เพราะ “ขยะ” ไม่ใช่เรื่องเล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Waste ที่ไม่ย่อยสลาย มีโอกาสปนเปื้อนอยู่ในแหล่งอาหาร น้ำ กระทบต่อสุขภาพผู้คนทำให้ “ตายผ่อนส่ง” เพราะการกำจัดให้ถูกต้องหรือนำกลับไปใช้ใหม่ด้วยกระบวนการ Upcycle ยังอยู่ในระดับต่ำ
และเพราะเป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว ทรู คอร์ปอเรชั่น และภาคีพันธมิตร ได้ร่วมมือจัดตั้งโครงการ e-Waste HACK BKK 2024 ชวนคนรุ่นใหม่มาระดมสมอง ผุดไอเดีย สร้างมูลค่าเพิ่มจาก e-Waste ต่อยอดเป็นนวัตกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานได้จริง โดยใช้เวลาเกือบ 4 เดือน เฟ้นหาผู้ชนะในระดับอุดมศึกษา อันได้แก่ Intelligence Bin หรือ “ถังขยะอัจฉริยะ” เป็นผลงานจากทีม “ปั๊กกะป๊อก” นักศึกษาปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีสมาชิกประกอบด้วย ธิดาลักษณ์ เมืองแพน, ปิยังกูร สารภาค และโยธิน นันต๊ะเสน
จุดเริ่มต้นของไอเดียเกิดจากความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาขยะที่ต้นตอ นั่นคือพฤติกรรมการเทรวมไม่เเยกประเภทขยะ ทำให้โอกาสในการนำขยะประเภทอื่นอย่างขวดพลาสติก กระป๋อง กระดาษไปรีไซเคิลต่อมีน้อย และยุ่งยากต่อระบบการจัดการ
...
ปัจจุบัน การจัดเก็บขยะมูลฝอยของกรุงเทพมหานครจะแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ กรุงเทพฯ ชั้นใน และกรุงเทพฯ ชั้นนอก โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการจัดเก็บตามจุดทิ้งขยะที่กำหนดตั้งแต่เวลา 18.00 น.ถึงเช้ามืด โดยแต่ละจุดใช้เวลาจัดเก็บประมาณ 12 นาทีโดยเฉลี่ย จากนั้นขยะจะถูกส่งต่อไปยังโรงแยกขยะใกล้เคียง ได้แก่ อ่อนนุช สายไหม และหนองแขม ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 32% ของขยะเหล่านี้จัดอยู่ในประเภทขยะมูลฝอย ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะอินทรีย์ และขยะอันตราย ซึ่งปลายทางจะถูกกำจัดโดยการฝังกลบหรือนำเข้าเตาเผา
หลังจากระดมสมอง ค้นคว้าหาข้อมูล ตลอดจนเทคโนโลยีและวิธีการในการแก้ไขปัญหา ทีมงานตกผลึกออกมาเป็นนวัตกรรมที่ชื่อว่า Intelligence Bin เป็น Modular Engine หรือเครื่องจักรกลแบบแยกส่วน ทำหน้าที่ในการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และ IoT (Internet of Things) ด้วยโครงสร้างแบบแยกส่วน หรือ modular system ทำให้สะดวกต่อการนำไปติดตั้งกับถังขยะของกรุงเทพมหานคร มีความอิสระกับตัวเครื่องใช้ได้หลากหลายขนาด ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อน
นวัตกรรมดังกล่าวมีส่วนประกอบที่สำคัญหลักๆ 3 ส่วน ได้แก่ 1.กล้องที่ใช้ในการจับภาพ เพื่อส่งไปวิเคราะห์ต่อด้วยเทคโนโลยี AI ทำหน้าที่ประมวลผล เรียนรู้ และต่อยอดจากข้อมูลที่ป้อนเข้าไป 2.ระบบสายพาน ซึ่งมีอุปกรณ์เซ็นเซอร์ติดตั้ง ทำงานควบคู่กับ AI โดยหลังจาก AI ประมวลผล จำแนกประเภทขยะแล้ว ก็จะสั่งการไปยังเซ็นเซอร์ เพื่อส่งต่อให้ระบบสายพานทำงานแยกชิ้นขยะต่อไป 3.ในส่วนของถังขยะเอง ยังมีการติดตั้งอินฟราเรดเซ็นเซอร์ เพื่อใช้ในการวัดปริมาณขยะ โดยจะแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่เก็บขยะทราบผ่านพิกัดที่ปรากฏบนแอปพลิเคชัน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการวางแผนจัดเก็บของเจ้าหน้าที่ต่อไป สำหรับองค์ประกอบในส่วนที่ 2 และ 3 จะเป็นลักษณะการทำงานด้วยเทคโนโลยี IoT
จากการคำนวณการทำงานของ Intelligence Bin ในเบื้องต้นพบว่า มีกำลังการแยกขยะได้วันละ 114 กิโลกรัม ลดเวลาการแยกขยะของเจ้าหน้าที่ได้มากกว่า 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นอกจากนั้น Intelligence Bin ยังเป็นอุปกรณ์ที่นำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมาใช้ใหม่หรือ Upcycle เกือบ 80% ไม่ว่าจะเป็นกล้องจากคอมพิวเตอร์พกพาเก่า, Proximity Sen sor อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมคัดแยกขยะ ทำมาจากขดลวดเหนี่ยวนำของเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS), แผงวงจรไฟฟ้า เก่าสามารถนำมาประกอบใหม่เป็นเซ็นเซอร์อินฟรา เรด (Infrared Sensor) เพื่อใช้ในการตรวจวัดปริมาณขยะ และ Stepper Motor หรือมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้สำหรับควบคุมการหมุนของโมดูลทำมาจาก Power Supply ของคอมพิวเตอร์
...
ในเวอร์ชันต้นแบบ Intelligence Bin ทำงานแบ่งขยะได้ 2 ประเภท คือ ขยะที่รีไซเคิลได้และรีไซเคิลไม่ได้ แต่มีเป้าหมายที่จะทำให้แยกขยะได้ถึง 4 ประเภท ได้แก่ 1.ขยะอินทรีย์ 2.ขยะทั่วไป 3.ขวดแก้วหรือขวดพลาสติก และ 4.กระป๋องอะลูมิเนียม.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม