ชาวโรมันมีปัญหาใหญ่เรื่องขยะ ปัญหาของพวกเขา ได้แก่ คนโทสองหู ที่เรียกว่า แอมโฟรา (amphora) ชาวโรมัน ต้องใช้คนโทดินเผาดังกล่าวนับล้านๆ ใบ เพื่อบรรจุเหล้าองุ่น น้ำมันมะกอก และน้ำปลา ก่อนส่งลงเรือไปทั่วจักรวรรดิ ในกรุงโรมมีเนินเขาพื้นที่ 13 ไร่ สูง 50 เมตรอยู่ลูกหนึ่ง ชื่อ มอนเตเตสตาโช (Monte Testaccio) ซึ่งเต็มไปด้วยคนโทแตกๆ กองพะเนิน นักโบราณคดีชาวสเปน ผู้ขุดสำรวจกองคนโทนี้ เชื่อว่า แอมโฟราน่าจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในศตวรรษที่หนึ่ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่จักรวรรดิโรมันกำลังก้าวสู่ความรุ่งเรืองถึงขีดสุด

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นที่เมืองอาร์ล บนฝั่งแม่น้ำโรน ในบริเวณที่ปัจจุบัน คือ พื้นที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส พวกกุลีทำสิ่งที่ต่างออกไปเล็กน้อย โดยโยนคนโทเปล่าลงในแม่น้ำ เมืองอาร์ล ในศตวรรษที่หนึ่งเป็นทางผ่านอันรุ่งเรืองสู่ดินแดนของชาวกอลในสมัยโรมัน และเป็นจุดขนถ่ายสินค้าจากดินแดนต่างๆ ทั่วแถบเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อลงเรือ จากนั้นคนงานบนฝั่งจะช่วยกันลากเรือขึ้นไปตามแม่น้ำโรน เพื่อนำไปส่งยังดินแดนทางเหนือของจักรวรรดิ

...

ในย่านใจกลางเมืองบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโรน เรายังเห็นอัฒจันทร์รูปครึ่งวงกลมที่จุผู้ชมได้ถึง 20,000 คน ที่เข้ามาชมการต่อสู้ของแกลดิเอเตอร์ แต่ร่องรอยของท่าเรือที่เคยหล่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้ และที่ทอดยาวต่อเนื่องไปราวหนึ่งกิโลเมตร หรือมากกว่าตามริมฝั่งขวาของแม่น้ำ บัดนี้ไม่หลงเหลืออะไรให้เห็นมากนัก มีก็แต่เพียง “เงา” จากอดีตในรูปของแนวขยะของชาวโรมัน ที่ทับถมกันเป็นสันหนา

คนโทอาจเป็นขยะในสายตาของชาวโรมัน แต่พวกเราในปัจจุบันคงไม่คิดเช่นนั้น เมื่อฤดูร้อนปี 2004 นักดำน้ำ คนหนึ่งที่ลงไปสำรวจกองขยะดังกล่าว เพื่อค้นหาโบราณวัตถุล้ำค่า สังเกตเห็นไม้กองหนึ่งนูนขึ้นมาจากโคลนลึกสี่เมตร ปรากฏว่านั่นคือกราบซ้ายด้านท้ายของเรือท้องแบนยาว 31 เมตร ลำเรือแทบไม่บุบสลาย ส่วนใหญ่ฝังอยู่ใต้โคลนและกองคนโทที่ช่วยรักษาสภาพเรือมาตลอดระยะเวลาเกือบ 2,000 ปี

ลุก ลง วัย 61 ปี ทำงานกับแผนกวิจัยโบราณคดีใต้น้ำและทางทะเล (Le Département des Recherchés Archéologiques Subaquatiques et Sous-marines: DRSSM) ของรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สมบัติของชาติ ที่จมอยู่ใต้น้ำ เขากับอัลแบร์ อียูซ เพื่อนซึ่งเป็นทั้งนักดำน้ำและนักล่าเรืออับปาง มาที่แม่น้ำอาร์ลในเช้าวันเสาร์วันหนึ่งของเดือน พ.ย. ตรงจุดที่อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุในปัจจุบันพอดิบพอดี อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ประมาณ 9 องศาเซลเซียส น้ำเป็นฟองฟอดและส่งกลิ่นเหม็น เพราะใกล้ๆ กันนั้นเป็นจุดระบายน้ำเสีย ลงมองเห็นทัศนวิสัยข้างหน้าไม่เกินหนึ่งเมตร ซึ่งสำหรับแม่น้ำโรนแล้วต้องถือว่าเป็นวันที่แจ่มใส กระแสน้ำเชี่ยวกรากปะทะเขาอย่างแรงจนทำให้รู้สึกกลัว ลึกลงไปราวหกเมตร ลงรู้สึกว่าตัวเองกำลังเกาะอยู่กับอะไรบางอย่าง ซึ่งปรากฏว่าเป็นฝาครอบล้อรถ เขาคลำทางไปยังส่วนที่นั่งคนขับอย่างช้าๆ และกลัวๆกล้าๆ และพบคนโทโรมันใบหนึ่งอยู่บนที่นั่งคนขับ

จากนั้นทั้งเขาและอียูซก็แหวกว่ายอยู่ท่ามกลางคนโทที่กองเรียงรายเต็มพื้นที่กว้างใหญ่ ลงไม่เคยเห็นคนโทในสภาพดีจำนวนมากมายเช่นนี้มาก่อน เขามองเห็นอนาคตรออยู่เบื้องหน้า

ตลอดช่วง 20 ปีแรก งานของลงไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไรนัก พอถึงปี 2004 เมื่อทีมงานของเขาค้นพบเรือท้องแบนที่ลงตั้งชื่อให้ว่า อาร์ล-โรน 3 (Arles-Rhône 3) เขาไม่คิดว่าจะสามารถหาเงินมากู้เรือได้ ลงกับเพื่อนร่วมงาน คนหนึ่งเลื่อยชิ้นส่วนเรือที่โผล่พ้นโคลนขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วนำไปวิเคราะห์อย่างละเอียด ต่อมาในปี 2007 นักโบราณคดีสามคนที่อายุน้อยกว่าเขา ได้แก่ ซาบรีนา มาร์ลีเย, ดาวิด ชาวี และ แซนดรา เกรก ได้เข้ามาสานต่อการศึกษาเรือ อาร์ล-โรน 3

ก่อนจะสิ้นสุดฤดูดำน้ำในปีนั้น นักดำน้ำชื่อปีแยร์ ยูสตีนีอานี ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เจอซากเรือ อาร์ล-โรน 3 พบรูปสลักที่ทำให้เรือลำนี้ได้รับความสนใจในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของการค้นพบครั้งสำคัญ นั่นคือ รูปสลักหินอ่อนครึ่งตัวที่ดู คล้ายจูเลียส ซีซาร์ ที่ผ่านมารูปเหมือนของซีซาร์เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง และนี่อาจเป็นประติมากรรมเพียงชิ้นเดียวที่หลงเหลือ ซึ่งทำขึ้นขณะซีซาร์ยังมีชีวิตอยู่ บางทีอาจหลังจากที่เขาประกาศให้เมืองอาร์ลเป็นอาณานิคมของโรม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองนานนับหลายศตวรรษของเมืองนี้

...

ตอนที่เรือ อาร์ล-โรน 3 จมลง มันกำลังบรรทุกหินก่อสร้างหนัก 30 ตัน เป็นแผ่นหินปูนแบนๆ ขนาดต่างๆ กัน มีความหนาตั้งแต่ 8-15 เซนติเมตร มาจากเหมืองหินแห่งหนึ่งในแซงต์กาเบรียล ห่างจากเมืองอาร์ลไปทางเหนือราว 14 กิโลเมตร เรืออาจกำลังมุ่งหน้าไปยังสถานที่ก่อสร้างบนฝั่งขวาของแม่น้ำ ซึ่งเป็นบริเวณไร่นาบนที่ลุ่มชื้นแฉะทางใต้ของเมืองอาร์ล แต่หัวเรือกลับหันไปทางต้นน้ำ แทนที่จะเป็นปลายน้ำ ชี้ให้เห็นว่า เรือถูกผูกติดอยู่กับท่าเทียบเรือขณะจมลง บางทีอาจเกิดจากน้ำท่วมฉับพลัน

เมื่อน้ำท่วมลดระดับลง ตะกอนจำนวนมากที่ถูกซัดขึ้นมาจมลงนอนก้นอีกครั้ง และปกคลุมเรือเป็นชั้นดินเหนียวละเอียดหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร ในชั้นดินเหนียวดังกล่าว มาร์ลีเยกับทีมงานพบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของลูกเรือเป็นเคียว ที่ใช้สับฟืนเพื่อก่อไฟทำอาหาร มีคนโทดินเหนียวขนาดใหญ่ที่เรียกว่าโดเลียม (dolium) ผ่าครึ่งสำหรับใช้เป็นภาชนะหุงหาอาหาร นอกจากนี้ ยังมีจานและเหยือกน้ำสีเทา มาร์ลีเย บอกว่า “นี่เป็นเรื่องแปลกของเรือลำนี้ค่ะ เราหากัปตันไม่พบ แต่นอกนั้นเราพบหมด” เสากระโดงเรือที่มีร่องรอยสึกหรอจากเชือกที่ผูกสำหรับลากเป็นการค้นพบล้ำค่าที่สุดสำหรับเธอ

...

นอกจากประวัติความเป็นมาของเรือแล้ว โคลนและขยะของชาวโรมันเกือบ 900 ลูกบาศก์เมตรที่กลบฝังเรือจนมิดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังทำให้เราเห็นภาพอดีตของเมืองการค้าอย่างอาร์ลอีกดัวย ภายในห้องใต้ดินที่มีแสงสลัวๆ ของพิพิธภัณฑ์ ชาวีกับผมเดินไปตามช่องทางเดินยาวที่มีคนโทตั้งเรียงราย “เราต้องศึกษาคนโททั้งหมดครับ” เขาบอก แหล่งทิ้งขยะนี้รุ่มรวยเสียจนนักโบราณคดีต้องนำชิ้นส่วนเซรามิกน้ำหนักรวม 120 ตัน กลับลงไปไว้ที่ก้นแม่น้ำตรงหลุมที่เกิดจากการกู้ซากเรือขึ้นมา ผมถามชาวีถึงหินก่อสร้างที่พบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด เขาตอบว่า มันหนักเกินกว่าเรือ ซึ่งบูรณะขึ้นใหม่จะรับไหว พวกเขาจึงจำลองหินขึ้นมาแทน ชาวีพาผมออกไปทางด้านหลังของพิพิธภัณฑ์ หินเหล่านั้นกองอยู่ถัดจากถังขยะใบใหญ่ และรอคอยเวลาที่จะหวนคืนสู่แม่น้ำอีกครั้ง

เรื่อง โรเบิร์ต คุนซิก ภาพถ่าย เรมี เบนาลี