• จารย์เจ Master Gamer นักแคสต์เกมมืออาชีพ ผู้ติดตามหลักล้าน สู่หนทางสร้างรายได้
  • นักกีฬา E-Sport อาชีพในฝันของเกมเมอร์ ไม่ใช่ใครก็เป็นได้
  • เส้นแบ่งที่แตกต่าง ชอบเล่นเกม ไม่ได้เป็นเด็กติดเกมทุกคน

เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อพบว่าผลสำรวจในปี 2019 คนไทยพูดถึง "เกม" บนแพลตฟอร์มทวิตเตอร์มากเป็นอันดับ 4 ของโลก ขณะเดียวกันยังพบว่า อาชีพมาแรง ที่เด็กรุ่นใหม่ให้ความสนใจอันดับต้นๆ ก็คือ แคสเตอร์ หรือ นักแคสต์เกม สตรีมเมอร์ รวมไปถึงยูทูบเบอร์สายเกม

สะท้อนให้เห็นว่าในปัจจุบันคนให้ความสนใจเกี่ยวกับ "เกม" มากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึงภาพลักษณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้หยุดเพียงความชื่นชอบเกม แต่มีการต่อยอดไปถึงเรื่องรายได้ การมีชื่อเสียง และนักกีฬาระดับโลก

รู้จัก "จารย์เจ" Master Gamer

หากพูดถึง "จารย์เจ" Master Gamer หรือ นายเอกอนันต์ เลิศพงษ์อนุกูล แคสเตอร์ สังกัด Online Station ที่มีผู้ติดตามในช่องยูทูบกว่า 3.6 ล้าน ซึ่งคนที่อยู่ในวงการเกมคงจะคุ้นหน้าคุ้นตากันดี โดยเฉพาะคอเกม Dead by Daylight เรียกได้ว่าเป็นนักเคสต์เกมที่อยู่ในแวดวงนี้มานานหลายปี 

...

จากนักศึกษาเอกคอมฯ สู่ นักแคสต์เกมมืออาชีพ

จารย์เจ เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเข้าวงการเกม ตนเองเป็นนักศึกษาทั่วไป จบจากคณะครุศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ที่ชอบเล่นเกมมาตั้งแต่เด็ก พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็เริ่มเห็นว่ามีคนทำคอนเทนต์ในยูทูบกันเยอะมาก แต่คอนเทนต์เกมยังไม่ค่อยมี

ช่วงนั้นผมเล่นเกมหนึ่งอยู่ หากพูดไปทุกคนจะรู้จักเลย นั่นก็คือ GTA แต่เป็นเวอร์ชั่นเก่า แล้วคิดได้ว่า "ในเมื่อเราเล่นอยู่แล้ว ลองอัดคลิปอัปขึ้นยูทูบ แล้วแชร์ให้คนในคอมมูนิเคชั่นเล็กๆ ดูว่าจะเป็นอย่างไร" จึงลองทำเล่นๆ ซึ่งสมัยนั้นไม่ได้มีการตัดต่ออะไร ทำแล้วโยนขึ้นยูทูบไปทั้งก้อนเลย ไม่ได้สนใจยอดวิว ทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เดือนค่อยย้อนกลับมาดู พบว่ามีคนเข้ามาดูคลิปนั้นเยอะมากๆ เลยคิดว่าน่าจะเอามาต่อยอดได้

ส่วนตัวพอรู้มาบ้างว่า หากมีคนเข้ามาดูคลิปเยอะๆ จะสามารถสร้างรายได้ ในตอนนั้นเริ่มเป็นพาร์ทเนอร์กับยูทูบ แต่ยังไม่ได้หวังอะไรมาก ไม่รู้ว่าจะทำได้จริงหรือเปล่า ซึ่งในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถทำได้ คิดไว้ว่าจะวางฐานให้แน่นก่อน และคอนเทนต์ที่ทำตอนนั้นก็ยังไม่มีการลงทุนอะไร มีคนติดตามประมาณหลักพัน

ถ้าถามว่ามาเป็นนักแคสต์เกมมืออาชีพตอนไหน น่าจะเป็นช่วงหลังจากเรียนจบ ในตอนนั้นทาง Online Station เป็น MCN (Multi Channel Network) กับทางยูทูบ ได้เข้ามาดูแลเรื่องการทำคลิป สร้างคอนเทนต์เต็มตัว นั่นทำให้ผมคิดว่าจะทำอาชีพแคสต์เกมเป็นหลัก

นักแคสต์เกมมีสังกัด กับ ไม่มีสังกัด ต่างกันไหม

เรื่องนี้มีความต่างกันมาก ตอนที่ผมทำคลิปเองเป็นการทำแบบขำๆ ไม่ได้จริงจังอะไร ไม่ได้หวังว่าจะมีรายได้ แต่พอเข้าสังกัดแล้ว จะรู้ว่าสามารถใส่เพลงตรงนี้ได้ ทางสังกัดจะดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ให้ หางานลูกค้ามาให้ เช่น เกมมิ่งเกียร์ (Gaming Gear) หรืออุปกรณ์เสริมในการเล่นเกม รวมไปถึงการออกงานต่างๆ

ความต่างระหว่าง เด็กติดเกม กับ นักแคสต์เกม

จารย์เจ กล่าวว่า นักแคสต์เกม คือกลุ่มคนที่อัดวิดีโอ ทำคอนเทนต์อย่างจริงจัง หารายได้จากตรงนี้ ส่วนเด็กติดเกม จะไม่จริงจังในเรื่องนี้ ไม่มีรายได้ สำหรับคนที่อยากเป็นนักแคสต์เกม สิ่งที่จะทำให้ตัวเองมีชื่อเสียง สิ่งสำคัญคือ ต้องมีฝีมือ แม้ว่าคุณจะเป็นคนพูดน้อย หากเล่นเก่งก็จะมีคนเข้ามาศึกษาวิธีการเล่นเกมของคุณ 

แต่หากเล่นไม่ค่อยเก่ง แต่พูดเอนเตอร์เทนคนเก่งมาก คนที่เข้ามาดูสนุก สามารถสร้างเสียงหัวเราะ ทำอะไรก็ดูตลกไปหมดเลย ก็จะสามารถสร้างชื่อเสียงจากตรงนี้ได้เช่นกัน

ในเรื่องของความรู้เรื่องติดตัว อาจจะต้องมีความรู้เรื่องการตัดต่อวิดีโอติดตัวบ้าง แต่บางคนก็มีทีมสำหรับตัดต่อคลิป ส่วนตัวผมเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาก่อน ทำให้มีความรู้นิดหน่อย แต่ส่วนมากจะมาหาความรู้เพิ่มเติมจากในยูทูบ เช่น การตัดต่อ การใช้โปรแกรมต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีคนลงคลิปสอนเรื่องพวกนี้เยอะมาก ก่อนหน้านี้ผมตัดต่อเอง แต่ตอนนี้จะมีทีมตัดต่อให้

ความยากง่ายของการแคสต์เกม

...

จารย์เจ เปิดเผยว่า จะแคสต์เกมจากการเล่นแล้วชอบ เมื่อก่อนจะเล่นเกมแนว MOBA (Multiplayer Online Battle Arena) แต่ตอนนี้จะเล่นเกมแนว Survival หรือแนวเอาชีวิตรอด หรือเกมในมือถือ เกมที่เล่นง่ายๆ สบายๆ เพราะรู้สึกว่าสะดวก น้องๆ ทางบ้านก็ชอบเหมือนกัน

โดยเฉพาะเกม Dead by Daylight เป็นแนว Survival ถือว่าเป็นเกมสร้างชื่อของผมเลยก็ว่าได้ เริ่มเล่นตั้งแต่เปิดเซิร์ฟเวอร์ใหม่ๆ ตอนนั้นลองเล่นแล้วก็อัปคลิปลงในยูทูบ ทำให้ช่วงนั้นมีคนติดตามเพิ่มขึ้นถึง 1 ล้าน

หากถามว่า "จำเป็นไหมที่ต้องทำคลิปเมื่อมีเกมใหม่ออกมา" เรื่องนี้ผมว่าแล้วแต่คน ถ้ามีเกมใหม่ๆ แต่หากผมไม่ชอบก็ไม่ทำ อย่างตัวผมไม่ชอบเกมแนวเนื้อเรื่อง ฝืนเล่นก็ไม่สนุก ผมเชื่อว่าคนดูสามารถรับรู้ได้ จึงคิดว่าควรเลือกทำคลิปจากเกมที่ถนัดแล้วสนุกจะดีกว่า

คิดว่า...สิ่งใดที่ทำให้แฟนคลับติดตาม

การที่เราจะกดติดตาม หรือดูคลิปวิดีโอของนักแคสต์เกมสักคน แน่นอนว่าจะต้องเลือกจากความชอบในสไตล์การเล่นของคนนั้นๆ

เมื่อถามถึงเอกลักษณ์ประจำตัวของ "จารย์เจ Maser Gamer" ก็ได้คำตอบตามสไตล์ของเจ้าตัวว่า "ผมเป็นคนที่มีเอเนอจี้ค่อนข้างสูง เวลาเล่นเกมจะใส่เต็มที่ตลอด เป็นคนชอบพูดไปเรื่อย ออกแนวโม้หน่อยๆ ฝีมือการเล่นก็ขั้นเทพอยู่ บวกกับหน้าตาอันหล่อเหลาของผมเอง" ซึ่งใครที่ติดตามมาตลอดจะรู้ว่าเจ้าตัวมักจะพูดแบบนี้สร้างสีสันระหว่างแคสต์เกมเสมอ   

...

นอกจากแคสเตอร์จะสร้างเสียงหัวเราะให้แฟนคลับแล้ว ในส่วนของสาระความรู้ก็มีเช่นกัน ในส่วนของ จารย์เจ กล่าวว่า ผู้ติดตามช่องยูทูบของตนเองส่วนมากจะอายุประมาณ 17-24 ปี ทุกคลิปจะพยายามแทรกเทคนิคต่างๆ บางครั้งมีน้องๆ คอมเมนต์มาถามว่า ไม่ได้เติมเงินในเกม แต่มีวิธีไหนจะชนะตัวละครเก่งๆ ยกตัวอย่างเช่น คลิปเกม one punch man ที่เพิ่งอัปโหลดไป ได้แนะนำคอมโบที่พอจะสู้กับตัวละครที่เก่งมากๆ ได้

ชีวิต นักแคสต์เกม อยู่หน้าคอมฯ ตลอดจริงไหม

จารย์เจ กล่าวว่า เอาจริงๆ เห็นผมแบบนี้ไม่ได้เล่นอยู่หน้าคอมทั้งวัน ตื่นนอนเวลาประมาณ 8-9 โมง จะออกกำลังกายถึงเที่ยง จากนั้นจะมานั่งดูยูทูบว่ามีอะไรน่าหยิบมาทำคลิป นั่งอ่านคอมเมนต์ของน้องๆ ว่าอยากให้เราทำอะไร ติดขัดการเล่นเกมตรงไหนบ้าง โดยจะเก็บข้อมูลมาทำคลิปในช่วงเย็น และในช่วงดึกจะเล่นเกมกับเพื่อนๆ หรือสตรีมเกมให้ดู

ต่างจากช่วงแรกๆ ที่เล่น Dead by Daylight ช่วงนั้นจะเล่นเกมหนักมาก ฝึกตั้งแต่เช้าถึงเย็น แต่ผลที่ได้ไม่ออกมาดีมาก อาจจะทำให้ฝีมือเก่งขึ้นจริง แต่ทำให้เสียสุขภาพ น้ำหนักขึ้น ไม่ได้ออกกำลังกาย ที่สำคัญคือป่วยง่าย ช่วงหลังจึงปรับตารางใหม่ แต่ช่วงนี้ที่เห็นว่ามาออกกำลังกายหนักๆ เพื่อไปแข่งรายการ Idol fight

...

ใฝ่ฝันอยากเป็นนักแคสต์เกมเตรียมตัวอย่างไร

ก้าวแรกต้องค่อยเป็นค่อยไป พ่อแม่บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าเรากำลังทำอะไร มองว่าจะทำให้เสียการเรียน ดังนั้นการค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป จะดีกว่า พยายามอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจว่าทำแล้วจะมีรายได้ ให้เขาเข้าใจไปเรื่อยๆ ให้เขาเรียนรู้ไปพร้อมกับเรา

จารย์เจ เล่าว่า ตอนผมทำช่วงแรกๆ พ่อแม่ก็ไม่รู้หรอกว่าทำอะไร พยายามอธิบายว่า เล่นเกมแล้วไปอัปขึ้นยูทูบ ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้ว่า "ยูทูบ" คืออะไร ผมเลยเปิดช่องยูทูบให้เขาดู ค่อยๆ อธิบายว่ามันคืออะไร ที่สำคัญคือเราสามารถหารายได้จากตรงนี้ได้

แต่ที่จริงแล้วทุกคนที่มีความชอบเกี่ยวกับเกม ไม่จำเป็นต้องเป็นนักแคสต์เกมเสมอไป บางคนเล่นเก่งมากๆ สามารถเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตระดับโลก เป็นโค้ช วิเคราะห์ดาต้า อนาลิติกส์ ส่วนใครมีความสามารถด้านการพูดก็อาจไปเป็นนักพากย์ได้

ถ้าถามถึงอุปสรรคที่ผ่าน จารย์เจ เล่าว่า เจอหนักสุดก็ตอนที่ช่องโดนแฮ็ก เคยคิดว่าถ้ากู้กลับมาไม่ได้ อาจจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นในวงการเกม อาจจะเปิดช่องใหม่ หรือไม่ก็สตรีมเกม เวลาที่เจอเรื่องแย่ๆ จะพยายามมองบวกไว้ ไม่ค่อยอยากไปโทษใคร หากเวลาเจอปัญหาเรื่องงานก็จะปิดคอมพิวเตอร์ก่อน ไปหาอย่างอื่นทำ เช่น ออกกำลังกาย ช้อปปิ้ง ไปผ่อนคลายให้ลืมเรื่องแย่ ๆ ส่วนความประทับใจที่สุดคือ มีทุกวันนี้เพราะที่เราทำทุกวันนี้

สำหรับคนที่อยากติดตามผลงานของ จารย์เจ ได้ที่ช่องยูทูป maser gamer และ แฟนเพจเฟซบุ๊ก maser gamer ซึ่งจะมีคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการแคสเกมใหม่ๆ ให้ชมเรื่อยๆ 

เปิดโลก "อีสปอร์ต" (E-Sport) ไม่ใช่ใครก็เป็นได้

นายกฤษฎา เจียรวนนท์ หรือ คุณตั้ว ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งสโมสรอีสปอร์ต LYNX TH กล่าวว่า การจัดตั้งสโมสร LYNX TH คือการเอาความชอบมาทำเป็นธุรกิจ ก่อนหน้านี้ตนยังไม่มีความคิดอยากทำสโมสรอีสปอร์ต กระทั่งปลายปี 2018 ทราบมาว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) บรรจุอีสปอร์ตเป็นกีฬาอย่างเป็นทางการ ทำให้มีความคิดว่าเราสามารถทำสิ่งที่ชอบให้เป็นธุรกิจได้ จึงตั้งสโมสรขึ้นมาเมื่อปลายปี 2018

ภาพรวมวงการอีสปอร์ตไทยเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เทียบกับตอนนี้คนละเรื่องกันเลย ในตอนนั้นมีเพียงไม่กี่สโมสร ขณะที่ปัจจุบันมีความคึกคักมากกว่า มีสโมสรเกิดใหม่จำนวนมาก แต่ก็มีบางสโมสรต้องปิดตัวไป นอกจากนี้ยังมีสโมสรจากต่างประเทศมาเปิดสาขาในไทยด้วย

อีสปอร์ต ยึดเป็นอาชีพได้หรือไม่

คุณตั้ว กล่าวว่า ตอนนี้อีสปอร์ตของไทย เหมือนกับฟุตบอลไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คือเรียกเป็นอาชีพได้ แต่ก็ยังไม่เต็มปาก มีสโมสรฟุตบอลหลายที่จ้างนักกีฬาเต็มตัว ไม่ต้องทำงานอื่น ให้เล่นฟุตบอลอย่างเดียว แบบนี้สามารถเรียกว่าเป็นอาชีพ แต่ก็ยังมีหลายสโมสรที่นักฟุตบอลต้องทำงานอื่นด้วย แล้วก็ต้องลงแข่งขันด้วย

หากพูดถึงอีสปอร์ตไทยในตอนนี้ ตนกล้าพูดได้เต็มปากว่า นักกีฬาของตน 40 คนได้รับเงินเดือนทุกคน ซึ่ง 40 คนนี้มาจากหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ไทย แต่ต้องยอมรับว่า ภาพรวมที่จะทำให้อีสปอร์ตไทยอาชีพจริงๆ ค่อนข้างยาก แต่ก็สามารถทำได้ เหมือนกับวงการฟุตบอลที่นักเตะมีอาชีพจริงๆ ได้เงินเดือนเป็นกอบเป็นกำก็ต่อเมื่อมีการสร้างกฎจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ว่า นักกีฬาต้องมีเงินเดือน ต้องมีผลตอบแทนที่ได้รับจากสโมสรมีอะไรบ้าง และสิ่งที่นักกีฬาต้องให้กับสโมสรมีอะไรบ้าง

ตอนนี้สิ่งที่อีสปอร์ตไม่มีคือ ข้อกำหนดที่ชัดเจน หลายคนยังรอทางสมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทยตั้งกฎกติกาขึ้นมา จะเห็นได้ว่าการแข่งขันที่สมาคมอีสปอร์ตแห่งประเทศไทย จัดแข่งชิงแชมป์ประเทศไทย ยังมีปัญหาคือ ทางสโมสรส่งนักกีฬาลงแข่ง แต่เมื่อนักกีฬาชนะกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสโมสร นักกีฬาแต่ละคนมีต้นทุน สโมสรต้องจ่ายค่าที่พัก ค่าเดินทาง และหลายสโมสรให้เงินเดือนนักกีฬาแบบเต็มๆ

คุณตั้ว กล่าวอีกว่า ในส่วนของ LYNX TH ให้เงินเดือนนักกีฬามากสุดคือ 30,000 กว่าบาท ต่ำสุดอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งแต่ละระดับจะได้รับเงินไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความสามารถ แน่นอนว่าแต่ละคนความสามารถไม่เท่ากัน ความรับผิดชอบไม่เท่ากัน กัปตันทีมจะได้มากกว่า นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับผลงาน ไม่ต่างกับนักฟุตบอล หากทำผลงานดีเงินก็ขึ้น

ในเรื่องของสวัสดิการนักกีฬาอีสปอร์ต จะแตกต่างจากพนักงานบริษัท เนื่องจากนักกีฬาอีสปอร์ตเปลี่ยนตัวกันเร็วมาก บางคนอยู่กับสโมสรเพียง 1-2 เดือน ทางสโมสรจึงจะให้ประกันสังคมกับนักกีฬาที่อยู่กับสโมสรในเวลาที่นานเพียงพอ แต่นักกีฬาทุกคนจะได้รับในส่วนของประกันกลุ่ม ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งในช่วงแรกทุกคนจะอยู่ในช่วงของทดลองงาน เมื่อผ่านการประเมินแล้วก็จะเข้าสู่ในเรื่องของผลตอบแทน

ต้นทุน ผลตอบแทน และปัญหาที่ต้องเผชิญ

คุณตั้ว ยอมรับว่า เงินรางวัลที่ได้มาจากการแข่งขันในประเทศไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เนื่องจากสโมสรฯ มีนักกีฬา 40 คน ต้องแบกรับค่าใช้จ่าย 1 ล้านต่อเดือน เช่น ค่าที่พัก ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง ค่าเดินทางในการแข่งขันทั้งหมด เงินรางวัลที่ได้มาก็ต้องแบ่งให้กับนักกีฬาด้วย ซึ่งสัดส่วนของนักกีฬาจะต้องได้มากกว่าสโมสรอยู่แล้ว 

เมื่อถามปัญหาที่พบและสิ่งที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการอีสปอร์ตไทย คุณตั้ว เปิดเผยว่า อยากให้มีกฎระเบียบ กติกาที่ชัดเจน หลายครั้งที่เห็นแล้วรู้สึกเหนื่อยใจ บางครั้งสโมสรที่เกิดใหม่บางที่มีการรับโฆษณาจากเว็บพนัน ทางสมาคมฯ จะต้องมีกฎว่าสโมสรรับสปอนเซอร์จากที่ใดบ้าง

อยากให้มีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำของนักกีฬา ปัญหาที่เจอคือเวลาลงแข่งขัน เราเป็นสโมสรที่มีต้นทุนสูงจ่ายเงินเดือนนักกีฬา แต่กับอีกสโมสรหนึ่งไม่ได้จ่ายเงินเดือนนักกีฬา แต่ให้นักกีฬาเอาใช้สโมสรไปใช้เวลาลงแข่ง

ดังนั้น รายได้ส่วนใหญ่ของ LYNX TH จึงมาจากต่างประเทศ และสิ่งหนึ่งที่ทำให้สโมสรฯ ยังอยู่ได้ทุกวันนี้ก็คือ การทำธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเกม และทีมเกือบทั้งหมดเป็นทีมที่ไว้แข่งต่างประเทศ ต้องยอมรับว่าในต่างประเทศมีการจัดการแข่งขันที่ดีกว่า ทั้งการดูแลนักกีฬา มีกฎกติกาชัดเจน และเงินรางวัลเยอะกว่า

การดูแล "นักกีฬาอีสปอร์ต"

การดูแลนักกีฬาแต่ละทีมจะต่างกัน เรื่องนี้อธิบายยากมาก ขอยกตัวอย่าง เมื่อตอนดูแลนักกีฬาในการแข่งขัน TOYOTA E-LEAGUE 2020 ของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ รู้สึกดีมากเพราะมีกฎระเบียบทุกอย่างชัดเจนครบถ้วน มีนักกีฬา 3 คนที่แข่งคนละเกมกัน แต่เป็นเกมฟุตบอลเหมือนกัน คือ เปลี่ยนจาก FIFA มาเป็น โปรเอโวลูชั่น ซอคเกอร์ (Pro Evolution Soccer) ต้องใช้เวลา 6 เดือนในการฝึกซ้อมเกมใหม่ เพื่อแข่งขันระดับประเทศ

อีกกรณีคือฝึกนักกีฬาเปลี่ยนไปเล่นเกมอื่นที่มีวิธีการเล่นคนละแนว อาจจะต้องใช้เวลาถึง 8 เดือน หรือนักกีฬาบางคนมีความสามารถพิเศษ อาจใช้เวลาเพียง 2 เดือน ก็สามารถคว้าแชมป์ประเทศได้ ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการปั้นนักกีฬาอีสปอร์ตขึ้นมาจึงไม่เท่ากัน

สำหรับการจำกัดอายุนักกีฬา หลายคนเข้าใจว่า เด็กต่ำกว่า 16 ปี ห้ามลงแข่ง ปัจจุบันยังไม่มีกฎที่แน่ชัดออกมา ทำให้มีเส้นบางๆ ระหว่างเด็กติกเกม กับอีสปอร์ต เด็กบางคนมีความเชื่อว่า ขอแค่ได้เล่นเกมทุกวันก็สามารถเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

การเล่นเกมอย่างเดียวไม่ได้ นักกีฬาของผมมีเวลาที่ตายตัวว่าทำอะไรบ้าง ตื่นเช้าขึ้นมา กินข้าว ออกกำลังกาย ศึกษาเกม ศึกษาแนวทางทุกอย่าง มีเวลาซ้อมของตัวเอง มีเวลาซ้อมกับทีม

ทำไมนักกีฬาอีสปอร์ต นอนดึก

การที่นักกีฬาอีสปอร์ตนอนดึก ตี 1 ตี 2 ยังนั่งเล่นเกมอยู่ ทุกอย่างมีเหตุผล เพราะเวลาเหล่านั้นเป็นเวลาที่สามารถเจอทีมต่างประเทศได้ ยกตัวอย่างมีการนัดซ้อมกับทีมอเมริกา ทางนั้นนัดซ้อมเวลาประมาณ 3-4 โมงเย็น เขาไม่สนใจว่าทางเราจะเวลากี่โมง ซึ่งทางเราก็ต้องยอมให้เขา เพื่อได้ซ้อมกับทีมอินเตอร์

ดังนั้นตารางเวลาฝึกซ้อมของนักกีฬาแต่ละทีมจึงไม่เหมือนกัน บางครั้งอาจจะต้องฝึกซ้อมกันตอนตี 4 ถึง ตี 5 ซึ่งการฝึกซ้อมกับทีมต่างประเทศจะมีการนัดวันล่วงหน้าเป็นสัปดาห์เพื่อให้เวลาเตรียมตัว และที่ขาดไม่ได้ก็คือ นักกีฬาทุกคนต้องออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง บางทัวร์นาเมนต์แข่งขันยาวนาน ต่อเนื่องหลายชั่วโมงโดยไม่มีการพักเลย หากร่างกายไม่แข็งแรงก็คงจะแข่งไม่ไหว

นักกีฬาอีสปอร์ต ไม่ได้เป็นกันง่ายๆ

การจะเป็นนักกีฬาสปอร์ตเป็นเรื่องยาก นักกีฬาหลายคน บางวันเล่นเกม 1 ชั่วโมง แต่ดูรีเพลย์ 6 ชั่วโมง เพื่อหาข้อผิดพลาดของตัวเอง และดูแนวทางการต่อสู้ของทีมที่จะแข่งขันด้วย ขณะที่บางคนมีหน้าที่คิดแผนการแข่ง อาจจะไม่ได้แตะคอมพิวเตอร์เลยก็มี หลายคนอยากเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นได้

สิ่งหนึ่งที่ไม่อยากให้ทิ้งเลยคือ การเรียนกฎของสโมสร LYNX TH มีข้อหนึ่งคือ หากคุณเรียนไม่จบ ต้องกลับไปเรียนให้จบ ถ้าคุณไม่เรียน เราก็ไม่รับคุณเป็นนักกีฬา มีน้องหลายๆ บอกว่า จบ ม.3 แต่อายุ 24 ปีแล้วจะให้กลับไปเรียนอย่างไร ทางออกก็คือการเรียน กศน. จากนั้นค่อยต่อมหาวิทยาลัย และมีหลายคนกลับไปเรียนแล้ว ซึ่งก็ต้องแบ่งเวลาทั้งเรียน ฝึกซ้อม แข่งขัน โดยมีผู้จัดการทีมคอยช่วยจัดตารางเวลาให้ ช่วงไหนสอบ ช่วงไหนการบ้านเยอะ ก็จะมีการผ่อนเวลาให้ และมีหลายคนที่กลับไปเรียนแล้วเรียนจบแล้ว

การเรียนเป็นสิ่งสำคัญ อายุ 25 ปี สำหรับวงการอีสปอร์ตถือว่าอายุมากแล้ว ฝีมือเริ่มตก สู้เด็กที่เข้ามาใหม่ๆ อายุ 18-19 ไม่ได้ ดังนั้นคนที่อายุ 25 ต้องเริ่มมองหาทางแล้วว่าจะไปทางใดต่อ เช่น ผู้จัดการทีม โค้ช สตรีมเมอร์ แต่ทุกปีมีคนทำแบบนี้เยอะมาก

ดังนั้น หากคุณไม่มีวุฒิการศึกษา ไม่ได้จบมหาวิทยาลัย แล้วคุณจะไปสมัครงานที่ไหนต่อได้ ซึ่งทางสโมสรฯ เองก็รับนักกีฬาที่เรียนจบแล้วมาทำงานอื่นๆ ในสโมสรต่อ หรือเพื่อให้เขามีประสบการณ์เพื่อไปสมัครงานที่อื่นได้

"อยากจะบอกน้องๆ ว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ คุณไม่ควรทิ้งการศึกษา นักกีฬาอีสปอร์ตที่ประสบความสำเร็จจริงๆ เขาสามารถแบ่งเวลาได้ สามารเรียน แข่งขัน และมีเวลาให้ครอบครัว และครอบครัวสำคัญที่สุด หลายคนที่แข่งแล้วได้แชมป์มา หลายคนก็ได้ครอบครัวช่วยผลักดัน นักกีฬาอีสปอร์ตไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องดูว่าเขาเสียสละอะไรไปบ้าง ไม่ต่างจากนักกีฬาประเภทอื่นเลย"

เด็กติดเกมในประเทศไทย

แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กล่าวว่า ในปัจจุบันมีแนวโน้มเด็กติดเกมมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับประเทศในเอเชียที่พบปัญหาเด็กติดเกมมากที่สุดก็คือ จีน เกาหลีใต้ ขณะที่ประเทศไทยพบปัญหาเด็กติดเกมสัดส่วนประมาณ 5-10% คือเด็ก 100 คน จะมีเด็กติดเกมอยู่ประมาณ 5-10 คน แต่ไม่ใช่ว่าเด็กที่เล่นเกมจะเป็นเด็กติดเกมทุกคน

จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีเด็กไทยเข้าไปพัวพันเกี่ยวกับเกมอยู่ประมาณ 2 ล้านคน แบ่งเป็น เด็กเล่นเกมเพื่อความสนุกเฉยๆ ประมาณ 1 ล้านคน ส่วนที่เหลือจะเป็นเด็กที่เริ่มคลั่งไคล้ในเกม และเป็นเด็กที่มีปัญหาติดเกมอยู่ประมาณหลักหมื่นคน ถือว่าประเทศไทยมีเด็กติดเกมไม่เยอะมาก

ทั้งนี้ มีผลสำรวจจากองค์การยูนิเซฟกับสภาเด็กและเยาวชน พบว่า ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนของการกักตัวช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กมีเวลามากขึ้นก็จะเข้าไปดู YouTube และเล่นเกม

แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวอีกว่า จากผลสำรวจการใช้อินเทอร์เน็ตตั้งแต่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงพีคของโควิด-19 พบว่าเด็กและผู้ใหญ่ใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้สืบค้นข้อมูลอะไร ส่วนใหญ่จะนำไปฟังเพลง เข้ายูทูบ รวมไปถึงการเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น


แนวโน้มปัญหาเด็กติดเกมในไทย

ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่อนุญาตให้ E-Sport เป็นกีฬาอย่างถูกต้อง ซึ่งจุดนี้จะทำให้เด็กสนใจการเล่นเกมมากขึ้น เพราะมีจุดขายในเรื่องของการสร้างรายได้ การเป็นนักกีฬาซึ่งก็เหมือนการเป็นฮีโร่อย่างหนึ่ง จึงทำให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกระแสนิยมด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทางสมาคม E-Sport เองก็ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม มีการออกกฎระเบียบควบคุมดูแลในเรื่องนี้พอสมควร

อย่างเช่น มีการวางวินัยในการเล่นเกม ที่สำคัญคือไม่ใช่เด็กที่เล่นเกมทุกคนจะกลายมาเป็นนักกีฬา E-Sport มืออาชีพ หรือยูทูบเบอร์มืออาชีพที่สร้างรายได้ มีการกำหนดอายุคือ ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป

สัญญาณเตือนเด็กติดเกม

การเรียนตก ทั้งที่เด็กเคยเรียนดีมาก่อน ไม่อยากไปโรงเรียน ตื่นขึ้นมาเกมเป็นสิ่งแรกในชีวิต พ่อแม่ต้องปรึกษาหมอ แต่ต้องมีการพูดคุยกันภายในครอบครัวก่อนว่า สาเหตุที่การเรียนตกมาจากอะไร มีปัญหาที่โรงเรียนหรือไม่ อย่าเพิ่งสรุปว่าสาเหตุที่การเรียนตกมาจากเกม เพราะเด็กๆ เองก็จะต่อต้านเรามากขึ้น ต้องมีการพูดคุยกันสม่ำเสมอ หรือร่วมเล่นเกมกับลูก

วิธีป้องกันลูกติดเกม

1. พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติ

การเปลี่ยนทัศนคติของคนที่เป็นพ่อเป็นแม่เป็นสิ่งสำคัญ หมอเองก็มีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่เล่นเกมเหมือนกัน ย้อนกลับไปสมัยเราเป็นเด็กก็อยากทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกับเพื่อน เช่นเดียวกับลูกๆ ก็อยากทำกิจกรรมบางอย่างกับเพื่อน ดังนั้นพ่อแม่ต้องปรับทัศนคติยอมรับในเรื่องของเกมพอสมควรว่า เกมมีอิทธิพลกับลูกและเพื่อนของลูก มีในการสร้างสังคมของเขา เราคงไม่ห้ามเขาเล่นเกม แต่เราต้องเคารพสิทธิของเด็กในเรื่องการเล่นเกม

อย่าปิดกั้นเด็ก ยิ่งเด็กที่อยู่ในช่วงของวัยรุ่น พ่อแม่อาจลองประกบคู่กับลูก ลองประกบคู่กับเด็กลองให้เขาเล่นแบบมีวินัยในการเล่น ผู้ปกครองควรใกล้ชิดกับเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กเป็นหนึ่งในเด็กติดเกมแล้วต้องมารักษากับคุณหมอ หากเด็กต้องการที่จะมาเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต พ่อแม่จะต้องสอนในเรื่องของน้ำใจนักกีฬา รูปแพ้รู้ชนะมีวินัย ไม่ทิ้งการเรียน

2. เด็กต้องรับผิดชอบต่อหน้าที่

เมื่อพ่อแม่ปรับทัศคติเรื่องเกมแล้ว ในส่วนของเด็กๆ ก็ต้องรู้หน้าที่ของตัวเองในแต่ละช่วงวัย เช่น เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นนักเรียนที่ดีของคุณครู เป็นเพื่อนที่ดีของเพื่อนทั้งในห้องเรียนและในเกม

3. เคารพกฎกติกาของเกม ไม่ละเมิดเรตของเกมที่บริษัทเกมกำหนดไว้

บริษัทเกมจะระบุเรตช่วงอายุของผู้ที่จะเล่นเกมนั้นๆ ตัวของเด็กจะต้องเคารพกฎกติกาด้วย อาจจะดูพี่ๆ เล่นได้เพื่อศึกษาและเรียนรู้

ลูกมีแววเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต

แพทย์หญิงมธุรดา กล่าวว่า พ่อแม่ต้องสร้างการเป็นนักกีฬาให้ลูกด้วย ไม่ใช่เล่นเกมอย่างเดียว แต่ต้องออกกำลังกายอย่างอื่นด้วย เพราะการเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตแล้วจะไม่ต่างจากนักกีฬาอื่นๆ ต้องมีสุขภาพแข็งแรง กินนอนเป็นเวลา แต่กรณีที่เด็กๆ ห้ามไม่ได้แล้ว แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ สามารถโทรสายด่วน 1323 หรือพบคุณหมอเด็กได้.

ผู้เขียน : J. Mashare

กราฟิก : Theerapong Chaiyatep

อินโฟกราฟิก : Taechita Vijitgrittapong