หากกล่าวถึงทวีปแอนตาร์กติกานั้น เราจะนึกถึงทวีปที่อยู่ห่างไกลที่สุดในโลก แต่ทวีปนี้ก็เป็นศูนย์กลางของนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกในการสำรวจ และเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งรู้ไหมว่าทวีปนี้ถูกค้นพบโดยนักเดินเรือชาวรัสเซียเมื่อ 200 ปีที่แล้ว
เมื่อ 25 ม.ค.1820 เป็นวันที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์โลกอีกครั้งเมื่อทวีปที่หกของโลกถูกสำรวจครั้งแรกโดยนักเดินเรือชาวรัสเซีย ชื่อเฟดเดย์ เบลลิ่งฮาวเซน และมิคาอิล ลาซาเรฟ
เดือน ก.ค.1819 หลังจากที่ได้เตรียมการมาเป็นระยะเวลานาน จึงได้ข้อสรุปว่าจะใช้เรือสองลำคือ “เรือวอสต็อก” และ “เรือมีร์นึย” ออกเดินทางจากเกาะครอนสตาดท์ ไม่ไกลจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ในช่วงเวลาการเดินทางนั้นมีเวลายาวนานมาก ผ่านบราซิลไปมหาสมุทรอินเดีย และข้ามผ่านเส้นแอนตาร์กติกเซอร์เคิลในวันที่ 26 ม.ค.1820 และได้กลายเป็นนักเดินเรือชาวรัสเซียคนแรกของโลกที่ได้เห็นทวีปแอนตาร์กติกา
ต่อมาในกลางเดือน เม.ย. เรือวอสต็อก ได้เทียบท่าที่พอร์ตแจ็คสัน ออสเตรเลีย (ปัจจุบันคือนครซิดนีย์) หลังจากนั้นอีก 7 วัน เรือมีร์นึยก็ตามมา ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในช่วงแรกของพวกเขา ไม่นานหลังจากนั้นเบลลิงฮาวเซน และลาซาเรฟก็ได้เดินทางออกไปสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาอีกหลายครั้ง
นักเดินเรือชาวรัสเซียใช้เวลาในการเดินทางรวมทั้งสิ้น 751 วัน โดยเป็นระยะทางกว่า 92,000 กิโลเมตร ค้นพบเกาะใหม่ๆ 29 แห่ง และ 1 แนวปะการัง ทำให้การสำรวจครั้งนี้ได้ข้อมูลทางวิทยา ศาสตร์มาอย่างเพียงพอที่จะทราบลักษณะของทวีปแอนตาร์กติกา ไปจนถึงการวิจัยที่สำคัญๆในเรื่องสมุทรศาสตร์
...
ในยุคสมัยใหม่นั้น การสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาได้กลายเป็นความร่วมมือในระดับนานาชาติไปแล้ว จากการตัดสินใจที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีข้อพิพาทกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาแอนตาร์กติกเมื่อ 60 ปีก่อน ซึ่งกำหนดหลักการในการดำเนินกิจการต่างๆ ในทวีปแอนตาร์กติกาไว้
“ประการแรก คู่สัญญาจะต้องใช้ทวีปแอนตาร์กติกาเพื่อให้เกิดความสงบสุขเท่านั้น ต้องรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ห้ามทำกิจการที่เป็นการหาประโยชน์กับทรัพยากรแร่ธาตุในทวีปนี้ แต่ให้เป็นไปเพื่อการ ทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น สนธิสัญญายังห้ามการสร้างฐานทัพทางทหาร การ ทดลองอาวุธทางทหาร และการทดสอบอาวุธทุกประเภท และยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อผลประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ”
นักสำรวจจากสหภาพโซเวียตเข้ามาสำรวจในทวีปแอนตาร์กติกาครั้งแรกในปี 1955 และได้สร้างสถานที่สำรวจทางวิทยาศาสตร์ขึ้น ชื่อมีร์นึย (Mirny) สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในบริเวณชายฝั่ง หลังจากนั้น 3 ทศวรรษ ได้มีสถานีสำรวจเพิ่มขึ้นอีก 7 แห่ง
หนึ่งในนั้น สถานีวอสต็อก ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่เรียกว่าปริซเซส อลิซาเบธ บริเวณตอนใต้ของขั้วโลก ซึ่งที่เป็นที่ที่วัดอุณหภูมิได้ต่ำที่สุดบนโลก-89.2 องศาเซลเซียส การวิจัยจะรวมถึงการขุดเจาะแกนน้ำแข็ง และแกนแม่เหล็ก เพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ และการทำงานที่เหมาะสมสำหรับนักสำรวจขั้วโลกรัสเซียในทวีปแอนตาร์กติกา
ปัจจุบันนี้รัสเซียจัดทำโครงการวิจัยที่ซับซ้อนมากมายในเขตอาร์กติก และทวีปแอนตาร์กติกา ในเรื่องการศึกษาสมุทร ศาสตร์ ฟิสิกส์น้ำแข็ง น้ำทะเล และน้ำบนพื้นดิน อุตุนิยมวิทยา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ การศึกษาน้ำทะเลที่เป็นน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็ง และภูมิศาสตร์เขตขั้วโลก
จากการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียทำให้เราได้พบแผนที่อากาศแบบดิจิทัลของมหาสมุทร ชั้นบรรยากาศ และน้ำแข็งที่เกิดจากทะเลในมหาสมุทรอาร์กติก ทุกอย่างที่กล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก
มองกลับไปตอนนั้น สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้แถลงจุดยืนร่วมกันในเรื่องการไม่ยอมรับข้อเรียกร้องใดๆ และปฏิเสธที่จะแบ่งทวีปแอนตาร์กติกาออกเป็นส่วนต่างๆ ดังนั้น เพื่อรักษาทวีปนี้ให้เป็นมรดกร่วมกันของมนุษยชาติจึงมีการดำเนินการทำโครงการวิจัยเพื่อประโยชน์ของทุกคน
การประชุมคณะที่ปรึกษาของสนธิสัญญาแอนตาร์กติกครั้งที่ 43 ซึ่งจัดขึ้นในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีนี้ โดยปีนี้จะเป็นปีครบรอบ 200 ปีของการค้นพบทวีปแอนตาร์กติกาโดยนักสำรวจชาวรัสเซียอีกด้วย ทำให้จัดว่าเป็น “ปีแห่งแอนตาร์กติกา” จากผลการค้นพบทวีปแห่งนี้ครั้งแรกในครั้งนั้น
...
ในปีที่ผ่านมานักสำรวจรัสเซียได้นำเรือ 3 ลำย้อนเส้นทางในอดีต ได้แก่เรือพัลลาดา เรือครูเซนสเมิร์น และเรือเซดอฟ ซึ่งลำหลังสุดจะกลับมาที่เมืองคาลินินกราดใน 12 ธ.ค.2020 โดยเป็นเรือที่มีระยะทางการเดินทางมากที่สุด 64,710 กิโลเมตร โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ เรือทั้งสามลำนี้จะไปพบกันที่จุดที่ใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งจุดพบกันจะอยู่บริเวณเกาะจอร์เจียใต้ในแอตแลนติก และจะมีการแข่งเรือเกิดขึ้นที่นั่นอีกด้วย
ในกลางเดือน พ.ย.นี้ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย ประจำประเทศไทย จะจัดงานนิทรรศการภาพถ่ายถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยนิทรรศการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากชมรมภูมิศาสตร์รัสเซีย โดยในงานจะมีการจัดแสดงภาพถ่ายของนักสำรวจชาวรัสเซียที่จะจัดแสดงเป็นครั้งแรกด้วยที่ประเทศไทย.