การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจเพียงอย่างเดียว เนื่องด้วยการปิดเมือง เว้นระยะห่างทางสังคม ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจอีกหลายจำพวก ที่ชัดเจนคือฟู้ดดีลิเวอรี ธุรกิจรับ-ส่งสินค้า รวมทั้งธุรกิจสินค้าฟุ่มเฟือย แบรนด์เนม ที่เติบโตจากความอัดอั้น ไม่ได้เดินทางของเหล่าเศรษฐีที่มีความต้องการซื้อสวนทางกับกำลังผลิต เพราะไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะตกสะเก็ดเพียงใด ลูกค้ากลุ่มบนผู้ร่ำรวยเงินทองก็ยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยเสมอ แถมยังมีกำลังซื้อแน่นๆ  สินค้าแบรนด์เนมหรูหรา  จึงยิ่งขายดีไม่มีตก

ศุภวดี จึงเจริญสุขยิ่ง ที่ปรึกษาธุรกิจสินค้าหรู ไลน์ (LINE) ประเทศไทย ได้เผยว่า ปัจจุบันไลน์เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เข้าถึงคนไทยกว่า 54 ล้านคนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะวัยทำงานที่มีกำลังซื้อในตลาดสินค้าหรู ตัวเลขล่าสุดพบว่ามีจำนวน LINE OA (LINE Official Account) ของแบรนด์สินค้าหรูเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 20% พร้อมจำนวนผู้ใช้งานติดตาม LINE OA ของกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น 40% โดย 70% เป็นผู้หญิง ในกลุ่มช่วงอายุระหว่าง 30-39 ปีเป็นหลัก ตามด้วยกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป และกลุ่มอายุ 40-49 ปี ตามลำดับ

...

รวมทั้ง มีการใช้งานบรอดแคสต์ข้อความผ่าน LINE OA เพิ่มขึ้น 155% ไปจนถึงมีการสร้างการรับรู้และอัตลักษณ์ของแบรนด์ผ่านสติกเกอร์ไลน์ ในรูปแบบของสติกเกอร์ขนาดใหญ่และสติกเกอร์แอนิเมชัน เติบโต 2 เท่าในปี 2566 โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนบนแพลตฟอร์มไลน์จากธุรกิจแบรนด์สินค้าหรู จะเพิ่มขึ้นกว่า 41% ภายในปลายปีนี้ อย่างไรก็ตามการใช้งานบนไลน์ของแบรนด์สินค้าหรูในไทยยังอยู่ในรูปแบบที่จำกัดหากเทียบกับธุรกิจกลุ่มอื่นๆ

กัญชลี สำลีรัตน์ นักการตลาดและนักการสื่อสารยุคใหม่ กล่าวว่า พัฒนาการในการสร้างแบรนด์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มจากยุคที่โฟกัสเรื่องผลิตภัณฑ์ สู่ยุคการสร้างแบรนด์ที่มุ่งเน้นการทำโฆษณา และปัจจุบันที่มุ่งเน้นการสร้างคอนเทนต์ที่หลากหลาย แต่เทรนด์นี้กำลังเปลี่ยนไป เพราะผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ต้องการเลือกและต้องการควบคุมการบริโภคสื่อต่างๆมากขึ้น ทำให้การสื่อสารตามความต้องการเฉพาะตัว (On Demand) ได้รับความนิยมมากขึ้น

โดย 2 ปัจจัยสำคัญในการสร้างความสำเร็จสำหรับแบรนด์หรู ประกอบด้วย 1.สร้าง Utility ที่ตอบโจทย์ ตรงตามความคาดหวังของลูกค้า โดยแบรนด์ควรเก็บข้อมูลลูกค้ามาก่อน เพื่อแยกแยะกลุ่มลูกค้าได้ถูกต้องและชัดเจน อาทิ กลุ่มลูกค้าใหม่ กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพเป็นลูกค้าเราในอนาคต และกลุ่มลูกค้าเก่า โดยแต่ละกลุ่มควรได้รับการสื่อสารและบริการแตกต่างกันไป

2.สร้างการสื่อสารแบบ Personalized ในระดับบุคคล ซึ่งประกอบด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ 1.การวางแผนการใช้ข้อมูล (Planning Data) แบรนด์ควรต้องตั้งจุดประสงค์ไว้ให้ชัดเจนก่อน จึงจะกำหนดได้ว่าข้อมูลที่ต้องการเก็บควรเป็นข้อมูลประเภทไหน เช่น ข้อมูลด้านประชากร ข้อมูลด้านความสนใจ เป็นต้น 2.การเก็บข้อมูล (Collect Data) แบรนด์ควรออกแบบวิธีการเก็บข้อมูลที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละประเภท เพื่อให้ลูกค้าแต่ละกลุ่มรู้สึกสนใจและยินดีให้ข้อมูล เช่น การทำ Mission Stickers เป็นต้น 3.การแบ่งกลุ่มข้อมูล (Segment Data) ด้วยเครื่องมือต่างๆที่สามารถ ช่วยให้นักการตลาดได้ข้อมูลที่ตรง ตามโจทย์หรือจุดประสงค์ที่กำหนดไว้ 4.การออกแบบการสื่อสารเฉพาะบุคคล (Personalized Communications) ด้วยรูปแบบและเนื้อหาการสื่อสารให้ตรงกับความคาดหวังของลูกค้าแต่ละคน 5.การนำข้อมูลที่เก็บได้ทั้งหมดไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Optimized Communications) เพื่อวิเคราะห์ต่อยอดสู่การออกแบบสินค้าบริการในอนาคต ได้อย่างมีประสิทธิภาพ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทความไซเบอร์เน็ต" เพิ่มเติม