5 เมษายน กลายเป็นวันที่ฟ้าผ่าดังเปรี้ยงกลางใจแฟนคลับแอลจี (LG) ภายหลังคณะกรรมการบริษัทมีการประชุมแล้วได้ข้อสรุปว่า แอลจี จำต้องปิดแผนกมือถือลง แม้จะไม่ใช่เรื่องนอกเหนือความคาดหมายนัก
ที่ว่า ไม่ใช่เรื่องที่เกินคาดมากนัก เนื่องจากสมาร์ทโฟนที่ผลิตโดยค่ายแอลจี ไม่ทำกำไรติดต่อกันมานานกว่า 6 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาแอลจี มีความพยายามที่จะยื้อให้ธุรกิจสมาร์ทโฟนไปต่อได้ ผ่านการเติมลูกเล่น นวัตกรรม และความแปลกใหม่
เราจะเห็นได้จากการเปิดตัวสมาร์ทโฟนที่ดูหน้าตาแปลกไปจากเดิม ไล่ตั้งแต่ LG G Flex และ G Flex 2 มีจุดขายเรื่อง “Self-healing” หรือความสามารถในการรักษาตัวเอง เมื่อมีรอยขีดข่วนขนาดเล็ก
LG G5 มือถือภายใต้แนวคิด Modular Phone ทำให้ปรับแต่งชิ้นส่วนของมือถือตามที่ใจอยาก เรื่อยไปจนถึง LG Wing โดยจะมีจอหนึ่งหมุนได้ (rotating screen) ไม่นับรวม LG Rollable ที่เผยให้เห็นความสามารถครั้งแรกในงาน CES2021 ซึ่งสร้างเสียงฮือฮาได้ดีทีเดียว
อยู่บนจุดสูงสุด...แต่ก็เป็นแค่เวลาสั้นๆ
แอลจี ก็เหมือนบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วไป มีสรรพกำลังมากพอในฐานะหนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก เริ่มชิมลางในธุรกิจมือถือราวปี 2002 ก่อนเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคของสมาร์ทโฟนในปี 2009 โดยมี LG GW620 เป็นรุ่นแรกประเดิมธุรกิจใหม่
แต่เมื่อพูดถึงจุดสูงสุดของธุรกิจสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์แอลจี อาจต้องย้อนกลับไปนานสักหน่อย นั่นคือ ในปี 2012 โดยในปีนั้น เป็นปีที่แอลจี ประกาศความร่วมมือกับกูเกิล (Google) เพื่อผลิตสมาร์ทโฟนรุ่นมาตรฐานของระบบปฏิบัติการ Android ในชื่อ Nexus 4
จุดเด่นของ Nexus 4 มีด้วยกันหลายแง่ ทั้งในฐานะของการเป็นสมาร์ทโฟนประสิทธิภาพสูง แต่ราคาจำหน่ายไม่แพง ทุกคนสามารถเอื้อมถึงเป็นเจ้าข้าวเจ้าของได้ง่าย
จากนั้นความสำเร็จของ Nexus 4 ทำให้กูเกิลร่วมมือกับแอลจีเป็นคำรบที่สองในชื่อ Nexus 5 ในปี 2013 โดยยังคงแนวคิดสมาร์ทโฟนมาตรฐานของระบบปฏิบัติการ Android อีกทั้งยังได้รับการอัปเดตระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ที่ไวกว่าคู่แข่ง ตลอดจนยังคงเป็นสมาร์ทโฟนที่ราคาค่างวดไม่แพงนัก ใครๆ ก็เอื้อมถึง
...
ในปีเดียวกัน แอลจี ก็มี LG G2 ซึ่งอาจกล่าวได้เป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดตลอดกาลของแอลจี โดยเป็นมือถือจอใหญ่ (ในเวลานั้น) 5.2 นิ้ว แต่ไม่เทอะทะ หน้าจอสวย ความละเอียด Full HD ซึ่งถือว่าดีมากๆ แล้วในเวลานั้น ตามด้วยฟีเจอร์ที่ครบรอบด้าน ชวนว้าว แต่ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะฟีเจอร์ Double Tap เคาะสองครั้งเพื่อเรียกการใช้งานสมาร์ทโฟน
นอกจากนี้ การออกแบบที่จัดวางองค์ประกอบได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง ซึ่งอยู่ด้านหลังตัวเครื่อง
ทว่าก็มีเรื่องตลกนิดหน่อย เพราะแม้ LG G2 จะเป็นหนึ่งในสมาร์ทโฟนที่ดีที่สุดของแอลจี แต่ยอดขายกลับทำได้ไม่ดีนัก โดยมียอดขายทั่วโลกราว 3 ล้านเครื่องเท่านั้น ผิดกับรุ่นต่อมาอย่าง LG G3 ซึ่งทำยอดขายทั่วโลกได้มากกว่า 10 ล้านเครื่อง
ในภาพรวมของ LG G3 ไม่ได้ชวนว้าวมากนัก เมื่อเทียบกับ LG G2 แต่ก็เป็นยุคแรกๆ ของโลกสมาร์ทโฟนที่เริ่มเอาจอแบบ QHD มาใช้
หลังหมดยุคความสำเร็จของ Nexus 4, LG G2 และ Nexus 5 ความน่าสนใจของสมาร์ทโฟนสายพันธุ์หุ่นยนต์เขียวจากแอลจี ค่อยๆ เสื่อมความนิยม โดยเหตุปัจจัยสำคัญหลากหลายด้าน ทั้งในแง่ของการเข้ามาตีตลาดโดยบริษัทจีน ภายใต้จุดขายสเปกดี แต่มีราคาถูกกว่า แล้วดูเหมือนว่าการทำตลาดด้วยรูปแบบนี้ จะสำเร็จได้ด้วยดี เพราะธุรกิจสมาร์ทโฟนบนเวทีโลก ถ้าไม่นับซัมซุง (Samsung) และแอปเปิล (Apple) อันดับ 3 จนถึงอันดับ 5 ล้วนเป็นแบรนด์จีนทั้งสิ้น นำโดย ออปโป้ (OPPO), เสี่ยวหมี่ (Xiaomi), วีโว่ (Vivo) รวมถึงหัวเว่ย (Huawei)
อย่างไรก็ตาม ปัญหาของแอลจี ยังมีหลายประเด็น ทั้งในแง่ของความคงเส้นคงวาของมือถือเรือธง ระบบนิเวศแวดล้อมของมือถือแอลจี การอัปเดตระบบปฏิบัติการ ซึ่งจะกล่าวต่อไปหลังจากนี้
เลือดไหลไม่หยุด
เมื่อภาพรวมในการทำธุรกิจสมาร์ทโฟนของแอลจี ค่อยๆ แย่ลง แม้จะมีบางตลาด เช่น ในสหรัฐอเมริกา ที่ดูจะพอเป็นฐานที่มั่นของแอลจี โดยในปี 2017 แอลจี เคยมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ จากการที่ซัมซุง ประสบความล้มเหลวในการวางจำหน่าย Galaxy Note 7 แต่เมื่อเข้ามาถึงปี 2020 ส่วนแบ่งตลาดของแอลจี หดเล็กลงเหลือเพียง 9 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ธุรกิจสมาร์ทโฟนของแอลจีบนเวทีโลก ก็มีส่วนแบ่งตลาดเหลือเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นจึงทำให้ข่าวคราวการปิดแผนกมือถือของแอลจี จากที่เคยเป็นแต่เพียงแว่วเสียง ก็ค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้เลยว่า “เหลือแค่รอการประกาศอย่างเป็นทางการ” เท่านั้น
ธุรกิจสมาร์ทโฟนของแอลจีขาดทุนบักโกรกต่อเนื่องติดต่อกันมา 6 ปี ขาดทุนเบ็ดเสร็จ 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไม่ว่าแอลจีจะรวยมาจากไหน แต่ในเมื่อเลือดไหลเป็นน้ำขนาดนี้ ก็คงต้องรีบห้ามเลือด พร้อมกับถอยฉากออกจากตลาดสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นธุรกิจทะเลสีเลือด แล้วปล่อยให้สิงสาราสัตว์ตัวใหญ่ๆ อย่างแอปเปิล ซัมซุง และสารพัดแบรนด์จีนสู้กันต่อไปน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า
สิ่งที่น่าสนใจ เมื่อแอลจี ตัดสินใจเก็บข้าวของออกจากธุรกิจสมาร์ทโฟน พี่ใหญ่บ้านเดียวกันอย่างซัมซุง ดูจะได้โอกาสนี้มากเป็นพิเศษ นั่นเป็นเพราะตลาดสมาร์ทโฟนเดิมของแอลจี โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา พวกเขาอยู่ในระดับกลาง จึงทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปเลือกซบซัมซุง โดยซัมซุงมีสมาร์ทโฟนในกลุ่ม A Series เป็นตัวชูโรง
อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรมองข้ามผู้ผลิตสมาร์ทโฟนจากประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะในรายของวันพลัส (OnePlus) และเสี่ยวหมี่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับหัวเว่ย ที่โดนจริง เจ็บจริง ไม่มีตัวแสดงแทน
นอกจากนี้แล้ว แบรนด์ย่อยอย่างโมโตโรลา (Motorola) ก็น่าจับตามองไม่น้อย ในฐานะแบรนด์อเมริกัน(เชื้อสายจีน ตามบริษัทแม่อย่างเลอโนโว) รวมถึงอัลคาเทล (Alcatel) ซึ่งมีทีซีแอล (TCL) เป็นเจ้าของไลเซนส์ เพราะฐานที่มั่นของโมโตโรลา และอัลคาเทล ในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับกลางเหมือนกับแอลจี
...
มุ่งสู่นวัตกรรมอนาคต
ในการประชุมของคณะกรรมการจากแอลจี มีข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าแอลจีจะไปเอาดีในธุรกิจเพื่ออนาคต เลิกจมปลักกับธุรกิจที่ไม่ทำกำไร มีแต่ขาดทุนอย่างสมาร์ทโฟน โดยแอลจีจะเบนเข็มไปให้ความสำคัญกับธุรกิจรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเวลานี้ มียักษ์ใหญ่นอกวงการยนตรกรรมอย่างแอปเปิล กำลังให้ความสนใจเช่นเดียวกัน
ขณะเดียวกัน ธุรกิจสมาร์ทโฮมก็ดูน่าสนใจไม่น้อยในมุมมองของแอลจี เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า แอลจี ก็มีธุรกิจหลักในกลุ่มของเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งการเข้ามาของ 5G สามารถนำไปต่อยอดอย่างไร้รอยต่อเพื่อเข้าสู่ยุคของ Internet of Things หรือ IOT ได้ไม่ยาก
เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจะต้องพัฒนาเป็นของตัวเอง มิเช่นนั้นแล้วสุ่มเสี่ยงต่อการตกยุค ตกขบวนเทคโนโลยี รวมถึง 6G ที่ในเวลานี้ ยังไกลตัว แต่แอลจีก็ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ
เมื่อดูจากแถลงการณ์การประกาศปิดแผนกมือถือของแอลจี ก็จะเห็นได้ว่าแอลจี มีความสนใจในด้านอื่นๆ อีกเพียบ ธุรกิจสมาร์ทโฟนเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของแอลจีเท่านั้น
การปิดแผนกมือถือเป็นเพียงการหยุดไม่ให้เลือดไหล แล้วเอาเลือดที่ว่านี้ ไปเลี้ยงธุรกิจใหม่ และอาจเติบโตเป็นธุรกิจสำคัญในอนาคต ดูจะเป็นสิ่งที่เข้าท่ากว่า
...
วินิจฉัยความล้มเหลวของ LG
แม้การปิดแผนกมือถือของแอลจีจะเป็นการสะท้อนว่าแอลจีล้มเหลวในธุรกิจสมาร์ทโฟน แต่สิ่งที่ต้องยอมรับ และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แอลจี เป็นเพียงไม่กี่บริษัทที่กล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ในสมาร์ทโฟนของตัวเองแทบทุกรุ่น
ในปี 2007 ยุคที่ iPhone ยังไม่ถือกำเนิด แอลจีได้นำการทัชสกรีนแบบ Capacitive เข้ามาใช้ในสมาร์ทโฟนเป็นครั้งแรก
ต่อด้วย LG Optimus 2X วางจำหน่ายในปี 2011 โดยเป็นครั้งแรกที่เอาชิปประมวลผล Dual-core มาใช้บนมือถือ และบันทึกวิดีโอความละเอียด 1080p ได้ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องใหม่ของยุคนั้น
ปีถัดมา LG Optimus 3D กับกล้องหลังสองตัว Dual cameras และขยับมาเป็นสมาร์ทโฟน 4 แกนสมอง ใน LG Optimus 4X
จากนั้นก็เป็น LG G2 และ LG G3 ที่กล่าวไปแล้วในช่วงต้น
รุ่นถัดไป ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือ LG G5 เป็นความจริงอยู่ว่า LG G5 เคยเป็นสมาร์ทโฟนของแอลจี ที่พยายามสร้างความแตกต่างในตลาด ด้วยการทำให้มันกลายเป็นสมาร์ทโฟนที่ผู้ใช้งานสามารถคัสตอม (Customize) เองได้ แล้วเรียกมันว่า LG Friends แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว มันกลับล้มเหลว ซึ่งปัจจัยสำคัญอยู่ตรงที่ชิ้นส่วนของ LG G5 ไม่ได้มีตัวเลือกเอาไว้ปรับแต่งมากมายนัก อีกทั้งราคาวางจำหน่ายของ LG G5 จัดว่า “แพงเอาเรื่อง” โดยตั้งราคาไว้ที่ 650 ดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่ความพยายามกระตุ้นให้เกิดชุมชนนักพัฒนาโมดูลสำหรับ LG G5 ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อถึงคิวการเปิดตัว LG G6 ก็กลายเป็นว่า LG G6 กลับไปออกแบบด้วยรูปแบบของสมาร์ทโฟนดั้งเดิม ทำให้ผู้ใช้ LG G5 ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่สามารถดูแลลูกค้าในระยะยาวได้สำเร็จ ซึ่งส่งผลต่อศรัทธาของผู้บริโภค
...
ต่อมาเป็น LG G8X มือถือที่แอลจี นำเสนอในฐานะที่เป็นมือถือสองหน้าจอ และมีแนวคิดของการเป็นมือถือพับได้ เรื่อยมาจนถึง LG Wing กับความพยายามสร้างสรรค์การออกแบบสมาร์ทโฟน โดยมีจุดขายคือการหมุนจอ คล้ายกับตัว T ซึ่งเป็นมือถือรุ่นแรกและรุ่นสุดท้ายของ Explorer Project เนื่องจาก LG Rollable ก็คงไม่ถูกเข็นออกมาวางขายอีกต่อไปแล้ว ท่ามกลางความเสียดายของแฟนคลับกลุ่มหนึ่งของแอลจี
ปัญหาสำคัญของแอลจี เมื่อวิเคราะห์แล้ว ต้องยอมรับว่า แอลจี มีความพยายามในการนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ในการผลิตสมาร์ทโฟน ทั้งในแง่ของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ แต่การอัปเดตซอฟต์แวร์เวอร์ชันใหม่ที่ล่าช้า เพราะในภาพรวมแล้วการอัปเดตของระบบปฏิบัติการ Android ก็ไม่ค่อยจะเร็วอยู่แล้ว แต่แอลจีกลับปล่อยอัปเดตช้ากว่าคู่แข่ง จึงยิ่งทำให้มือถือจากแอลจีไม่มีแต้มต่อตรงส่วนนี้ ความสนใจย่อมน้อยลง อีกทั้งแนวทางในการนำเสนอสมาร์ทโฟนของแอลจี ดูมีความสับสน จนไม่อาจคาดเดาทิศทางได้เลย
ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ สมาร์ทโฟนในกลุ่ม Galaxy Note เราจะเห็นภาพได้ชัดว่า Galaxy Note เน้นลูกเล่นของ S Pen เน้นความสามารถในการบันทึกผ่าน Galaxy Note ให้ทัดเทียมกับการเขียนด้วยปากกา-ดินสอ บนกระดาษ พร้อมเครื่องมือที่จะสนับสนุนให้การบันทึกโน้ตทำได้อย่างราบรื่นที่สุด
แต่ทางฝั่งแอลจี ในกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับไฮเอนด์ดูจะเน้นของใหม่ดูเซ็กซี่ แต่เมื่อคิดอีกที มันกลับขาดความชัดเจน มองไม่ออกว่าแอลจีกำลังให้ความสำคัญกับอะไร อย่างไหนเป็นฟีเจอร์ที่ผู้บริโภคต้องการ หรือพูดให้ง่ายกว่านั้น คาแรกเตอร์ของแอลจี ไม่ชัดเจน
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราสูญเสียไปจากการปิดแผนกธุรกิจมือถือแอลจี คิดว่าคงมีเรื่องเดียว นั่นคือ เราจะไม่ได้เห็นสมาร์ทโฟนแนวคิดใหม่จากแอลจี อีกต่อไป และในบรรทัดสุดท้ายนี้ คงต้องกล่าวคำอำลาว่า...Rest in Peace LG (mobile phone)
ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Sathit Chuephanngam
อ้างอิง:
The Verge: LG had few smartphone hits, but it'll still be missed.
The Next Web: A brief history of LG's weird and wonderful android phones
9to5Google: LG’s death leaves a gaping hole in the US prepaid market; who stands to fill it?
Washington Post: LG is getting out of the smartphone business it helped pioneer
Reuters: LG Electronics fans bemoan end of era as firm exits smartphone business