จากครู-เซลส์แมน-เจ้าของกิจการ สู่นักบริหาร 'วินัย สารสุวรรณ' นายกสมาคมศิษย์เก่า มจพ. วางเป้าหมายดึงศิษย์เก่ากลับสถาบัน ปลุกจิตสำนึกรักบ้านความรู้ ปูทางให้รุ่นน้องเติบใหญ่...

นายวินัย สารสุวรรณ ทำมาแล้วหลายอาชีพตั้งแต่เป็นครู สอนหนังสือ - เซลส์แมน จนกระทั่งมาทำธุรกิจของตัวเองและวันนี้ เขาก้าวมาสู่ตำแหน่งที่ใหญ่โตที่สุดในชีวิตตำแหน่งหนึ่งกับ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ (มจพ.) ทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" มีโอกาสได้คุยกับศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ถามถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารทั้งหมดตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง  

เส้นทางชีวิต
นายวินัย  เล่าว่า ก่อนหน้านี้เป็นครูอยู่ 2 ปีแต่ก็มีอันต้องลาออกจากอาชีพที่รัก เนื่องจากตอนปี 2530 นั้น เงินเดือนครูถูกมาก เรียกว่าไม่พอใช้ไหนจะค่ากิน-ค่าอยู่ อีกทั้ง ยังต้องส่งเงินให้พ่อ-แม่อีก จึงสินใจลาออกมาทำงานเป็นเซลส์แมน อยู่พักใหญ่ ก่อนที่จะมาเปิดบริษัทนำเข้าอุปกรณ์สัญญาณเตือนอัคคีภัยระบบเซฟตี้ตามสถานที่ต่างๆ จนถึงวันนี้บริษัทมีอายุ 15 ปีแล้ว

"ผมเป็นคนสุพรรณบุรี ตอนเด็กๆ ก็คิดไว้ตลอดว่าถ้าจบการศึกษามาจากที่ไหนก็จะกลับไปทำประโยชน์ ให้กับที่นั่น และไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มารับตำแหน่งนายกสมาคมศิษย์เก่าฯ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตเลยทีเดียว"

...


วิสัยทัศน์... "เราต้องเป็นหนึ่ง"
นายวินัย ได้แสดงวิสัยทัศน์ในการลงสมัครตำแหน่งนี้ว่า อันดับแรกที่จะนำเสนอให้กับทุกๆ คน คือเราจะรวบรวมสมาชิกของมหาวิทยาลัยให้เป็นหนึ่ง เพื่อเข้าไปแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่เขามีอายุมากกว่าเราให้ได้

"ปัญหาของสมาคมศิษย์เก่าก็คือ หลังจากที่พวกเขาจบการศึกษาไปแล้วพวกเขาจะไม่ค่อยกลับมาที่มหาวิทยาลัย ดังนั้นสิ่งนี้คือสิ่งที่จะต้องทำอันดับแรก ซึ่งเราต้องการจะช่วยสนับสนุนรุ่นน้องเรื่องค่าใช้จ่ายในการศึกษา ช่วยงานขององค์กรต่างๆ ของสถาบันทำให้เรายืนได้ด้วยตัวเองให้ได้ แต่ปัจจุบันสถาบันของเราแทบจะไม่มีศิษย์เก่ากลับมาทำประโยชน์ให้สถาบันเลย"

สาเหตุหลักๆ ก็คือ ความเห็นแก่ตัว
"เมื่อคุณเข้ามาก็เรียนๆ อย่างเดียว ก็ไม่ผูกพัน เมื่อคุณเรียนจบไปก็ไม่เคยคิดอยากจะช่วยคนอื่นคิดแต่เรื่องของตัวเอง แต่ความเป็นจริงภายใต้จิตสำนึกแล้ว เมื่อเราเกิดเป็นลูกใครแล้วก็ควรจะกลับไปดูแลคนนั้น เพราะคุณได้ความรู้จากที่นี่ คุณได้ทำงาน ก้เพราะเรียนที่นี่ มันเลยทำให้คุณยิ่งต้องกลับไปดูแล ซึ่งดูแลในที่นี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทองอะไร เราใช้สมองใช้ความคิด และความรู้ มีอะไรก็มากระจายข่าวการประชาสัมพันธ์สถาบันกันไปนี่คือสิ่งสำคัญที่ผมจะทำอันดับแรก"

สิ่งสำคัญอันดับต่อมาก็คือการระดมทุน
"ถ้าเทียบกับสถาบันศิษย์เก่าที่อื่นๆ สมาชิกของเราอาจจะถือว่ามีไม่มากนัก จากทั้งหมด 40 กว่ารุ่น ประมาณ 30,000-40,00 คน แต่ที่เป็นสมาชิกศิษย์เก่ามีเพียง 10 % เท่านั้น ซึ่งการเป็นสมาชิกในบางคณะที่นี่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ทันทีที่ผมเข้ามาผมจะขอความร่วมมือให้คนที่เข้ามาร่วมกับสมาคมศิษย์เก่าทำบัตรสมาชิกตลอดชีพ 1,000 บาท เพื่อจัดกิจกรรมพบปะต่างๆ ให้คนที่จบไปมีความผูกพันหลังจากนั้นเมื่อความผูกพันเกิดขึ้น สถาบันจะสร้างตึกไม่จำเป็นจะต้องจ้างช่างก็ได้  เพราะศิษย์เก่าที่เรียนโยธา, ไฟฟ้า และประปา เราก็มีตั้งเยอะ ไม่จำเป็นต้องไปจ้าง  เราทำเองก็ได้ ถ้าพวกศิษย์เก่าเขาคิดแบบเราทุกคน เอาเงินตรงส่วนนี้ไปทำประโยชน์อย่างอื่นจะดีกว่ามั้ย"


วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี ยังไม่หวังเป้าสมาชิก
"คือสมาคมเพิ่งจะตั้งมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2530  ตอนนี้ก็ก่อตั้งมาได้ประมาณ 20 กว่าปี ถือว่ายังมีอายุน้อยมาก  ซึ่งวาระในการดำรงตำแหน่ง ของผมมี 2 ปี คือ ปี2553-2555"

ซึ่งภายในระยะเวลา 2 ปีนี้ เราจะได้เห็นอะไรบ้าง
"ก่อนอื่นเลยก็จะต้องเร่งทำเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยให้อัพเดพ  และจะทำพวกแม็กกาซีนเล็กๆ เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยฯ และจัดกิจกรรมต่างๆ   แล้วผมต้องการให้ทุกสมาคมในมหาวิทยาลัยนี้ช่วยกันทำงาน  และผลักดันให้เกิดผล  เราต้องคุยกับสมาคมย่อย ให้เรียกศิษย์เก่ากลับมาที่คณะให้มากที่สุด เมื่อทุกคนกลับมาแล้วเราก็ช่วยได้ แล้วจะมีไอเดียที่ดี  อันนี้เป็นอันดับแรกที่ผมต้องการ แล้วที่ขาดไม่ได้เลยต้องมีทีมงานที่ดี เพราะทุกคนที่เข้ามาทำงานกับผม ผมไม่สามารถบังคับให้พวกเค้าทำโน่นทำนี่ได้  ทุกคนต้องมาด้วยใจ เพราะไม่มีเงินเดือนให้  ไม่มีเบี้ยเลี้ยง เพราะเราใช้เวลาหลังเลิกงานมาประชุม"

ทีมงานของท่านนายกสมาคมมีกี่คน
"มี 15 คนครับ แล้วเราต้องจดชื่อไปให้กระทรวงมหาดไทย  ตรวจสอบประวัติ ว่าไม่มีอะไรที่เป็นพิษภัย ต่อสังคม และประเทศชาติ  ซึ่งใน 15 คนนี้   ก็จะมี 7 คนที่เลือกไปเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2553 อีก 5 คนจากสมาคมต่างๆ จากนายกหรือตัวแทนนายกส่งเข้ามา และอีก 3 คนผมจะเป็นคนหามาเองแต่โอกาสที่จะหาคนที่ทำงานนี้หาได้ยากมาก เพราะคนที่จะมาทำงานจะต้อง มีคุณสมบัติดังนี้ คือ เสียสละ ร้อยเปอร์เซนต์  คุยเวลาไหนต้องได้  ต้องมีทัศนะคติที่ดีต่อมหาวิทยาลัย   และมีความปราถนาดีต่อมหาวิทยาลัย"

คิดว่าอะไรเป็นสิ่งที่เอาชนะใจคน จนเข้ามาเป็นนายกสมาคมศิษย์เก่าได้
"โดยปกติแล้วสมัยที่เรียนที่มหาวิทยาลัยฯ ผมจะทำงานให้กับคณะคุรุศาสตร์ที่ผมจบมา และเป็นเลขาให้สมาคมใหญ่ของมหาวิทยาลัย  เป็นที่ปรึกษาคณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกล ทำงานที่กองบริการนักศึกษา  และเป็นที่ปรึกษาคณะสภาคณาจารย์ บวกลูกจ้างประจำ จนคนในมหวิทยาลัยต่างรู้จักผมหมด ทุกงานนี่ผมจะต้องไปสนับสนุน ช่วยเหลือตลอดมากน้อยก็ว่ากันไป

สำหรับคำจำกัดความของมหาวิทยาลัยนี้ในส่วนตัวคือ พอเราเรียนที่ไหนเราก็มักจะรักแล้วก็ผูกพันกับที่นั่น  ผมเอง ก็ไม่ใช่คนเรียนเก่งนะ แต่ก็ได้ทุนเรียนตลอด  รู้สึกเหมือนว่าเราเป็นหนี้บุญคุณสถาบัน เราควรจะกลับมาตอบแทน รักษา สร้างอาคารเรียนไว้ให้รุ่นน้องๆต่อไป ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการแล้ว จากนี้จะได้เริ่มทำงานอย่างเต็มที่เลย"

ปรัชญาในการดำเนินชีวิต
"ผมจะกระตือรือร้น  ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา  ห้ามมานิ่งเฉยห้ามนอนไม่อยากตื่น  ต้องวางแผน การดำเนินชีวิตตลอด  เพราะถ้าชีวิตเราขาดการวางแผน ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่าก็ได้ ความรักและความกตัญญู ต่อครูบาอาจารย์ และสถาบันที่ให้ความรู้ เป็นพื้นฐานในการปูทางสู่ความสำเร็จให้กับเรา ซึ่งในแต่ละคนจะมีไม่เท่ากัน จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง  เราทำได้สุดขีดความสามารถเท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่ขอให้ทำด้วยใจรักก็พอ"

...