ผลโหวตยกให้สิงคโปร์–นิวยอร์ก–เทลอาวีฟ ขึ้นแท่นฮับเทคโนโลยีชั้นนำในอีกสี่ปีข้างหน้า ตามมาด้วยปักกิ่ง ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ โตเกียว เบงกาลูรุ และฮ่องกง เผยโควิด-19 เร่งการเคลื่อนย้ายของแรงงานกลุ่มที่มีทักษะ ทำให้ "ฮับเทคโนโลยี" ขยายตัวสู่พื้นที่อื่นๆของโลก ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์เพียงแห่งเดียว

จากการสำรวจล่าสุดของเคพีเอ็มจี บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านสอบบัญชี หัวข้อ KPMG Technology Industry Survey ซึ่งได้สอบถามผู้นำในแวดวงไอทีเทคโนโลยีมากกว่า 800 ราย โดยขอให้ผู้นำเหล่านั้นจัดอันดับเมืองต่างๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากซิลิคอนวัลเลย์ ที่พวกเขาเชื่อว่าจะเจริญรุ่งเรืองในฐานะศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีในอีกสี่ปีข้างหน้า ซึ่งเมืองที่ติดอันดับท็อป 10 ในการสำรวจ ล้วนมีระบบนิเวศด้านไอทีที่แข็งแกร่งอยู่ก่อนแล้ว พอเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พวกเขาก็ยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

โดย 10 เมืองที่คาดว่าจะเป็นฮับเทคโนโลยีนวัตกรรมชั้นนำในอีกสี่ปีข้างหน้า นอกเหนือจากซิลิคอนวัลเลย์ และซานฟรานซิสโก ซึ่งตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาแล้ว เมืองที่ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 ประจำปี 2564 ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 2.นิวยอร์ก (สหรัฐอเมริกา) 3.เทลอาวีฟ (อิสราเอล) 4.ปักกิ่ง (จีน) 5.ลอนดอน (อังกฤษ) 6.เซี่ยงไฮ้ (จีน) 7.โตเกียว (ญี่ปุ่น) 8.เบงคาลูรุ (อินเดีย) 9.ฮ่องกง 10.ออสติน และซีแอตเทิล (สหรัฐอเมริกา)

...

ดาเรน ยอง หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม เคพีเอ็มจี เอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า 6 ใน 10 เมืองที่ได้รับการจัดอันดับอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สะท้อนให้เห็นว่าเอเชียเป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมทั่วโลก และฮับนวัตกรรมชั้นนำมากกว่า 50% อยู่ในภูมิภาคนี้

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าซิลิคอนวัลเลย์จะเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองที่มีอำนาจในด้านเทคโนโลยีระดับโลก แต่ผู้นำ 1 ใน 3 เชื่อมั่นว่าซิลิคอนวัลเลย์จะไม่สามารถรักษาตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมไว้ได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม 39% ของบรรดาผู้นำ เชื่อว่าเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีหรือ “ฮับ” (HuB) เช่น ลอนดอน สิงคโปร์ และเทลอาวีฟ จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดให้แรงงานกลุ่มที่มีทักษะ (Talent) รวมตัวและทำงานร่วมกันในชุมชนที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ขณะที่ 22% เชื่อว่าฮับน่าจะไม่สำคัญอีกต่อไป

อเล็กซ์ ฮอลท์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมของเคพีเอ็มจี กล่าวว่า การรักษาพนักงานที่ความสามารถระดับสูงเอาไว้ถือเป็นกลยุทธ์ที่จำเป็นและสำคัญ ในภาวะเช่นนี้นายจ้างต้องจัดระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ซึ่งหมายถึงการทำงานแบบผสมผสานระหว่างที่ทำงานและที่บ้าน โดยกำหนดให้เป็นนโยบายถาวร แม้หลังวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สิ้นสุดลง และเมื่อแรงงานมีการกระจายตัว ศูนย์กลางแห่งใหม่ๆของแรงงานที่มีทักษะสูงก็จะปรากฏขึ้น “เมื่อสำนักงานหลายแห่งและพื้นที่ในตัวเมืองอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ พนักงานเปลี่ยนไปทำงานทางไกล โดยบางคนออกจากเมืองใหญ่ เพื่อหาพื้นที่ที่กว้างขวางขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง”

อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัย KPMG CEO Outlook pulse survey ประจำปี 2564 พบว่าผู้นำด้านเทคโนโลยี 78% ไม่มีแผนลดขนาดการใช้พื้นที่สำนักงาน และมีประมาณ 1 ใน 4 หรือ 26% ที่คาดว่าจะจ้างแรงงานที่มีทักษะทำงานทางไกลเป็นส่วนใหญ่ในอนาคต.