นักวิจัยกลุ่มหนึ่งจาก มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท พบช่องโหว่ด้านความมั่นคงบนเครือข่าย 5G ซึ่งทำให้แฮกเกอร์สอดแนมสมาร์ทโฟนเหยื่อได้อย่างลับๆ โดยช่องโหว่ดังกล่าวได้รับการอุดช่องโหว่แล้ว

นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท นำเสนอประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์บนเครือข่าย 5G ในงานประชุมวิชาการความปลอดภัยทางไซเบอร์ Black Hat ซึ่งจัดขึ้นที่ลาสเวกัส เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ 

นักวิจัยได้ใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า 5GBaseChecker เพื่อวิเคราะห์ช่องโหว่เบสแบนด์ 5G บนสมาร์ทโฟนที่ใช้ชิปเซตของซัมซุง, มีเดียเทค และควอลคอมม์ ซึ่งประกอบไปด้วย สมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์กูเกิล, ออปโป้, วันพลัส, โมโตโรลา และซัมซุง

ไซเยด ฮุสแซน หนึ่งในทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สเตท เปิดเผยกับสำนักข่าวเทคครันช์ว่า เขาและนักเรียนได้ทดลองหลอกให้เครือข่าย 5G บนสมาร์ทโฟนที่มีช่องโหว่ เชื่อมต่อกับสถานีฐานปลอม สิ่งที่ได้ก็คือ แฮกเกอร์สามารถปลอมเป็นเพื่อนของเหยื่อ พร้อมกับส่งข้อความฟิชชิง (Phishing) หรือการนำมือถือของเหยื่อไปยังเว็บไซต์ที่อันตราย 

หลังจากนั้นแฮกเกอร์สามารถใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้เหยื่อมอบข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน หรือการให้ข้อมูลบัญชีอีเมล หรือโซเชียลมีเดีย 

ทีมนักวิจัยบอกด้วยว่า สามารถใช้ช่องโหว่ที่ว่านี้ดาวน์เกรดการเชื่อมต่อไร้สายจาก 5G ไปเป็นเทคโนโลยีที่เก่ากว่านั้น เช่น 4G, 3G หรือ 2G แล้วทำการดักฟังข้อมูล

อ่านข่าวที่น่าสนใจเพิ่มเติม:

อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยบอกว่า หลังจากพบช่องโหว่ที่ว่านี้ พวกเขาได้ติดต่อไปยังผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายต่างๆ ให้อุดช่องโหว่ที่ว่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็แก้ไขปัญหาเรียบร้อยแล้ว ดังเช่นในรายของกูเกิล และ ซัมซุง ได้ออกแพตช์ซอฟต์แวร์เพื่อจัดการและแก้ไขปัญหานี้ 

...

ส่วนมีเดียเทค และ ควอลคอมม์ ในรายงานของเทคครันช์ ระบุว่า พวกเขาไม่ได้ตอบสนองต่อการขอให้แสดงความคิดเห็นจากประเด็นนี้

ที่มา: TechCrunch