สัปดาห์นี้เป็นเรื่องราวของฮ่องกง ที่ตกอยู่ในอาณัติของพญามังกร ส่วนจะเป็นอย่างไรรับประกันเช่นเดิมว่าสนุกมากมาย...

ณ ริมฝั่งทะเลจีนใต้  มหานครฮ่องกงทอประกายสว่างไสวระยิบระยับ หมู่ตึกระฟ้าวูบไหวราวกับแท่งเหล็กหลอมละลาย ในภาพสะท้อนบนผิวน้ำของอ่าว ด้วยพื้นที่ราบเพียงน้อยนิดและมีตึกระฟ้ามากที่สุดในโลก ฮ่องกงจึงคลาคล่ำไปด้วยตึกน้อยใหญ่ บ้างสูงถึงร้อยชั้น จนดูเหมือนพุ่งทะยานขึ้นมาจากเชิงเขา

ฮ่องกงคือนครกลางฟ้าที่เปรียบได้กับสะพานเชื่อมภูมิภาคต่างๆ ของโลก ล่องละลิ่วอยู่บนอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ขึ้นลงไม่หยุดหย่อน ธุรกรรมซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และเงินหยวนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่ไหลบ่าเข้ามา  ฮ่องกงยังลอยล่องอยู่เหนือชั้นตะกอนแห่งอดีต ตั้งแต่ครั้งเป็นหมู่บ้านประมงเก่าแก่ รังโจรสลัด ไปจนถึงอาณานิคมของอังกฤษ และในฐานะเขตบริหารพิเศษ (Special Administrative Region) ของจีนในปัจจุบัน ทำให้ฮ่องกงต้องเปลี่ยนโฉมหน้าอีกครั้งด้วยแรงกดดันมหาศาลจากพญามังกร  ยิ่งไปกว่านั้น มหานครแห่งนี้ยังลอยล่องอยู่บนความวิตกกังวลที่นับวันมีแต่จะทบทวี

เป็นความรู้สึกที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับเมื่อครั้งวันชื่นคืนสุขที่ฮ่องกงรุ่งเรืองในฐานะเสือเศรษฐกิจตัวหนึ่งของเอเชียผู้ที่ทำให้ฮ่องกงซึ่งครั้งหนึ่งเคยตั้งหน้าตั้งตาสร้างแต่ความร่ำรวยให้จมปลักอยู่กับวิตกจริตได้ถึงเพียงนี้ คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากจีนยุคใหม่ จีนที่ว่านี้เป็นทั้งเงา บทสรุป ความฝันลมๆ แล้งๆ และเจ้านายผู้มีอำนาจบาตรใหญ่ที่ปรากฏกาย อยู่ในทุกบทสนทนาของผู้คนที่นี่ ชาวฮ่องกงมองจีนใหม่ด้วยสายตาดูหมิ่น แต่ก็ยกย่องชื่นชมอย่างแหยงๆ อยู่ในที คุณจะสัมผัสได้ถึงอวลไอแห่งความกระอักกระอ่วนใจนี้ในทุกซอกมุมเมือง ดุจเดียวกับละอองหมอกที่พัดเข้ามาจากอ่าว หรือไอน้ำที่ลอยขึ้นจากถนนยามเช้าตรู่ เป็นส่วนผสมระหว่างความสับสน ความกลัว และความปริวิตกที่นับวันมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นว่า ตัวตนและเอกลักษณ์ของฮ่องกงจะถูกกลืนจนหมดสิ้น

ชาวฮ่องกงบอกว่าเมืองของพวกเขาเปลี่ยนโฉมหน้าไปทุกสองสามปี โดยยกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือเส้นขอบฟ้าที่เปลี่ยนรูปทรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“เราสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ครับ แต่ไม่รู้ว่าจะเรียกมันว่าอะไร” แพทริก ม็อก ผู้ประสานงานโครงการความทรงจำแห่งฮ่องกง (Hong Kong Memory Project) เปรยขึ้น โครงการมูลค่า 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้พุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาอัตลักษณ์ของฮ่องกง โดยสร้างเว็บไซต์ที่ผู้เข้าชมสามารถมีส่วนร่วมและโต้ตอบด้วยการแสดงสิ่งของและภาพถ่ายเก่าๆ “เมืองนี้ก้าวไปเร็วเกินกว่าความทรงจำจะตามทันครับ” เขายอมรับ

...

ความคิดที่มีการพูดถึงกันอยู่เสมอในฮ่องกงทุกวันนี้ คือท่าทีที่ไม่อาจคาดเดาของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็นเพียงหุ่นเชิดที่เล่นตามบทซึ่งกำหนดโดยเจตนาอันซ่อนเร้น และการชี้นำของนายใหญ่ในปักกิ่ง แม้จีนสัญญาว่าจะเคารพนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ”

โดยรับประกันสิทธิ์ของฮ่องกงในการปกครองตนเองทางเศรษฐกิจ และการเมืองจนถึงปี 2047 แต่ชาวฮ่องกงยังทำใจไม่ได้เมื่อคิดว่าสักวันต้องอยู่ใต้เงื้อมเงาการควบคุมของจีน พวกเขาเกรงว่าเสรีภาพและความรู้สึกปลอดโปร่งจากข้อจำกัดต่างๆ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของวันวานจะถูกจำกัด จีนอาจออกกฎข้อบังคับตามอำเภอใจ กลืนกินอัตลักษณ์อันแตกต่างของฮ่องกงไปจนหมดสิ้น และหล่อหลอมให้กลายเป็นเมืองในแบบของจีน

หากชาวฮ่องกงกำลังส่งผ่านความคิดทางการเมืองไปยังจีนอย่างเงียบๆ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นผู้ทำให้เมือง แห่งนี้เฟื่องฟูขึ้นด้วยกำลังซื้อ ครั้งหนึ่งฮ่องกงเคยส่งข้าวส่งน้ำให้ปักกิ่งในช่วงที่ตกระกำลำบาก และส่งเสริมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนโดยการเข้าไปลงทุน แต่ปัจจุบัน ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด จีนเป็นฝ่ายที่ช่วยให้ฮ่องกงเชิดหน้าชูตาอยู่ได้ในทุกวันนี้ ชาวจีนแผ่นดินใหญ่แห่มาฮ่องกงเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์และสินค้า

ฟรานซิส แจ่ง นักจัดงานอีเวนต์ชื่อดัง บอกว่า “เราเติบโตขึ้นมากับมายาคติที่ว่า เราเหนือกว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่”              

ในฮ่องกง ผู้คนสนุกปากกับการเล่าเรื่องล้อเลียนเศรษฐีใหม่ชาวจีนที่มากินอาหารในภัตตาคารหรูของฮ่องกง พวกเขาสั่งบริกร ให้รินไวน์เต็มถึงปากแก้ว  หรือจะเป็นเรื่องที่ชาวจีนคนหนึ่งหอบเงินสดเป็นฟ่อนเข้าไปในร้านสินค้าแบรนด์เนมและ พูดเสียงดังลั่นว่า

“อะไรแพงที่สุดในร้าน จัดมา” เรื่องราวทำนองนี้ตอกย้ำภาพลักษณ์ของชาวจีนแผ่นดินใหญ่ในสายตา ชาวฮ่องกงว่าเป็นพวกบ้านนอกเข้ากรุง หรือ อาชาน แต่ทุกวันนี้ หน้าร้านกุชชีทั้งเก้าสาขาในฮ่องกงมีลูกค้าต่อแถวยาวเหยียด สะท้อนความต้องการที่ดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด “ไม่ต้องห่วงหรอกครับ มีชาวนารวยๆ จากแผ่นดินใหญ่หอบเงินมาใช้ที่นี่ไม่เคยขาดครับ” แจ่งทิ้งท้าย

อำนาจทางเศรษฐกิจที่พลิกผันซ้ำเติมวิกฤติเรื่องอัตลักษณ์ของฮ่องกงให้ย่ำแย่ลง ถึงขนาดที่ว่าชาวจีนแผ่นดินใหญ่กลับเป็นฝ่ายเรียกชาวฮ่องกงว่า ก๋องชาน หรือพวกบ้านนอกเข้ากรุงเสียเอง โครงการสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชนโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงเมื่อไม่นานมานี้รายงานว่า ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่มองตัวเองว่าเป็นชาวฮ่องกงเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ชาวจีน เท่ากับเป็นการเน้นย้ำความไม่พอใจที่ชาวฮ่องกงมีต่อเพื่อนร่วมชาติจากผืนแผ่นดินใหญ่ที่นับวันมีแต่จะทบทวี โฆษณา ในหนังสือพิมพ์ฮ่องกงฉบับหนึ่งถึงกับเรียกคนพวกนี้ว่า “ตั๊กแตน” ที่ยกโขยงเข้ามากลุ้มรุมฮ่องกง

เมื่อราตรีมาเยือน ตึกระฟ้าเปิดไฟสว่างไสวราวกับแสงเทียน เรือเฟอร์รีแล่นฉิวอยู่ในอ่าว เครื่องบินร่อนอยู่บนท้องฟ้า ถนนหนทางคลาคล่ำไปด้วยผู้บริโภค ฮ่องกง นครแห่งผู้คนร้อยเชื้อชาติที่ดูวุ่นวายอย่างที่เคยเป็นเสมอมา กำลังเปลี่ยนสภาพไปอีกครั้งแล้ว

แพทริก ม็อก จากโครงการความทรงจำแห่งฮ่องกง บอกผมว่า “ผู้คนตกใจเมื่อผมเอาภาพถ่ายทุ่งนาที่เคยอยู่ที่นี่ ในช่วงทศวรรษ 1970 ให้ดู ตอนนั้นเราอยู่กันตามท้องถนน ในตลาดและแผงลอยกลางแจ้ง ต่อมาทุกอย่างย้ายเข้าไปอยู่ในร่มเข้าไปอยู่ตามศูนย์การค้า เบื้องหลังประตูที่ปิด และห้องแอร์ เราไม่แน่ใจครับว่าตอนนี้เรากำลังกลายเป็นอะไร แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ก็คือ ตัวตนของเรากำลังหายไป”

เรื่อง ไมเคิล พาเทอร์นิตี ภาพถ่าย มาร์ก เหลียง ข้อมูลจาก http://www.ngthai.com

...