เทคโนโลยีไร้สายในทุกวันนี้ ทำให้เราจำเป็นต้องต่ออุปกรณ์ไอทีหลายอย่างเพื่อใช้เชื่อมโยงกับโลกภายนอก ตั้งแต่ระดับนักเรียนที่ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลการศึกษา รวมถึงวัยทำงานที่ใช้การติดต่อระบบเครือข่ายเชื่อมโยงกันได้ทั้งโลก แต่การอ่านข้อมูลจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แสดงภาพที่สำคัญ นั่นก็คือ “จอคอมพิวเตอร์”

ในระดับการใช้งานแบบบุคคล และองค์กรขนาดเล็ก “จอคอมพิวเตอร์” จะมาพร้อมกับสาย VGA หรือ HDMI ที่เชื่อมออกมาจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และโน้ตบุ๊ก เพื่อขยายสิ่งที่ต้องมองเห็นให้ชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เอกสาร, แปลนออกแบบ, ภาพ, วิดีโอ ซึ่งนิยมใช้หน้าจอขนาด 12 นิ้วขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกันการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์กับจอทีวีก็ทำได้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า “จอคอมพิวเตอร์กับจอทีวีต่างกันอย่างไร” วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบ

จอคอมพิวเตอร์ กับ จอทีวี ต่างกันอย่างไร 

...

ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของจอ อยากให้คุณลองจินตนาการถึงการทำภาพการ์ตูนที่เกิดจากการวาดสิ่งหนึ่งลงบนหน้ากระดาษคนละแผ่นให้มีความแตกต่างกันเล็กน้อย แล้วเปิดเปลี่ยนภาพอย่างรวดเร็ว ซึ่งสายตามนุษย์จะมองเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวจากกระดาษที่ถูกเปลี่ยน 30 แผ่น ต่อ 1 วินาที ก่อนเลือกว่าจะใช้จอแบบไหน ต้องเข้าใจวิวัฒนาการจอภาพจอคอมพิวเตอร์และจอทีวีที่พัฒนามาพร้อมกัน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

จอแคโทด (CRT)

จอคอมพิวเตอร์ถูกสร้างขึ้นมาด้วยหลักการเดียวกับจอทีวี ซึ่งเป็นการแสดงผลของรังสีแคโทด เรียกว่าเทคโนโลยี CRT (Cathode Ray Tubes) ใช้หลักการเปลี่ยนภาพ 30 ภาพ ต่อ 1 วินาที เมื่อรังสีถูกสัญญาณกระตุ้นสารบนจอภาพให้แสดงแสงเป็นตัวอักษร เรียกจุดที่ปรากฏบนจอภาพว่า พิกเซล (Pixel) จอคอมพิวเตอร์สมัยก่อนจึงมีน้ำหนักมาก และมีขนาดใหญ่ เพราะต้องบรรจุหลอดแก้วและตัวส่งสัญญาณ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาให้บางลงเรื่อยๆ


จอแอลซีดี (Liquid Crystal Display : LCD)

ระยะเวลาการพัฒนาจอ LCD กับจอ Plasma ใกล้เคียงกันมาก แต่ LCD ได้ถูกนำมาพัฒนาให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาขนาดเล็ก (ที่เรียกว่าปาล์ม (Plam)) รวมถึงอุปกรณ์หน้าจอดิจิตัลอย่างเครื่องคิดเลข หน้าจอไมโครเวฟ ด้วยการใช้เทคนิคให้แสงได้มากกว่าขาวดำ ทำให้เกิดเทคโนโลยีจอสีจากการผสมสี แดง เขียว และน้ำเงิน


จอพลาสมา (Plasma)

จอพลาสมา (Plasma) เกิดจากการพัฒนาการเซลล์สีในแผ่นแก้ว ที่ 1 จุดแสง สามารถสร้างขึ้นมาจาก 3 สี ด้วยการปรับแรงดันไฟฟ้าในแต่ละเซลล์ เพื่อเปลี่ยนความเข้มของสี ตัวอุปกรณ์ปลดปล่อยแสงของจอพลาสมามีขนาดเล็กลง ทำให้ข้อจำกัดของขนาดจอถูกเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มเห็นจอภาพที่มีขนาดบางขึ้น ทั้งจอคอมพิวเตอร์และจอทีวี


จอแอลอีดี (Light Emitting Diode : LED)

จอแอลอีดีเกิดจากแสงที่ถูกกระตุ้นอยู่กับสารอนินทรีย์ผสมสารกึ่งตัวนำในหลอดภาพ ทำให้เกิดช่วงแสงใกล้เคียงแสงอัลตราไวโอเลตที่ตามองเห็น สร้างสีสันได้มากขึ้น นำไปสร้างจอภาพโทรทัศน์ขนาดใหญ่หลายฟุตได้


จอโอแอลอีดี หรือ โอเลต (Organic Light Emitting Diodes : OLED)

จอโอแอลอีดี เป็นจอภาพที่มีขนาดบาง และใช้โครงสร้างเซลล์ที่กระตุ้นและปล่อยแสงสว่างที่บางลงจากเดิม ด้วยองค์ประกอบหลายชั้น สร้างสีสันได้หลากหลายขึ้นถึงขั้นเสมือนจริง และพัฒนาขึ้นเป็น AMOLED (Active Matrix OLED) ที่นิยมใช้ในโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนปัจจุบันนี้


วิวัฒนาการของจอภาพที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้บางเทคโนโลยีนิยมในการใช้งานกับคอมพิวเตอร์, ทีวี, อุปกรณ์อื่นๆ ไม่เหมือนกัน แต่การใช้งานหลักๆ ที่ทำให้เราแยก “จอคอมพิวเตอร์” และ “จอทีวี” ออกจากกันได้ คือการประมวลผล

ในส่วนการทำงานทั้งจอคอมพิวเตอร์และจอทีวีใช้งานทดแทนกันได้ แต่จะติดเรื่องความเข้มของแสงที่อาจทำให้สายตาเสีย รวมถึงเปิดไว้นานๆ จะเปลืองไฟ เมื่อใช้ปัจจัยเรื่องความเหมาะสมของการใช้งานมาเป็นเกณฑ์ก็จะทำให้เราแยกได้ง่ายขึ้น

...

จอทีวีในปัจจุบันนิยมใช้เทคโนโลยี LED เนื่องจากเมื่อต้องเปิดเครื่องไว้นานๆ จะประหยัดไฟมากกว่า คำถามที่ผู้ซื้อต้องตัดสินใจว่าจะซื้อจอคอมพิวเตอร์หรือจอทีวีดีกว่ากัน เช่น

  • ต้องการเปิดใช้งานนานแค่ไหน
  • ต้องการใช้เล่นเกมไหม
  • ต้องการใช้ดูหนังไหม
  • ต้องการใช้อ่านหนังสือไหม
  • ต้องการให้มีกล้องไหม
  • ต้องการให้มีลำโพงไหม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเลือกจอคอมพิวเตอร์

จอคอมพิวเตอร์ขนาดไหนดี

วิธีการเลือกจอคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ต้องดูหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ขนาดของพื้นที่วาง และระยะสายตาในการมองเห็นที่พอดี แต่ส่วนใหญ่แล้วนิยมเลือกจอขนาด 12 นิ้วขึ้นไป ควรเลือกจอขนาดพอดีกับการใช้งาน เพราะจอใหญ่จะกินไฟมากกว่าจอเล็ก

จอคอมพิวเตอร์ กินไฟกี่วัตต์

...

คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไป เฉพาะส่วนจอภาพนั้น เว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า จอคอมพิวเตอร์ CRT มีกำลังไฟ 80-100 วัตต์, จอคอมพิวเตอร์ LCD มีกำลังไฟ 35-50 วัตต์ และจอคอมพิวเตอร์ LED มีกำลังไฟ 30-45 วัตต์

จอคอมพิวเตอร์ 144Hz คืออะไร

จอคอมพิวเตอร์ 144Hz คือคุณภาพหน้าจอมอนิเตอร์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบันนี้ โดยให้ภาพที่ลื่นไหล 144Hz คือค่า Refresh Rate สูงสุดในจอคอมพิวเตอร์ที่ขายในท้องตลาดทุกวันนี้ รองลงมาคือ 120Hz และ 60Hz เหมาะสำหรับใช้กับงานทุกด้านที่ต้องมองผ่านหน้าจอ

จอคอมพิวเตอร์ 4k

จอคอมพิวเตอร์ 4k คือจอที่มีคุณภาพของภาพ 3840x2160 พิกเซล นิยมใช้เป็นจอทีวี และเป็นจอเล่นเกมที่ต้องการภาพสวย ได้ประสบการณ์ภาพที่ดีขึ้น แต่เป็นจอภาพที่มีราคาสูง

จอคอมพิวเตอร์ยี่ห้อไหนดี 2020

ปัจจุบันมีแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีผลิตจอคอมพิวเตอร์คุณภาพดีมากมาย ทั้งในประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี อาทิ LG, Acer, Dell, Samsung, HP, Lenovo, Philips, AOC, MSI, AOPEN เป็นต้น เพื่อการเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์ที่ตรงกับการใช้งาน อย่าลืมเลือกขนาดหน้าจอที่พอดี และคำนวณระยะเวลาการใช้งาน เพื่อการใช้งานที่คุ้มค่า ไม่กินไฟ.

ที่มา : tatc.ac.thegat.co.th