เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมน้ำตาถึงไหลออกมาได้ ไทยรัฐออนไลน์จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับน้ำตามากยิ่งขึ้น...
ว่าด้วยเรื่องของน้ำตา บ่อเกิดของน้ำตาคืออะไร มีที่มาที่ไปยังไง แล้วน้ำตามันไหลออกมาได้ยังไง มีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง ลองไปทำความรู้จักกับมันดูซะหน่อย
น้ำตามาจากไหน ใครส่งมา...?
คนเราเกิดมาสิ่งแรกที่ต้องสำแดงฤทธิ์ขึ้นเมื่อออกมาจากท้องแม่นั้นก็คือ ร้องไห้ อุแว้ๆๆๆ เสียงดัง เสียงเบาไม่เท่ากันแล้วแต่ใครมีพละกำลังในการแผดเสียงออกมามากกว่ากัน ยิ่งถ้าร้องไห้หนักๆ นั้นก็แสดงว่า เป็นการส่งสัญญาณที่สมบูรณ์แบบของเด็กทารก
เห็นไหมว่าไม่มีใครเกิดมาไม่เคยร้องไห้ ไม่เคยเสียน้ำตา อยู่ที่ว่าใครจะร้องไห้ง่าย ร้องไห้ยากต่างกันไปในแต่ละคน
น้ำใสๆ ที่ไหลออกจากดวงตาเวลาที่เราร้องไห้ เกิดขึ้นได้เพราะความทุกข์เศร้า ผิดหวัง เจ็บปวด หรือแม้ในยามที่เราดีใจ ตื้นตันใจ มันน่าจะมีประโยชน์อะไรอีกหรือไม่ นอกจากจะใช้เป็นเครื่องมือในการระบายความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา มาดูถึงประโยชน์ของเจ้าน้ำตากันว่าจะมีอะไรบ้าง ?
...
โดยปกติน้ำตาของคนเรามีการสร้างอยู่ตลอดเวลา หลายคนอาจคิดว่าน้ำตาสร้างเฉพาะตอนที่คนเราร้องไห้ น้ำตาที่ออกมามากในช่วงมีอารมณ์เศร้า หรือเจ็บปวดเรียกกว่า reflex tear เกิดจากการสั่งของระบบประสาท เมื่อมีการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม ดาราเจ้าน้ำตาทั้งหลายสามารถสร้างน้ำตาชนิดนี้ได้มาก รวมทั้งกรณีที่มีฝุ่นผงเข้าตา หรือมีการอักเสบของเยื่อบุตา แต่โดยปกติคนเราจะมีการสร้างน้ำตาตลอดเวลา เราเรียกว่า basic tear ซึ่งเป็นส่วนที่สร้างโดยต่อมที่อยู่บริเวณเยื่อบุตา เป็นตัวที่ช่วยทำหน้าที่ต่างๆ
น้ำตาหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตา ซึ่งอยู่ใต้เปลือกตา ทางเหนือตาใต้ขมับต่อมน้ำตาปล่อยน้ำตาออกมาทางท่อต่อมน้ำตาซึ่งเป็นท่อเล็กๆ รวมหลายท่อ แต่ละครั้งที่เปลือกตากะพริบ จะมีของเหลวขับออกมาจากต่อมน้ำตาเล็กน้อย น้ำตาจึงเป็นของเหลวที่หล่อเลี้ยงลูกนัยน์ตาอยู่ตลอดเวลาอย่างสม่ำเสมอ
น้ำตาทำให้ดวงตาไม่แห้ง มิฉะนั้นตาอาจจะบอดได้ และน้ำตาช่วยทำให้ดวงตาสะอาดปราศจากฝุ่นธุลี ผง ดวงตาจึงปลอดจากเชื้อโรค เพราะในน้ำตามีเอนไซม์ที่สามารถทำลายจุลินทรีย์บางชนิด เมื่อน้ำตาไหลหล่อลื่นลูกนัยน์ตาแล้ว ก็จะออกไปทางรูปิดเล็กๆ สองรูตรงมุมนัยน์ตาด้านจมูก เข้าท่อไปสู่ถุงตา แล้วไหลต่อไปตามท่อน้ำตา ท่อนี้ยาวลงมาตามรูจมูก และในที่สุดน้ำตาก็ออกมาทางช่องจมูกชุ่มชื้น
น้ำตาหลั่งออกมาจากต่อมน้ำตามากขึ้นเมื่อมีแสงแดดจ้า ลมแรง ฝุ่นเข้าตา เชื้อโรคเข้าตา เป็นต้น และที่เรารู้ๆ กันอยู่ ก็คือ เมื่อมีอารมณ์บางอย่าง เช่น เศร้าเสียใจรุนแรง หรือดีใจเต็มที่ กล้ามเนื้อรอบๆ ต่อมน้ำตา จะบีบรัดทำให้น้ำตาไหลออกมามากผิดปกติ จนล้นขอบตาไหลลงมาบนใบหน้า และน้ำตาส่วนหนึ่งวิ่งผ่านทางท่อน้ำตาออกทางจมูกมาก ทำให้เกิดมีน้ำมูกออกมาเวลาร้องไห้
น้ำตามีรสเค็ม ทั้งนี้เพราะมีเกลือโซเดียมคลอไรด์ หรือที่เรียกกันว่าเกลือแกง เกลือโซเดียมไบคาร์บอเนต และยังมีสารอื่นอีก เช่น โปรตีน โปรตีนบางชนิดช่วยให้นัยน์ตามีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ และบางชนิดก็เกิดขึ้นมาเมื่อมีความกดดันทางอารมณ์ ได้เคยมีนักวิทยาศาสตร์ (ดร.วิลเลียม เอช เฟรย์) ทำการตรวจสอบ น้ำตาที่ไหลออกมาเมื่อมีเรื่องเศร้า สะเทือนใจ พบว่ามีโปรตีนมากกว่า น้ำตาที่ไหลออกมาเพราะหัวหอมเป็นเหตุถึง 21 %
“มีการร้องไห้เพียง 1 ใน 3 ที่เกี่ยวโยงกับอารมณ์ที่ดีขึ้น” โจนาธาน รอตเทนเบิร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยเกี่ยวกับอารมณ์และการร้องไห้ สรุป
การศึกษานี้พบหลักฐานน้อยมากที่บ่งชี้ผลแง่บวกทางจิตวิทยาจากการร้องไห้ แต่ที่น่าสนใจคือ อาสาสมัครที่สะอื้นรุนแรงที่สุด แต่ไม่ใช่ในระยะเวลานานที่สุด ได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุดจากการคร่ำครวญหรือจะให้ตรงประเด็นคือ จากการเช็ดน้ำตา “การร้องไห้ไม่ได้ดีต่ออารมณ์เหมือนที่หลายคนคิด” รอตเทนเบิร์กสำทับ และแทนที่จะสนับสนุนให้ร้องไห้ รอตเทนเบิร์กบอกว่า ควรส่งเสริมให้คนเราสร้างเสริมเครือข่ายสังคมจะเหมาะสมกว่า
“การร้องไห้ช่วยได้ไม่ใช่เพราะน้ำตา แต่เป็นเพราะอาการนี้เรียกร้องการสนับสนุนจากคนรอบข้างได้ และดึงดูดความสนใจมายังปัญหาที่สำคัญ” รอตเทนเบิร์กอธิบาย
แสร้งร้องไห้...ง่ายนิดเดียว !
ThaiActing ได้แนะวิธีการร้องไห้ ทำให้น้ำตาไหลพรากๆ กันแบบฉบับนักแสดงหลายๆ คนปฏิบัติกัน นักแสดงมืออาชีพขนาดที่ว่าสามารถจะสั่งให้น้ำตาไหลตอนไหนก็ได้ ง่ายนิดเดียว !!
เทคนิคการร้องไห้นั้นมีมากมายสารพัด ถ้าเราต้องการร้องไห้ ให้น้ำตาไหล โดยไม่ต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดตาให้อายทีมงานหรือคนที่มามุงดูนั้น ขอเลือกมาสัก 10 เทคนิคก็แล้วกัน
1. ไปแอบหยอดน้ำตาเทียมในที่ลับตาคน ไม่ให้คนอื่นเห็น
2. หายใจสั้น ๆ ถี่ ทางจมูก เหมือนให้ลมมันพุ่งขึ้นไปกระแทกต่อมน้ำตา
3. ไม่กระพริบตานาน ๆ หรือจะเสริมด้วยการจ้องดวงไฟนาน ๆ
4. แอบป้ายยาดม หรือยาหม่องใต้ตา
5. คิดถึงประสบการณ์ชีวิตตัวเองที่เคยเสียใจจนร้องไห้
6. จินตนาการว่าสัตว์เลี้ยงหรือคนที่เรารักมาก ๆ ตาย
ถ้าทำแล้วน้ำตาเริ่มเอ่อ ก็พัฒนาความเสียใจที่เกิดขึ้นนี้ไปยังความรู้สึกของตัวละครที่กำลังจะแสดง แต่ถ้าอยากเป็นนักแสดงที่เฉียบคมกว่านี้ ต้องลองทำแบบ 4 ข้อหลัง
7. ผ่อนคลาย คาดหวังผลลัพธ์ที่จะออกมาอย่างยอดเยี่ยม แต่ไม่บังคับตัวเองให้ต้องร้องไห้ ไม่ต้องปั้น ไม่ต้องเค้น
8. มีสมาธิอยู่กับเรื่องราว เข้าใจว่าตัวละครกำลังอยู่ในสถานการณ์อะไร และเชื่อว่าตัวละครร้องไห้ได้ถ้าต้องตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว
9. เชื่อว่าเราเป็นตัวละครตัวนั้น ขจัดความคิดอื่น ๆ ทิ้งไป แบ่งสติเล็กน้อยมามีสมาธิอยู่กับคิวและตำแหน่งที่ซ้อมเอาไว้แล้ว
10. แสดงเป็นตัวละครตัวนั้น ปล่อยความรู้สึกแสดงออกมาแบบสด ๆ วินาทีต่อวินาที
"มันไม่สำคัญหรอกที่เราจะร้องไห้มากหรือน้อย มีน้ำตาหยดเดียวหรือไหลอาบแก้มเป็นทาง เพราะเราให้ความสำคัญกับความรู้สึกของตัวละคร ไม่ใช่น้ำตาของนักแสดง"
แต่ก็ยังมีพฤติกรรมของคนบางจำพวกที่ชอบแสร้งร้องไห้ บีบน้ำตา เพื่อเรียกคะแนนความสงสาร หรือว่าด้วยวัตุประสงค์อะไรสักอย่างก็สุดแล้วแต่
...
นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล จิตแพทย์ชื่อดัง ได้กล่าวไว้ในแฟนเพจว่า...
"พฤติกรรมการแสร้งร้องไห้ไม่ใช่คนป่วยเป็นโรคจิตนะครับ แต่เป็นลักษณะของพวกบุคลิกภาพแบบหนึ่งที่เป็นแบบ superficial หรือพวกผิวเผิน ฉาบฉวย ไปตามอารมณ์ ณ เวลานั้น ...ชาวบ้านเรียก “ดราม่า” ครับ ...ทำบ่อยๆ ก็เคยชิน คิดว่าตัวเองเป็นตัวละครในทีวี"