แนวคิดในการอนุรักษ์สัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวด หรือสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วอย่างสิ้นเชิง ด้วยการนำสัตว์ชนิดเดียวกันที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป ถูกหยิบยกมาถกเถียงอภิปรายในหมู่นักวิชาการ นักบริหารทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่ามานานแล้ว กระทั่งมีการทดลองนำสัตว์ป่าในกลุ่มลิงและนก ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในช่วงทศวรรษ 1980 และมีความพยายามใช้การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในหลายประเทศทั่วโลก
การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ เครื่องมือชะลอวิกฤติการสูญพันธุ์
ความคิดแรกเริ่มของการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาตินั้น อาจเกิดจากแนวคิดง่ายๆ ที่มองคุณค่าด้านจิตใจ ความเมตตาและเห็นอกเห็นใจสัตว์ป่าที่ถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ จึงอยากนำสัตว์ไปปล่อย แต่ขาดการติดตามอย่างเป็นระบบ การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติลักษณะนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า เราได้ช่วยอนุรักษ์สัตว์ชนิดนั้นๆ ที่ปล่อยไปมากน้อยเพียงใด
นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน มีโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติมากกว่า 300 ชนิดในหลายกลุ่มสัตว์ จนกระทั่ง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ ไอยูซีเอ็น (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้จัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ (Reintroduction Specialist Group) ขึ้น และจัดทำเอกสารคู่มือมาตรฐานที่สามารถใช้อ้างอิงเป็นแนวทางปฏิบัติ เอกสารดังกล่าวอธิบายว่า การปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติคือ กระบวนการ หรือความพยายามในการนำสัตว์ป่าไปปล่อยในพื้นที่ที่เคยมีสัตว์ป่าชนิดนั้นอาศัยอยู่เดิม แต่อาจลดจำนวนลง หรือหมดไปจากพื้นที่นั้นแล้ว ให้ตั้งประชากรได้ โดยการเคลื่อนย้ายสัตว์เพื่อการอนุรักษ์นั้นมีเป้าหมายในการทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกที่วัดผลได้ ต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่าในระดับประชากร มีผลดีต่อสัตว์ชนิดนั้นโดยรวม ตลอดจนต่อระบบนิเวศและถิ่นอาศัย ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะตัวสัตว์ที่ปล่อยไปเท่านั้น การปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติยังมีความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชากรสัตว์ป่า ระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
...
หากจะพิจารณาใช้กระบวนการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติเป็นเครื่องมือสำหรับการอนุรักษ์ ไม่ว่าจะใช้เดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับเครื่องมืออื่น เช่น การจัดการถิ่นอยู่อาศัยและการให้การศึกษา สร้างจิตสำนึก หรือการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดหรือคุกคามทรัพยากร ก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบที่สุดเท่าที่จะทำได้
เราคงไม่สามารถใช้เครื่องมือนี้ช่วยเหลือสัตว์ป่าหายากทุกชนิดได้ ศาสตร์แห่งการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติได้พัฒนาไปจนกลายเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ต้องอาศัยความรู้สหวิทยาการเป็นเครื่องมือ ตั้งแต่การวางแผน การประเมินประชากรในธรรมชาติ การเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ให้ได้จำนวนตามต้องการ การขนย้ายสัตว์จากสถานที่หนึ่งไปสู่สถานที่ปล่อย การติดตามและการประเมินอัตราการตายและอยู่รอด พันธุศาสตร์ประชากร การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและโรคติดเชื้อระหว่างกลุ่มประชากร เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้ได้รับการจัดทำเป็นคู่มือ เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และได้รับการเผยแพร่โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติของไอยูซีเอ็น ข้อพึงพิจารณาในการนำสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งมาเข้าโปรแกรมการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติ ต้องมีกระบวนการขั้นตอนที่ถูกต้อง และได้รับพิจารณาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน มีการใช้งบประมาณ และต้องตั้งเป้าในระยะยาวอย่างชัดเจนว่า จะทำไปถึงขั้นใดจึงจะยุติโครงการ และสัตว์ที่ต้องการอนุรักษ์สามารถอยู่รอดได้เองตามธรรมชาติ
สาเหตุแห่งการสูญพันธุ์ แก้ที่เหตุแล้วป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
คำถามหนึ่งที่นักอนุรักษ์ต้องขบคิดเมื่อพูดถึงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติคือ หากสัตว์ชนิดนั้นไม่สามารถอยู่รอดในธรรมชาติได้แล้ว เราควรพยายามปล่อยหรือไม่ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
สังคมโลกได้เรียนรู้เรื่องวิกฤติการสูญพันธุ์ใหญ่ๆ มาแล้วหลายครั้ง แต่การสูญสิ้นของชนิดพันธุ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาในกรณีสัตว์ป่าถูกคุกคามจนสูญพันธุ์ คือสาเหตุของภัยคุกคามว่า เกิดจากสาเหตุตามธรรมชาติ หรือเป็นผลกระทบจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
...
เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุแห่งการสูญพันธุ์และภัยคุกคามแล้ว เราจะสามารถประเมินความเสี่ยง และโอกาสของความสำเร็จ หรือความล้มเหลวอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟูประชากรและถิ่นอาศัย ตลอดจนการสื่อสารและการทำงานกับประชาชนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ
หากประเมินแล้วพบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมในการเป็นถิ่นอาศัยยังมีอยู่ และได้รับการปกป้องที่ดีจากทั้งภาครัฐและประชาชน การวางแผนเพื่อการเพาะเลี้ยงชนิดพันธุ์สัตว์เป้าหมายเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ อาจเป็นทางเลือกที่นำมาใช้ได้ แต่ในทางกลับกัน หากผลการศึกษาพบว่า ไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับสัตว์ชนิดนั้นๆ ทางเลือกที่เหลืออาจประกอบด้วยการคัดเลือก ปรับ หรือสร้างพื้นที่ใหม่ให้มีธรรมชาติใกล้เคียงกับบ้านเดิมที่สัตว์เคยอาศัย หรืออาจจำต้องยอมรับว่า สายเกินไปที่จะช่วยให้สัตว์ชนิดนั้นๆ กลับมามีชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ และรอดูการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นในช่วงอายุของเรา
เรื่อง บริพัตร ศิริอรุณรัตน์
ภาพถ่าย อรุณ ร้อยศรี
ที่มา - National Geographic
www.ngthai.com
...