ภาพลักษณ์ของ “คนการบินไทย” ในสายตาคนภายนอกมักถูกมองว่า สวย-รวย-หยิ่ง-เห่อฝรั่ง-ไม่แคร์ไทย แต่ถ้าค้นเข้าไปลึกๆในหัวใจ “ลูกเจ้าจำปี” หลายคนคงเถียงขาดใจว่า ฉันก็หวงแหนศิลปวัฒนธรรมไทยไม่แพ้ใครในชาติ!! โดยคนการบินไทยที่เป็นต้นเสียงดังกว่าใครคือ “ครูชู-ชูศักดิ์ รังสิต” รองผู้จัดการกองวิเคราะห์ และฝึกอบรมด้านเทคนิคอุปกรณ์บริการบนเครื่องบิน ซึ่งลุกขึ้นเป็นโต้โผก่อตั้ง “กลุ่มโขนการบินไทย” เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เลื่องลือไกล พร้อมๆกับการฟื้นฟูชื่อเสียงการบินไทย ในฐานะสายการบินแห่งชาติที่คนไทยควรภาคภูมิใจ
“ครูชู” สนใจเรื่องนาฏศิลป์ไทยตั้งแต่เมื่อไหร่
ผมอยู่การบินไทยมา 34 ปี เข้ามาเป็นสจ๊วต ตั้งแต่อายุ 26 ปี และได้เจอน้องๆที่มีความรักในศิลปะไทยเหมือนกัน ผมเองมีพื้นฐานด้านนี้ เพราะโตมาในตระกูลพราหมณ์คือ รังสิต ตั้งแต่เล็กๆจึงเรียนดนตรีนาฏศิลป์ไว้เชิดชูความเป็นต้นวงศ์ ผมจบมัธยมปลายจากโรงเรียนนาฏศิลป์ โดยเรียนหลากหลายแขนง เน้นเป็นพิเศษคือ เอกดนตรีไทย “ระนาดเอก” และมีโอกาสคลุกคลีกับการแสดงโขนมาบ้าง แต่ด้วยความที่เรียนเก่ง ครูแนะแนวจึงแนะนำให้ไปเรียนต่อสายอื่น ที่ไม่ใช่นาฏศิลป์ ผมสอบติดสถาบันการบินพลเรือน หลักสูตรการบำรุงรักษาเครื่องสื่อสารการบิน ตอนนั้นใฝ่ฝันอยากเป็นนักบินมาก แต่วุฒิที่จบแค่อนุปริญญา จึงต้องผันตัวมาเป็นสจ๊วตการบินไทยแทน
...
กลุ่มโขนการบินไทยก่อตั้งขึ้นได้อย่างไร
หลังจากทำงานเป็นสจ๊วตได้สักพัก หัวหน้าผมทราบว่า “ชูศักดิ์” เล่นดนตรีได้ ตีระนาดได้ ร้องลิเกได้ พอการบินไทยจะจัดงานอะไรที ก็ชักชวนเราให้ไปร่วมแสดง ทำให้คนรู้จักว่าเราชอบทางนี้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ “คุณวิชิต ยุกตทัต” DQ การบินไทยขณะนั้น ได้มอบหมายให้ผมเป็นโต้โผจัดงาน “ลูกเรือไทยรักศิลปะไทย” ที่ศูนย์ลูกเรือ หลักสี่ เมื่อปี 2542 เพื่อต้อนรับ “ดร.อาทร จันทวิมล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ผมจึงรวบรวมลูกเรือที่มีความรักศิลปวัฒนธรรมไทย มาฝึกซ้อมการแสดงโขนการบินไทยเป็นครั้งแรก โดยได้ครูฝึกนาฏศิลป์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มาช่วยฝึกสอนเป็นพิเศษ ตั้งแต่การออกท่ารำ ไปจนถึงการรำโขน
การแสดงครั้งแรกประสบความสำเร็จด้วยดีไหมคะ
“ดร.อาทร” ชื่นชอบผลงานการแสดงของพวกเรามาก เพราะไม่นึกว่าคนการบินไทยจะชอบศิลปวัฒนธรรมไทย ท่านบอกว่าคนอย่างนี้การบินไทยต้องสนับสนุนนะ เพราะจะทะนุบำรุงให้ศิลปวัฒนธรรมไทยเจริญก้าวหน้า ท่านยังสนับสนุนให้พวกเราไปโชว์ในงานแสดงวัฒนธรรมนานาชาติระดับโลก “Summer Festival” ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงกลางปี 2543 ที่เมืองคัลตาวูตูโร เกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี โดยจะมีตัวแทนจากนานาประเทศ มาร่วมแสดงศิลปะประจำชาติทุกปี และผลัดกันเป็นเจ้าภาพจัดงาน ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, กรีซ, ญี่ปุ่น และไต้หวัน คราวนี้เรื่องใหญ่เลย ต้องตามหาสมัครพรรคพวกด่วน
ภารกิจตามล่าหาคนการบินไทยที่รักศิลปะไทย หนักหนาสาหัสมากไหม
คนการบินไทยมักถูกมองว่าสวย-หล่อ-รวย-หยิ่ง-โง่ ไม่มีใครชอบศิลปวัฒนธรรมไทย!! ทันทีที่ได้รับโจทย์มา ผมจึงต้องรีบประกาศตามหาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถด่วนจี๋ รุ่นแรกมีคนมาสมัคร 25 คน ใช้เวลาฝึก 2 เดือนเต็ม ตอนนั้น ได้ครูจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ มาช่วยฝึกให้อย่างเร่งด่วน โดยเลือกการแสดงโขนรามเกียรติ์ ชุดหนุมานจับนางสุพรรณมัจฉา มีนักแสดงมืออาชีพมาช่วยจำนวนมาก
...
“โขนการบินไทย” เติบโตรวดเร็วเป็นที่ยอมรับขนาดไหน
จากวันแรกที่มีกันอยู่ 4 คน ทุกวันนี้เรามีนักแสดงเกือบ 50 คนแล้ว พวกเราเป็นนักแสดงโดยสายเลือด เคยร้องรำทำเพลงกันมาก่อน ถ้าตัวละครตัวไหนขาดก็แสดงแทนกันได้ พวกเราเป็นคนการบินไทยที่รักทางนี้จริงๆ ยอมรับว่าสู้มืออาชีพไม่ได้หรอก แต่จะบอกทุกคนว่าขอให้เล่นให้สนุก และปล่อยพลังฝีมือเต็มที่ พวกเรายังมีหน้าที่สอดส่องมองหานักแสดงใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน นอกจากนี้ ยังมีนักบิน, วิศวกร, พนักงานฝ่ายภาคพื้น ตลอดจนลูกหลานคนการบินไทย เราตระเวนไปแสดงมาหลายเวที ตั้งแต่งานสำคัญๆภายในองค์กร ไปจนถึงงานใหญ่ระดับชาติ เช่น การไปออกรายการ Thailand Got Talent, การนำโขนการบินไทยเรื่องรามเกียรติ์ ตอนจองถนน ไปจัดแสดงที่ญี่ปุ่น และการเป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแสดงโขนรามเกียรติ์ ตอนยกรบ ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นที่ประจักษ์
...
จีบยากไหมกว่าแต่ละคนจะเคลียร์คิวว่างมาร่วมแสดงได้
แต่ละคนก็มีเรื่องราวสนุกสนานไม่เหมือนกัน อย่างสมาชิกคนล่าสุด ผมวางตัวให้รับช่วงสืบสานดูแลกลุ่มโขนการบินไทยในอนาคต เพราะเป็นนักบินระดับอาจารย์ ชื่อว่า “กัปตันหนึ่ง-สินนภ เทพรักษา” ผมเล็งเขามานานแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นคนนิสัยดี และเป็นนักกีฬา กระทั่งเมื่อปีที่แล้วมีโอกาสได้นั่งกินข้าวกัน ระหว่างที่บินไปรับเครื่องบินโบอิ้ง ที่ซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา โดย “กัปตันหนึ่ง” เป็นไพล็อต เทสต์ ไฟลต์ ส่วนผมเป็นเคบิน เทสต์ ไฟลต์ผมก็เล่าให้กัปตันฟังว่าเดือนสิงหาคมนี้ (ปี 2556) จะมีการแสดงโขนใหญ่ของกลุ่มโขนการบินไทย เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ พวกเราไม่ได้แสดงมานาน 3 ปีแล้ว กลับมาครั้งนี้ก็อยากให้พิเศษกว่าเดิม
อะไรดลใจให้ “กัปตันหนึ่ง” สนใจเล่นโขน ทั้งๆที่ขับแต่เครื่องบินมาทั้งชีวิต
กัปตันหนึ่ง : ผมเป็นกัปตันการบินไทย 22 ปี เคยได้ยินชื่อเสียงว่า “คุณชู” เป็นโต้โผในการเล่นโขน แต่ผมเพิ่งจะมาสนใจตอนที่ “คุณชู” ทาบทามว่า สนใจให้ลูกชายเล่นเป็นลิงไหม กำลังหาตัวแสดงลิงเพิ่ม ผมก็ตอบไปว่าได้ครับ เพราะลูกชายผมเล่นโขนจิ๋วเป็นตัวลิง อยู่ที่สาธิต ประสานมิตร และมักขอให้พ่อตั้งฐานแสดงเป็นยักษ์เพื่อเอาลิงขึ้นลอย คุยกันสักพัก “คุณชู” โน้มน้าวว่า ไหนๆมาแล้วก็เล่นคู่กับลูกเป็นโขนพ่อลูกเลยล่ะกัน ผมเป็นคนชอบลองอะไรใหม่ๆ จึงรับปากยอมเล่นเป็นยักษ์คู่กับลูก ทั้งๆที่ยังใส่ชุดนอนอยู่ในโรงแรม “คุณชู” ก็หยิบตะหลิวมาสอนผมตั้งท่ายักษ์กันสดๆ
...
องค์ประกอบสำคัญของการเป็นนักแสดงโขนคุณภาพต้องมีอะไรบ้าง
ท่าทาง, ลีลา และอารมณ์ อย่างผมรับบทเป็น “ลิงหนุมาน” ก็ต้องแสดงออกให้เห็นถึงความซุกซนขี้เล่น และต้องตีลังกาได้ ส่วนคนเล่นเป็น “ยักษ์ทศกัณฐ์” ก็ต้องดูขึงขังมีท่าทางของยักษ์ ลีลาทศกัณฐ์ และอารมณ์ของผู้บริหารระดับสูง เพราะเป็นเจ้ากรุงลงกา ผมบอกน้องๆเสมอว่า การจะมาแสดงโขน ทุกคนต้องมีครูหมด และต้องเข้าพิธีครอบครูทุกคน เราจะไม่รับคนที่เว่อร์ๆเลย ทุกคนต้องนับถือครูบาอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นครูจริงๆ ครูพักลักจำ หรือครูยูทูบ แต่ต้องมีฐานสำคัญคือ มีหัวใจอยากอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ภายหลังผมยังได้เชิญ “ครูประสิทธิ์ คมภักดี” และ “ครูมณีรัตน์ มุ่งดี” ศิลปินอาวุโสจากกรมศิลปากร มาเป็นครูฝึกสอนตัวพระ, ตัวนาง รวมถึงการรำท่าต่างๆ เช่น กินรี, ฉุยฉายพราหมณ์, พระรามตามกวาง กระทั่งมาถึงการแสดงโขน เราฝึกซ้อมกันจนสามารถแสดงโขนชุดใหญ่ๆ
มีเวลาฝึกซ้อมจริงจังไหมคะ เพราะลักษณะงานจัดสรรเวลาตรงกันยาก
พวกเราจะฝึกซ้อมกันทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ หลายคนติดภารกิจในการบินก็ยังแบ่งเวลาฝึกซ้อมไม่ขาด เราไม่เคยบังคับว่าใครต้องมาซ้อม เพราะการที่ใครสักคนเดินออกไปจากกลุ่ม เพราะอึดอัดเรื่องเวลา มันบีบหัวใจมากนะ รู้สึกเสียดาย!! พวกเรายังอยู่กันเหนียวแน่น ก็เพราะมีหัวใจเดียวกันคือ หัวใจอนุรักษ์ศิลปะไทย
เด็กรุ่นใหม่ตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยแค่ไหน
เรื่องนี้เราพยายามกันมาตลอด อย่าง “กัปตันหนึ่ง” ก็ช่วยได้มาก เพราะเป็นอาจารย์ด้วย ทำให้มีลูกศิษย์เยอะ เวลาสอนหนังสือก็จะคอยสอดแทรกว่า นอกจากการทำงานตามหน้าที่แล้ว ภายในการบินไทยยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์มากมายที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้นะ ผลปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับดีเกินคาด เพราะมีคนการบินไทยรุ่นใหม่ที่รักศิลปะไทยมากกว่าที่คิดเยอะ
กลัวไหมว่าสิ่งที่เราสร้างมากับมือจะไม่มีคนสืบสานต่อไป
แม้ผมจะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.นี้ แต่เชื่อมั่นว่า “โขนการบินไทย” จะต้องคงอยู่ต่อไปอีกหลายสิบปี ผมตั้งจั่วตั้งเสาไว้แล้ว เหลือแต่การตีฝาบ้านกั้นห้องให้เป็นสัดส่วน ก็ต้องอาศัยน้องๆช่วยสืบสานต่อไป ตัวผมเองเตรียมฝึกน้องๆขึ้นมารับช่วงเป็น “หนุมาน” แทน แต่ยังไงก็จะอยู่ช่วยดูแลโขนการบินไทยแน่นอน โดยปีหน้ามีงานแสดงใหญ่รออยู่หลายงาน งานใหญ่สุดคือ งานซัมเมอร์ เฟสติวัล ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะรุ่นพี่ที่ทำงานมานาน ผมบอกได้เลยว่า ลูกเรือการบินไทยจะมีความสุขที่สุดเมื่อผู้โดยสารพึงพอใจกับบริการของเรา และกลับมาใช้บริการอีกเรื่อยๆ ผู้โดยสารหลายคนเลือกบินการบินไทย เพราะประทับใจในบริการที่อ่อนหวานของคนไทย ประทับใจในไอศกรีมมังคุด ที่เคยเสิร์ฟเฉพาะเครื่องการบินไทย ผมก็อยากให้การแสดงโขนการบินไทย เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดให้คนเลือกบินการบินไทย กลายเป็นซิกเนเจอร์ที่ทุกคนกล่าวขวัญถึง ทุกชาติมีศิลปวัฒนธรรมโดดเด่นของตัวเอง และผมเชื่อว่า ศิลปะไทยงดงามยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชาติไหนในโลก.
ทีมข่าวหน้าสตรี