Threads แอปพลิเคชันหมัดเด็ดจากทาง เมตา ที่อาศัยจังหวะในขณะที่ Twitter มีประเด็นจำกัดการใช้งาน ทำให้ Threads ได้ลงสู่สนามการแข่งขันบนโลกเทคโนโลยีอย่างเป็นทางการ พร้อมเปรียบเทียบศึกการต่อสู้นี้ใครจะแน่กว่ากัน
แอปพลิเคชัน Threads เปิดให้ใช้บริการเป็นที่เรียบร้อยในวันที่ 6 กรกฎาคม 2566 แอปพลิเคชันน้องใหม่จากแพลตฟอร์มของ Meta ที่กำลังเป็นกระแส และเป็นที่ฮือฮาอย่างมากในโลกออนไลน์ขณะนี้

Threads ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นคู่แข่งของ Twitter อย่างแน่นอน เนื่องจากเวลาการเปิดตัวที่มาอย่างเหมาะสม ซึ่งไปตรงกับช่วงเวลาในขณะที่ทาง Twitter มีประเด็นดราม่าเรื่องการจำกัดการใช้งานอยู่ไม่กี่วันที่ผ่านมา จากการประกาศของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ การประกาศลงนวมกันระหว่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก และอีลอน มัสก์ ที่ปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น แต่การแข่งขันกันบนโลกเทคโนโลยีระหว่างทวิตเตอร์ และเมตา กำลังระอุขึ้นแล้วอย่างแน่นอน โดยล่าสุดยอดผู้ใช้งาน Threads พุ่งสูงถึง 5 ล้านคน ภายใน 4 ชั่วโมง
...

อดัม มอสเซรี หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของอินสตาแกรม กล่าวถึงการเปิดตัวแอปพลิเคชันใหม่ที่ชื่อว่า Threads เกิดขึ้นเพราะความผันผวน และความคาดเดาไม่ได้ ซึ่งเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์ จึงเป็นโอกาสเหมาะสมที่ทางเราควรสร้างโอกาสการแข่งขัน
แต่อย่างไรก็ตาม ทางเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเอาชนะทวิตเตอร์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเพราะทวิตเตอร์มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีชุมชนผู้ใช้งานที่แข็งแกร่ง มีชีวิตชีวา และเครือข่ายที่มั่นคงแข็งแกร่งอย่างไม่น่าเชื่อ
เป็นเรื่องเสี่ยงไม่น้อยในการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Threads ที่ต้องสร้างการรับรู้ การเรียนรู้ให้แก่ผู้ใช้งานใหม่ตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังคงข้อได้เปรียบจากการเป็นบริษัทในเครือของเมตา จึงทำให้ Threads สามารถล็อกอินผ่านบัญชีของอินสตาแกรม ซึ่งมีผู้ใช้งานมหาศาลอยู่แล้ว และเริ่มต้นได้ง่าย

รีวิว Threads
หลังจากได้ทดลองใช้งานเธรดส์ (Threads) จากเมตาแล้ว ลักษณะการใช้งานจะมีโครงสร้าง และฟีเจอร์ที่คล้ายกับ ทวิตเตอร์ (Twitter) เป็นอย่างมาก หากมีประสบการณ์จากการใช้ทวิตเตอร์แล้วก็คงเข้าใจได้ไม่ยาก โดยจะมีการไลค์ คอมเมนต์ รีโพสต์ และแชร์ เฉกเช่นเดียวกันกับการใช้ทวิตเตอร์ที่จะมี รีทวีต รีโพสต์ โค้ตทวีต คอมเมนต์ และแชร์ ที่เหมือนกัน ทำให้ปรับตัวในการใช้งานได้ไม่ยากเท่าที่ควร
พาร์ทของลักษณะโครงสร้าง หน้าตา องค์ประกอบโดยรวมของแอปพลิเคชันมีความเรียบง่ายละม้ายคล้ายกันกับทวิตเตอร์ แต่ยังคงมีบางพาร์ทที่มีแคตากอรี่ (Categories) ย่อยมากจนเกินไป ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ใช้งานว่าชอบหรือไม่
เทรนด์ต่างๆ ในโลกของเธรดส์ ยังไม่มีแสดงไม่มากเหมือนกับทวิตเตอร์มากนัก อาจจะเป็นเพราะความใหม่ของแอปพลิเคชันที่ยังไม่มีฟีเจอร์นี้ให้มาใช้งาน แต่คาดการณ์ไว้ว่าหากได้รับความนิยมทางเมตาอาจจะมีการพัฒนาต่อได้ในไม่ช้า รวมทั้งสังคมโซเชียลของเธรดส์นั้นยังไม่หลากหลาย ซึ่งอาจจะอยู่ในช่วงปรับตัว เรื่องของการใช้งานติดตามข่าวสารต่างๆ บนโลกออนไลน์อาจจะต้องให้เวลาสำหรับแอปพลิเคชันน้องใหม่นี้ไปสักระยะ เช่น ในตัวฟีเจอร์ #แฮชแท็ก เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่เธรดส์จะคัดกรองคนที่เราติดตามมาก่อนคนที่ไม่ได้ติดตาม ทำให้กว่าจะไปถึงข่าวสาร หรือข้อมูลจริงๆ นั้นอาจจะต้องติดตามจากแหล่งข่าวต้นตอสักหน่อย
ความส่วนตัวของระบบบัญชีที่มีความน่าสนใจ ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะให้บัญชีเราเป็น Public (เข้าถึงได้จากทุกคน) หรือเป็น Private (เป็นส่วนตัว) ก็ได้แล้วแต่ความต้องการ แต่อย่างไรก็ตามการใช้แอปพลิเคชันเธรดส์นั้นจำเป็นต้องใช้แอ็กเคานต์จากบัญชีอินสตาแกรม ซึ่งอาจจะไม่เป็นที่ถูกใจสำหรับเหล่าบรรดาแอ็กเคานต์หลุมสักเท่าไร ขณะที่แอ็กเคานต์ประเภทนี้บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์นั้นมีอยู่มากมาย อย่างไรก็ดีการยืนยันตัวตนก็เป็นเรื่องที่ดีต่อการใช้งานในโลกออนไลน์ในปัจจุบันในเรื่องของความปลอดภัย
...
ข้อแตกต่างที่ทางเธรดส์ยังไม่มีฟีเจอร์นี้เหมือนกันกับทวิตเตอร์ เช่น การส่งข้อความส่วนตัวถึงกัน ซึ่งยังไม่มีให้บริการ ณ เวลานี้, การโฆษณาต่างๆ ที่ปัจจุบันทางเธรดส์ยังไม่ได้เปิดให้ใช้บริการ ซึ่งคาดว่าในอนาคตก็จะมีมาอย่างแน่นอน
เรื่องข้อจำกัดต่างๆ ที่ทางทวิตเตอร์มีอยู่มากกว่า คงเป็นเพราะแอปพลิเคชันทวิตเตอร์มีอายุการใช้งานที่มีอยู่แล้วมาอย่างยาวนาน ความชำนาญเรื่องระบบ ช่องทางของธุรกิจ และอีกมากมายทำให้เรื่องนี้ทางเรามีข้อคิดเห็นว่า ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าข้อจำกัดเหล่านี้ทางเธรดส์จะมีพัฒนาเพิ่มเติมหรือไม่ในภายหลัง ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าแอปพลิเคชันเธรดส์นี้จะมีการพัฒนาให้เราได้ใช้ไปในทิศทางใด ซึ่งผลลัพธ์ในอนาคตต่อจากนี้อาจจะทำให้ผู้ใช้งานตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น
ความแตกต่าง Threads vs. Twitter
- เธรดส์ ผู้ใช้จะสามารถโพสต์วิดีโอที่มีความยาว 5 นาที ในขณะที่บน Twitter ผู้ที่ไม่ได้เป็นทวิตเตอร์บลูจะสามารถโพสต์วิดีโอความยาว 2 นาที 20 วินาที นอกเสียจากการสมัครทวิตเตอร์บลูจะช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการอัปโหลดวิดีโอถึง 2 ชั่วโมง
- เธรดส์ มีขีดจำกัดในการโพสต์จำนวน 500 ตัวอักษร ส่วนทวิตเตอร์จะโพสต์ได้สูงสุด 280 ตัวอักษร นอกเสียจากการสมัครทวิตเตอร์บลู จะช่วยเพิ่มขีดจำกัดในการโพสต์เป็น 4,000 ตัวอักษร แต่จะเห็นเพียง 280 เท่านั้น ส่วนเนื้อหาที่เหลือต้องกด read more.
- เธรดส์ กำหนดให้ผู้ใช้งานนั้นต้องมีบัญชีอินสตาแกรมเป็นหลักบนแอปพลิเคชัน หากบนคอมพิวเตอร์สามารถใช้ Gmail, Discord และ Slack ได้ ส่วนทวิตเตอร์มีความหลากหลายในการเลือกล็อกอินทั้งหมดแอปพลิเคชัน และคอมพิวเตอร์
- หน้าแรกของทวิตเตอร์จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามเทรนด์ และสิ่งที่กำลังเป็นกระแส รวมถึงหัวข้อที่สนใจได้ ส่วนเธรดส์ยังมีวิธีเดียวที่จะสำรวจว่ามีข่าวสาร เทรนด์ และเนื้อหาได้ด้วยการเลื่อนดูโฮมฟีด หรือติดตามบุคคลที่มีความสนใจในเนื้อหานั้นๆ
...
- เธรดส์ ไม่มีตัวเลือกในการบันทึกข้อความฉบับร่าง แต่ทวิตเตอร์มีฟีเจอร์นี้
- เธรดส์ ยังไม่มีฟีเจอร์ในการโฆษณา (ในปัจจุบัน) ซึ่งทำให้ดูสบายตากว่าการใช้งานบนทวิตเตอร์

คุณสมบัติของ Threads
- ใช้บัญชีเดียวกับ Instagram
- ติดตามบัญชีที่เคยติดตามไว้ใน Instagram ได้ทันที
- โพสต์ได้ 500 ตัวอักษร
- อัปโหลดรูปภาพได้
- อัปโหลดวิดีโอความยาวไม่เกิน 5 นาที
- ค้นหา และพูดคุยกับเพื่อนๆ และกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันจากการติดตาม
- เลือกติดตามดูเทรนด์ อีเวนต์ และข่าวต่างๆ ในหัวข้อที่สนใจจากการติดตามบุคคล
- กำหนดได้ และอนุญาตให้ใครเห็น และตอบกลับในสิ่งที่แชร์
- แก้ไขข้อความได้
- สามารถแท็กได้
- สามารถเลือกบล็อกบุคคลที่เคยบล็อกไว้ใน Instagram ได้ทันที
คุณสมบัติของ Twitter
- ใช้บัญชี Gmail, Apple ID, เบอร์โทรศัพท์
- สามารถเลือกติดตามคนที่สนใจได้จากการเสิร์ช
- โพสต์ได้ 280 ตัวอักษร (ไม่เสียเงิน) / โพสต์ได้ 4,000 ตัวอักษร (เสียเงิน)
- อัปโหลดรูปภาพได้
- อัปโหลดวิดีโอความยาวไม่เกิน 140 วินาที (ไม่เสียเงิน) / อัปโหลดวิดีโอความยาวไม่เกิน 2 ชั่วโมง (เสียเงิน)
- ค้นหา และพูดคุยกับเพื่อนๆ และกลุ่มคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันจากการติดตาม และแฮชแท็ก
- เลือกติดตามดูเทรนด์ อีเวนต์ และข่าวต่างๆ ในหัวข้อที่สนใจจากการติดตามบุคคล แฮชแท็ก และหน้าเทรนด์ทวิตเตอร์
- กำหนดได้ และอนุญาตให้ใครเห็น และตอบกลับในสิ่งที่แชร์
- แก้ไขข้อความไม่ได้ (ไม่เสียเงิน) / แก้ไขข้อความได้ (เสียเงิน)
- สามารถแท็กได้
- สามารถเลือกบล็อกบุคคล
...
วิเคราะห์ Threads และ Twitter
ความน่าตื่นเต้นสำหรับแอปพลิเคชันเธรดส์ ยังคงเป็นเรื่องน่าสนใจใหม่สำหรับวงการเทคโนโลยี และโลกโซเชียล ณ ขณะนี้ เพราะเธรดส์ดูเหมือนจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่น้อยกว่า และน่าตามไปใช้อย่างมาก อีกทั้งยังสามารถโน้มน้าวคนที่กำลังหัวเสียกับข้อจำกัดที่มากมายจากทวิตเตอร์ได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์นี้เมตาเปิดเกมได้เป็นอย่างดี โดยวัดได้จากยอดดาวน์โหลดในวันเปิดตัววันแรกที่อัปเดตล่าสุดมีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน จากการให้บริการใน 100 ประเทศ (ยังไม่เปิดให้บริการในสหภาพยุโรป)
ความได้เปรียบจากเมตาในการเปิดเกมใช้ แอปพลิเคชันเธรดส์ ปล่อยหมัดเด็ดเข้าหน้าทวิตเตอร์อย่างจัง จนเซอย่างเห็นได้ชัด ถือว่าเปิดเกมได้สนุกสุดๆ ซึ่งเลือกเวลาออกหมัดในขณะที่ยังมีข้อพิพาทของทางทวิตเตอร์จากโลกออนไลน์ รวมทั้งข้อจำกัดที่มีน้อยกว่า และความสดใหม่เป็นอะไรที่น่าดึงดูดไม่น้อย
แต่อย่าลืมว่าความเก๋า และประสบการณ์ของทวิตเตอร์นั้นมีมานานถึง 17 ปี ในเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ซึ่งไม่มีทางล้มง่ายๆ อย่างแน่นอน เพราะความได้เปรียบจากทวิตเตอร์ยังคงมีอยู่อย่างมากมาย เช่น เซอร์วิส ความคุ้นเคย การใช้งาน เรียกได้ว่ามีต้นทุนอยู่มาก ขาดแต่เพียงความคุ้มค่าที่ทวิตเตอร์ต้องเติมเพิ่ม เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสมัครสมาชิกกับทวิตเตอร์บลู

ถ้าทวิตเตอร์ยังไม่มีการเคลื่อนไหว และทะนงตนอยู่แบบนี้ ก็ไม่แน่ที่อีกไม่นาน เธรดส์ ผู้เล่นใหม่จากเมตา อาจจะเข้าสู่สังเวียนนี้ พัฒนาตนเอง และน็อกผู้เล่นที่มากประสบการณ์อย่างทวิตเตอร์ลงได้อย่างไม่ยากเย็น อย่าลืมว่า เธรดส์ ซึ่งอาจจะใหม่สำหรับเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก แต่พวกเขาก็มีประสบการณ์ผ่านโค้ชอย่างเมตา ที่ปั้นนักมวยมาแล้วในหลายรุ่น ทั้งเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม บนเครือข่ายสังคมออนไลน์หลากหลายรูปแบบ ที่มีการพัฒนาจนประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งไม่ยากแน่นอนที่จะปรับตัว
สงครามครั้งนี้ยังคงต้องติดตามกันต่อไปในยกที่เหลือ เพราะนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น หลังจากนี้คงต้องมาดูกันว่า เธรดส์ ผู้เล่นจากเมตา หรือ ทวิตเตอร์ ผู้เล่นสุดเก๋ามากประสบการณ์ ใครจะได้เข็มขัดเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทไมโครบล็อกไปครอบครอง อาจจะต้องวัดกันที่การพัฒนาฝีมือด้านเทคโนโลยี และบริการของลูกค้า หากใครพร้อมมากกว่า กรรมการอย่างผู้ใช้ ก็จะเทคะแนนเสียงไปให้ว่าใครจะเป็นฝ่ายชนะในศึกแห่งเทคโนโลยีในครั้งนี้.
