ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ (ที่ 3 จากขวา) ร่วมด้วย ผศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร (ซ้ายสุด) และ นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์  (ขวาสุด) พร้อมคณะแพทย์จาก รพ.ศิริราช มาร่วมให้ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่.

จากที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก “แองเจลิน่า โจลี่” ดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 ข้าง เพราะพบความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในอนาคต กลุ่มมะเร็งเต้านม สถาบันวิทยามะเร็งศิริราช จึงจับมือกับ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ศีรษะ–คอและเต้านม ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นเสือปืนไวใช้เหตุการณ์ฮอตดังกล่าว เพื่อให้ความรู้แก่คนไทยด้วยการจัดเสวนาพิเศษในหัวข้อ  “การตรวจ
เพื่อทำนายมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ แนวทางการดูแล บทเรียนจาก Angelina Jolie” ที่ห้องประชุมอทิตยาทรกิติคุณ ตึกสยามินทร์  รพ.ศิริราช เมื่อเร็วๆนี้


ศ.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ กล่าวเริ่มต้นว่า จากข่าวนี้ก่อให้เกิดความสนใจเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม  และมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสังคมกันมากขึ้น มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก รวมทั้งหญิงไทย ในประเทศไทยมีผู้ป่วยใหม่ปีละกว่า 10,000 ราย และมีแนวโน้มสูงขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันทำให้เราทราบว่า  ผู้ป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากโรคมะเร็งพันธุกรรม ที่สามารถถ่ายทอดได้จากพ่อแม่สู่รุ่นลูก คาดการณ์ว่าผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยรวมร้อยละ 5-12 เกิดจากโรคพันธุกรรม  การมองหาโรคพันธุกรรมมะเร็งนี้ดูได้ง่าย จากการพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่าคนทั่วไป เช่น เกิดมะเร็งเต้านมเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี หรือพบว่ามีผู้เป็นมะเร็งเต้านมทั้ง 2 ข้าง, การพบมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่คนเดียวกัน  และการมีประวัติการเป็นมะเร็งดังกล่าวหลายคนในครอบครัว ส่วนโรคพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุสำคัญที่พบบ่อย มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของยีน ที่ชื่อ บีอาร์ซีเอ 1 และบีอาร์ซีเอ 2 ซึ่งผู้ที่ตรวจพบการกลายพันธุ์ของยีนทั้ง 2 นี้จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่ และความเสี่ยงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น คือผู้หญิงที่มีการกลายพันธุ์จะมีโอกาสสูงถึงร้อยละ 80 ที่จะ เกิดมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิต และมีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ ประมาณร้อยละ 50

ด้าน ผศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร กล่าวว่า คนที่เป็นโรคมะเร็งพันธุกรรม ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับโรคมะเร็ง แต่หมายถึงร่างกายมีความเสี่ยงสูงมากกว่าคนทั่วๆไป ถ้าเรารู้ก่อนก็จะทำให้เรามีการเฝ้าระวัง คือ ต้องดูแลตัวเองให้ลดความเสี่ยง อย่างกรณี “แองเจลิน่า โจลี่” ตรวจเมื่อเขาสงสัยว่า จะมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งเธอมีความเสี่ยงสูง จึงผ่าตัดเพื่อลดความเสี่ยง การตรวจเลือด หรือ DNA เพื่อหาความเสี่ยงโรคนี้ โรงพยาบาลศิริราชเราได้ทำแล้วหลายปีที่ผ่านมามีประมาณ 60 ครอบครัว แต่มีค่าใช้จ่ายสูง มีความซับซ้อนซึ่งใช้เวลา 4-6 เดือน ซึ่งอุบัติการณ์ในประเทศไทยมีจำนวนไม่มาก เท่ากับต่างชาติ เราพบการกลายพันธุ์ของยีน 4 ครอบครัวใน 60 ครอบครัวที่มารับการตรวจ

ส่วน นพ.วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผ่าตัดเต้านม ไม่เสียรูปลักษณ์เต้านมอีกต่อไป เพราะสามารถทำการผ่าตัดเฉพาะเนื้อเต้านมออกไป และเก็บส่วนผิวหนัง หัวนมและลานหัวนมไว้ เพื่อทำการเสริมเต้านมในการผ่าตัดครั้งเดียวกันได้ หรือจะผ่าตัดเสริมทีหลังก็ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งการผ่าตัดสามารถใช้ได้ทั้งที่เป็นเนื้อเยื่อของตนเอง หรือใช้เต้านมเทียม และการเสริมเต้านมนี้ไม่มีผลต่อการเกิดเป็นซ้ำ เพียงแต่การตรวจติดตามผล อาจจะแตกต่างจากคนทั่วไปเท่านั้น.

...