การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่างเว้นจากการเลือกตั้งไปนานหลายปี โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

การทำงานของ อบจ. เป็นหนึ่งใจหัวใจสำคัญในการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่น เพื่อให้คนในจังหวัดนั้นๆ มีโอกาสเลือกตัวแทนไปบริหารชุมชนของตัวเอง ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ จะมีบัตรเลือกตั้งด้วยกัน 2 ใบ นั่นคือ การเลือกตั้งในส่วนของนายกฯ อบจ. และสมาชิกสภา อบจ.

การเลือกตั้งครั้งนี้ จัดขึ้นพร้อมกันทั้งประเทศ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยการจัดการเลือกตั้ง กกต.ใช้วิธีกระจายการบริหารให้กกต.ในแต่ละจังหวัดและอำเภอจัดการกันเอง ซึ่งกกต.คาดการณ์ว่า จะต้องใช้เวลา 1-2 วัน จึงจะประกาศผลการเลือกตั้งได้

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 2563 ไทยรัฐออนไลน์ร่วมกับ Vote62 และองค์กรพันธมิตร ใช้ระบบการรายงานผลแบบคราวด์ซอร์ส (Crowdsource) โดยให้ประชาชนช่วยกันเก็บข้อมูล ถ่ายภาพกระดานคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เข้ามาในระบบของ Vote62 เพื่อเป็นอีกช่องทางในการสังเกตบรรยากาศการเลือกตั้ง และเกาะติดผลอย่างไม่เป็นทางการที่มาจากประชาชนทั่วไป

ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้พัฒนาระบบ Vote62
ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ผู้พัฒนาระบบ Vote62

...

ไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ ปฏิพัทธ์ สุสำเภา ถึงการทำงานของ Vote62 ที่ใช้ระบบคราวด์ซอร์สเข้ามารายงานผลการเลือกตั้งคู่ขนานไปกับข้อมูลที่ได้จากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

เพิ่มช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน

ปฏิพัทธ์ เริ่มต้นเกริ่นก่อนว่า แพลตฟอร์ม Vote62 ที่ใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นนี้ เป็นแพลตฟอร์มเดียวกับที่ใช้ในการเลือกตั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพียงแต่มีการเขียนโค้ดเพิ่มเติม เพื่อให้สอดรับกับการเลือกตั้งสนามเล็ก โดยแนวคิดหลักของแพลตฟอร์มนี้ คือ ให้ความสำคัญในการเพิ่มโอกาสการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

“เมื่อก่อนถ้าจำกันได้จะมีโฆษณาว่า ถ้าอยากมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องไปเลือกตั้ง นั่นจึงเป็นแนวทางของเรา แล้วเราก็เพิ่มไปว่าอยู่บ้านก็มีส่วนร่วมทางการเมืองได้”

ขณะที่กลไกการทำงานของ Vote62 ปฏิพัทธ์ เล่าว่า มีด้วยกันสองระดับ

โอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน
โอกาสในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน

ระดับแรก ถ้าบ้านอยู่ใกล้คูหาก็เดินไปถ่ายรูปที่คูหาแล้วส่งข้อมูลกลับมาที่แพลตฟอร์ม Vote62 ซึ่งประชาชนที่ส่งภาพมาในระบบสามารถกรอกข้อมูลได้เลย แต่ถ้าไม่สะดวกก็ไม่เป็นไร

“สิ่งที่เราต้องการคือสิ่งที่อยู่บนกระดานนับคะแนน บัตรดีเท่าไร บัตรเสียมากแค่ไหน เหล่านี้เป็นข้อมูลดิบชุดแรก และเป็นข้อมูลตั้งต้นการทำงาน”

ระดับที่สอง สำหรับประชาชนทางบ้านที่พอมีเวลา สามารถเป็นอาสาสมัครช่วยกรอกข้อมูล และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งเข้ามาในระบบได้เช่นกัน

“เรามีฉันทามติ (Consensus) ว่า ถ้ามีการส่งข้อมูลที่ตรงกัน 3 ครั้ง จะนับเป็นความถูกต้อง พร้อมด้วยการ Clearing House เพื่อดูข้อมูลและตรวจสอบความถูกต้อง และถ้าหากไม่ถูกต้องก็ทิ้งข้อมูลนั้น ไม่นำมาใช้ในระบบ”

ปฏิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า ระบบหลังบ้านของ Vote62 จะมีฟีเจอร์คอยตรวจสอบความถูกต้องอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากในบางครั้งอาสาสมัคร อาจส่งภาพที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น ภาพโป๊ ภาพเซลฟี่ของอาสาสมัครหน้าคูหาเลือกตั้ง หรือบางครั้งความผิดพลาดก็มาจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.)

“ความผิดพลาดที่ว่า เป็นในแง่ของการนับคะแนนผิด นับไม่ครบ แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อย เพราะในหน่วยเลือกตั้ง เวลามีความผิดพลาดใดๆ ก็ตาม ผู้สังเกตการณ์รอบหน่วยเลือกตั้ง มักจะท้วงอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ”

รู้จัก Parallel Vote Tabulation

ทำความรู้จักกับ Parallel Vote Tabulation
ทำความรู้จักกับ Parallel Vote Tabulation

...

พร้อมกันนี้ ในการเลือกตั้ง อบจ. แพลตฟอร์ม Vote62 ได้นำสิ่งที่เรียกว่า Parallel Vote Tabulation หรือ PVT มาใช้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อความโปร่งใส เป็นธรรม และถูกต้องในกระบวนการเลือกตั้ง

“ระบบ PVT เป็นระบบที่ใช้กับประเทศที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไทยก็อยู่ในข่ายนี้ และผลพลอยได้ของ PVT มันช่วยให้เราสามารถคาดเดาผู้ชนะการเลือกตั้งได้” ปฏิพัทธ์ กล่าว

ในส่วนหลักการทำงานของ PVT ปฏิพัทธ์ อธิบายทีละขั้นตอนว่า ผลการเลือกตั้งที่ PVT คาดเดากับผลการเลือกตั้งจริงควรจะตรงกัน ซึ่งการทำงานของ PVT มาจากการสุ่มตัวอย่าง (Sampling) ยกตัวอย่าง ถ้าเราตั้งสมมติฐานให้การเลือกตั้ง อบจ.ที่จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีหน่วยเลือกตั้ง 360 หน่วยให้เป็นตัวแทนของผู้มาใช้สิทธิ์ของคนในพื้นที่นั้นๆ PVT จะคำนวณต่อไปว่า ต้องใช้หน่วยเท่าไร จึงจะมั่นใจได้ว่าคะแนนเหล่านั้นเป็นตัวแทนของทั้ง 360 หน่วย

“กรุงเทพฯ มี 6,000 หน่วยเลือกตั้ง เราใช้ PVT 30 กว่าหน่วยก็พอที่จะประเมินผลผู้ชนะได้แล้ว ปัจจัยหลักๆ มาจากจำนวนหน่วย จำนวนประชากร และค่าความผิดพลาด (Margin of Error)” ปฏิพัทธ์ อธิบายต่อไปว่า ส่วนค่าความผิดพลาดของ PVT ครั้งนี้ ประเมินเอาไว้ว่า คะแนนของผู้ชนะและผู้แพ้ห่างกันเกิน 1 เปอร์เซ็นต์ จะถือว่าตรงกับสมมติฐาน

อย่างไรก็ตาม ปฏิพัทธ์ ยอมรับว่า PVT ก็มีปัญหาเช่นกัน โดยปัญหาที่ว่านั้นเป็นเรื่องของคน

“ในการเลือกตั้งปี 2562 เราพบว่า อาสาสมัครแต่ละหน่วยเลือกตั้งกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองใหญ่และกรุงเทพฯ” ปฏิพัทธ์ กล่าว ซึ่งการแก้ปัญหานี้ เขามองว่า ก็ต้องพัฒนาเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมถึงเครือข่ายคณะทำงานของพรรคการเมืองแต่ละพรรคมาช่วยกรอกคะแนนในส่วนนี้

“แต่ในส่วนของคณะทำงานของพรรคการเมือง ก็จะมีอีกปัญหาหนึ่งแทรกขึ้นมาเหมือนกัน เพราะบางครั้งคณะทำงานของพรรคการเมืองจะส่งข้อมูลเฉพาะในส่วนของพรรคที่ตัวเองติดตาม ไม่ได้ถ่ายภาพคะแนนทั้งกระดานอย่างที่เราต้องการ”

พร้อมกันนี้ ปฏิพัทธ์ ได้เผยอีกหนึ่งข้อจำกัดในการทำงานของแพลตฟอร์ม Vote62 นั่นคือ ประเด็นการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) ของหน่วยงานของรัฐ

“ด้วยความที่แพลตฟอร์ม Vote62 เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยภาคเอกชน จึงไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐเต็มที่มากนัก ซึ่งเราเข้าใจว่าเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลไม่ได้อยู่ในกรอบการทำงานของรัฐ ก็เลยไม่ได้ข้อมูลนี้มาเสริมในแพลตฟอร์ม”

นอกจากนี้ หน่วยเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นมีจำนวนหน่วยเลือกตั้งมากมายมหาศาล ซึ่ง Vote62 ยังไม่มีอาสาสมัครครบทุกหน่วย ซึ่งปฏิพัทธ์ ตั้งใจว่าจะขอข้อมูลโดยตรงจากหน่วยงานรัฐท้องถิ่นและ กกต.

“เราคงทำแคมเปญแบบเดียวกับไต้หวันเมื่อสัก 10 ปีก่อน โดยจะให้อาสาสมัครไประดมขอข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ เพื่อเกิดความตระหนักในความสำคัญของการนำข้อมูลมาเผยแพร่สู่สาธารณะ”

หวังปั้นเป็นจดหมายเหตุออนไลน์

...

หน้าเว็บไซต์ Vote62
หน้าเว็บไซต์ Vote62

เมื่อพัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์แล้ว ปฏิพัทธ์ ได้เผยถึงความคาดหวังของตัวเขาที่มีต่อแพลตฟอร์ม Vote62 ซึ่งหวังจะพัฒนาให้เป็นจดหมายเหตุออนไลน์

“แน่นอนว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ยังนึกภาพออกไม่หมดว่าจะให้ออกมารูปร่างแบบไหน แต่สิ่งที่ร่างเอาไว้ คือ การทำให้ทุกการเลือกตั้ง ทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลดิบได้ ป้ายหาเสียงแต่ละป้ายเขียนอะไรบ้าง”

สุดท้ายปฏิพัทธ์ หวังใจว่า ก่อนที่คูหาเลือกตั้งจะปิดลง จะได้อาสาสมัครสำหรับ Vote62 ได้ครบทุกหน่วยเลือกตั้ง และหวังด้วยว่า แพลตฟอร์มแห่งนี้ จะเป็นบันไดของการมีส่วนร่วมทางการเมือง

“ตอนนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองมาแรงมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วมทางการเมืองตั้งแต่วันนี้ โดยไม่ต้องรอให้อายุครบ 18 ปี” ปฏิพัทธ์ ปิดท้าย

อัปเดตผลการเลือกตั้ง อบจ. 2563 พร้อมรายงานคะแนนสด ได้ที่ ไทยรัฐออนไลน์

...


ผู้เขียน: Wiwat Rungsaensuksakul
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan