“อาการดื้อโบ” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกจากความนิยมฉีดโบท็อกซ์เพื่อดูแลผิวพรรณ รพ.ศิริราชได้เปิดศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินแห่งแรกเพื่อรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างถูกต้อง

ที่ผ่านมา ภาวะดื้อโบ หรือดื้อโบทูลินัมท็อกซิน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาสักระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ได้เป็นที่จับตาในวงการแพทย์เท่าไรนัก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการที่ส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้าน อาการที่พบคือเมื่อฉีดโบท็อกซ์ไปแล้วไม่ช่วยแก้ปัญหา เช่น ริ้วรอย กรามไม่เล็กลง รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยในบางโรคที่จำเป็นต้องใช้โบท็อกซ์แก้ไขปัญหาอาการป่วยก็ใช้ไม่ได้ผล ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก

สาเหตุการดื้อโบ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดื้อโบมี 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ

  1. ฉีดโบท็อกซ์ถี่เกินไป เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารโบท็อกซ์ในปริมาณมากหรือถี่เกินไป ร่างกายก็จะตอบรับด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือแอนติบอดี (Anti-Body) ขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้การฉีดโบท็อกซ์ครั้งหลังๆ ไม่ได้ผลหรือที่เรียกว่าอาการดื้อโบเกิดขึ้น
  2. ฉีดโบท็อกซ์ปลอม หรือไม่มีคุณภาพ หากร่างกายได้รับโบท็อกซ์ปลอม หรือโบท็อกซ์ที่มีสารปนเปื้อน หรือมีการจัดเก็บที่ไม่ถูกวิธี ก็ทำให้โบท็อกซ์ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้เกิดอาการดื้อโบได้
  3. ฉีดโบท็อกซ์ในปริมาณที่มากเกินไป การฉีดโบท็อกซ์ในปริมาณที่เยอะเกินไปไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกาย แต่จะทำให้เกิดสารตกค้างในร่างกายและเกิดอาการดื้อโบได้ในอนาคต
หากมีอาการดื้อโบจะไม่สามารถรักษารอยเหี่ยวย่นหรือลดขนาดกราม ไปจนถึงรักษาอาการป่วยอื่นๆ ที่ต้องใช้โบท็อกซ์ได้
หากมีอาการดื้อโบจะไม่สามารถรักษารอยเหี่ยวย่นหรือลดขนาดกราม ไปจนถึงรักษาอาการป่วยอื่นๆ ที่ต้องใช้โบท็อกซ์ได้

...

วิธีป้องกันการดื้อโบ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการดื้อโบได้ แต่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการดื้อโบได้ด้วยการ

  • ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์มากกว่าปีละ 2 ครั้ง และควรเว้นระยะการฉีดห่างกันอย่างน้อย 4-6 เดือนขึ้นไป
  • เลือกคลินิกหรือสถานพยาบาลที่มีความน่าเชื่อถือและได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้ อย่าเน้นที่ราคาถูกเพราะอาจได้รับโบท็อกซ์ปลอม หรือมีการจัดเก็บไม่ถูกต้อง ทำให้โบท็อกซ์เสื่อมสภาพหรือไม่มีคุณภาพ และเสี่ยงต่อการดื้อโบ
  • ไม่ควรฉีดโบท็อกซ์ในปริมาณที่มากเกินไป ซึ่งการฉีดในแต่ละบริเวณจะใช้จำนวนยูนิตที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับแพทย์เป็นผู้พิจารณา
  • ควรเลือกยี่ห้อโบท็อกซ์ที่มีความบริสุทธิ์สูง และไม่ควรสลับยี่ห้อการฉีดไปมาเพราะอาจทำให้เกิดอาการดื้อโบได้
งานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน
งานแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซิน

ด้านสัดส่วนการดื้อโบของคนไทย ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชา ตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เผยว่าจากตัวเลขข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบในช่วงปี พ.ศ. 2564–2565 จำนวน 137 ราย พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 58% ในจำนวนของผู้ที่มีอาการดื้อโบนี้สามารถจำแนกได้ว่าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ โดยมีคนไข้ที่มีภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin (โครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 48% ดื้อต่อสาร Complexing proteins (โครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์) อยู่ที่ 18% และดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8%

จากผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้เห็นผลอยู่ แต่ในเคสส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin นั้นต้องรอเวลาให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลงเท่านั้น ดังนั้นจึงควรเลือกเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและคลินิกที่มีคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะดื้อโบในอนาคต

แพทย์กำลังวิเคราะห์ผลเลือดเพื่อตรวจหาภาวะดื้อโบ
แพทย์กำลังวิเคราะห์ผลเลือดเพื่อตรวจหาภาวะดื้อโบ

...

ที่โรงพยาบาลศิริราชได้ก่อตั้งศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อต่อโบทูลินัมท็อกซินขึ้น เพื่อหาวิธีทดสอบวัดปริมาณภูมิคุ้มกันในเลือดผู้ป่วยที่ส่งผลให้การรักษาด้วยโบท็อกซ์ไม่ได้ผล รวมไปถึงพัฒนาชุดความรู้ใหม่ให้กับแพทย์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยป้องกันการรักษาที่อาจทำให้ร่างกายผู้ป่วยประสบภาวะดื้อโบมากกว่าเดิม โดยใช้วิธีการตรวจจากการเจาะเลือดของผู้ป่วยในปริมาณ 5 ซีซี แล้วนำไปตรวจในห้องแล็บ ใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก็สามารถทราบผลได้ว่ามีอาการดื้อโบหรือไม่ และสามารถฉีดโบได้อีกทีเมื่อไหร่ หรือสามารถฉีดยี่ห้ออื่นทดแทนยี่ห้อที่ตนเองดื้อโบแทนได้หรือไม่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,600 บาทต่อครั้ง

สำหรับผู้ที่ต้องการตรวจสอบว่าตนเองมีภาวะดื้อโบหรือไม่ สามารถเข้ามารับการตรวจได้ที่โรงพยาบาลศิริราช หรือคลินิกความงามกว่า 40 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรของเมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทย ที่ร่วมโครงการ “โครงการส่งตรวจภาวะดื้อโบ” ได้อำนวยความสะดวกให้สามารถเข้ามารับการตรวจและส่งเลือดมายังศูนย์วินิจฉัยภาวะดื้อโบที่ศิริราชในขั้นตอนถัดไป พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเพื่อบรรเทาความกังวลและช่วยลดความรุนแรงของภาวะดื้อโบได้อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายจำนวนคลินิกร่วมโครงการให้ถึง 100 คลินิก ในปีถัดไป