ได้สงสัย และครุ่นคิดด้วยตนเอง ทำให้เกิดการพัฒนาด้านการคิดวิเคราะห์ต่อไป

...

5. สิ่งสำคัญพ่อแม่ไม่ควรคาดหวังหรือเปรียบเทียบการอ่านของลูกกับเด็กคนอื่นๆ เพราะเด็กแต่ละคน แต่ละวัย มีพัฒนาการด้านการอ่านแตกต่างกันไป และไม่จำเป็นว่าเด็กทุกคนจะมีนิสัยรักการอ่านเท่าๆ กัน เป้าหมายสำคัญของการอ่านและนิสัยรักการอ่าน อยู่ที่การอ่านเป็น และสามารถใช้การอ่านเป็นสะพานเชื่อมโยงสู่พัฒนาการในด้านต่างๆ ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรนำลูกมาเปรียบเทียบกันว่าใครอ่านมากกว่า หรือสนใจอ่านหนังสือประเภทใดมากน้อยกว่ากัน แล้วคะยั้นคะยอบังคับลูกเพื่อให้เหมือนคนอื่น

เทคนิคดีๆ ที่ทำให้ลูกรักการอ่าน

1. สภาพแวดล้อม

เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่การอ่านและหนังสือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในบ้าน และเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมต่างๆ จะสนใจการอ่านและสามารถได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้ง่าย ดังนั้นถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่คนที่สนใจหนังสือหรือรักการอ่าน ก็เป็นเรื่องยากที่จะคาดหวังให้ลูกสนใจหนังสือหรือรักการอ่านได้ เว้นเสียแต่ว่าเด็กจะได้รับอิทธิพลจากบุคคลแวดล้อมอื่นๆ โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว เช่น บางครอบครัวที่คุณปู่ คุณย่า รักการอ่านและมีเวลาอยู่กับหลานๆ มากกว่าคุณพ่อคุณแม่ซึ่งต้องออกไปทำงาน เด็กก็อาจมีนิสัยรักการอ่านตามคุณปู่คุณย่าได้เช่นกัน

2. ความสัมพันธ์และความประทับใจที่มีหนังสือเป็นส่วนประกอบ

องค์ประกอบ หมายถึง บรรยากาศประทับใจที่มีการอ่านและหนังสือเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น แม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอน หลานอ่านหนังสือให้ยายฟัง พ่อเล่าเรื่องจากหนังสือที่อ่านให้ลูกฟัง อาตั้งใจซื้อหนังสือมาให้เป็นของขวัญ เป็นต้น บรรยากาศที่สะท้อนความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอบอุ่นเช่นนี้ เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างนิสัยรักการอ่าน และควรเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นกันเอง

3. สอนให้ลูกเข้าใจประโยชน์ของการอ่าน

การสอนให้ลูกรักการอ่าน สอนให้เข้าใจถึงประโยชน์ของการอ่าน สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น พาลูกออกไปข้างนอก ชี้ชวนให้ลูกดูป้ายบอกทาง อ่านชื่อซอย ชื่อถนน ชื่อร้านค้าที่เดินผ่าน เป็นต้น ทำให้ลูกรู้และเข้าใจได้เองว่าหากเราอ่านหนังสือเป็นก็จะทำให้ไปไหนมาไหนได้ถูก รู้จักสถานที่ต่างๆ เป็นต้น การทำเช่นนี้เป็นการกระตุ้นให้ลูกสนใจและรักการอ่าน เพราะเห็นประโยชน์สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

4. การเขียนแสดงความรู้สึกนึกคิด

พัฒนาการด้านการอ่านและเขียน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป เด็กที่ได้รับการสนับสนุนให้เขียน รวมทั้งวาดภาพ เพื่อแสดงความรู้สึกนึกคิดหรือจินตนาการของตนเอง การเขียนช่วยให้เด็กสามารถสื่อสารออกมาเป็นตัวอักษรได้ การสนับสนุนให้เด็กเล็กหรือเด็กในวัยก่อนอนุบาลหรือวัยอนุบาลเขียน ไม่ควรเน้นที่ความถูกต้อง การสะกดคำ หรือหลักไวยากรณ์ ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าการเขียนเป็นสิ่งสร้างข้อผิดพลาดและคำตำหนิ แต่ควรให้คำแนะนำวิธีการเขียนถูกต้องทำให้เด็กไม่รู้สึกว่าตนเองทำผิดจะทำให้รู้สึกไม่กล้าเขียนได้

5. การสนับสนุนให้กำลังใจ

นิสัยรักการอ่าน คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถบังคับลูกได้ แต่สามารถกระตุ้นและสนับสนุนได้ โดยให้กำลังใจเมื่อลูกสนใจหนังสือ อ่านหนังสือ หรือเขียนหนังสือ วิธีการให้กำลังใจควรเป็นการซักถามชื่อเรื่อง ผู้แต่ง เนื้อหา การให้เด็กอธิบายสิ่งที่ตัวเองอ่าน การพูดคุยอย่างเป็นกันเองเกี่ยวกับเนื้อหาของหนังสือ การเล่าประสบการณ์หรือเรื่องราวเสริม การขอดูรายละเอียดบางส่วนของหนังสือ วิธีที่แสดงความสนอกสนใจอย่างจริงจังทำนองนี้ ดีกว่าการกล่าวคำชมเชยเฉยๆ ซึ่งหากกระทำซ้ำๆ หรือยกยอกันมากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลในทางลบได้ง่าย.

...