แม้ว่าจะยังไม่เปิดเทอมอย่างเป็นทางการ แต่กระทรวงศึกษาธิการได้ทดลองการเรียนออนไลน์ผ่านการสอนทางไกล DLTV ให้นักเรียนสามารถเรียนผ่านโทรทัศน์ดิจิทัลรวมถึงอุปกรณ์อื่น ๆ ที่รับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้
การเรียนออนไลน์ คือการใช้อุปกรณ์มาเป็นตัวช่วยรับสาร เช่น โทรทัศน์, คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ลักษณะการเรียนระบบออนไลน์นี้ถูกนำมาใช้ในช่วงโรคโควิด-19 กำลังระบาดอยู่ และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
นักเรียน นักศึกษาที่เปิดเทอมในช่วงปี 2020 นี้ จะต้องปรับตัวกับการเรียนแบบใหม่ สิ่งแรกที่ต้องปลูกฝังให้กับเด็กยุคโควิด-19 คือต้องปลูกฝังให้พวกเขารู้จักโรคระบาดนี้
เมื่อเรามองไปยังจีน ซึ่งเป็นประเทศที่เจอวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนักเป็นกลุ่มแรก จีนใช้วิธีจัดการศึกษาด้วยการเปิดหลักสูตรเรียนออนไลน์ในบางจังหวัดในเด็กบางกลุ่ม และเปิดให้นักศึกษามาเรียนได้แต่ต้องผ่านการคัดกรอง และมีมาตรการ Social Distancing
การเรียนออนไลน์ในประเทศไทย พร้อมแค่ไหน
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้หยิบยกข้อมูลแบบสอบถามนักเรียนอายุ 15 ปี และผู้บริหารโรงเรียนของ PISA 2018 ใน 79 ระบบการศึกษาในกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการเข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ของไทย พบว่า
- นักเรียนไทยยังขาดแคลนปัจจัยสำหรับการเรียนออนไลน์ ได้แก่ สถานที่ที่เงียบสงบ, อุปกรณ์สำหรับเรียนรู้ และอินเทอร์เน็ต
- เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ครูไทยมีความพร้อมในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการเรียนการสอนออนไลน์มากกว่ากลุ่มประเทศสมาชิก
...
กราฟแสดงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ที่บ้าน
ข้อดีข้อเสียของการเรียนออนไลน์
ข้อดีของการเรียนออนไลน์ คือคุณครูสามารถจัดทำแผนการเรียนการสอนได้ทันสมัย และให้เด็ก ๆ เข้าถึงข้อมูลจากการค้นหาเพิ่มเติมได้ด้วย แต่ก็มีข้อจำกัดระหว่างผู้เรียน และผู้สอน ดังนี้
ข้อดี
- ลดเวลาการเดินทาง ทั้งครูผู้สอน และผู้เรียน
- มีโปรแกรมช่วยบริหารจัดการ เช็กชื่อนักเรียนเข้าเรียน และรับเอกสารแบบทดสอบ เพื่อใช้ประเมินการเรียนได้สะดวกมากขึ้น
- มีช่องทางสื่อสารระหว่างครูผู้สอน และผู้เรียนได้สะดวก
- ใช้เครื่องมือออนไลน์ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมได้มากขึ้น
ข้อเสีย
- การสอนที่เป็นการสื่อสารทางเดียว มีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการรับรู้ เพราะฉะนั้นต้องมีแบบทดสอบที่ประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน
- การเข้าถึงอุปกรณ์เรียนออนไลน์ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์, โทรศัพท์มือถือ, แท็บเล็ต หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีข้อจำกัด
- เด็กนักเรียนไม่มีสมาธิในการเรียน หากให้ใช้มือถือ ก็จะแอบเอามือถือมาเล่นระหว่างเรียน
- เด็กนักเรียนไม่สามารถไตร่ตรองความถูกต้องของข้อมูล จากการเข้าถึงข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
- เด็กนักเรียนใช้เวลาเสพออนไลน์มากเกินควร
- ผู้ปกครองตอบคำถามหรือทำการบ้านแทนเด็ก
- ผู้ปกครองไม่มีเวลาเฝ้าดูแลเด็ก เพราะต้องทำงาน
ควรออกแบบการสอนออนไลน์อย่างไร
การเรียนออนไลน์ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวางระบบการสอน ไม่ว่าจะเรียนรู้ผ่านอุปกรณ์ใดก็ตาม กระบวนการเรียนรู้ เกิดได้จาก 5 ขั้นตอน ซึ่งต้องดูว่าการเรียนออนไลน์จะตอบโจทย์ขั้นตอนเหล่านี้หรือไม่ ?
1) เด็กนักเรียนทราบว่ามีงานที่ต้องทำ หรือมีปัญหาที่ต้องแก้ไข
2) การเรียนรู้มีเป้าหมาย
3) มีการจัดระบบ รวบรวมสาระและกระบวนการที่เกี่ยวข้อง
4) มีการฝึกปฏิบัติภายใต้เงื่อนไข ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นสุข
5) ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถได้คงที่ เพื่อเข้าถึงความรู้ที่ชัดเจน
...
ช่วงวัยที่เรียนออนไลน์มีข้อจำกัดเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้อย่างไรบ้าง ได้แก่
1) เด็กวัยนี้มีข้อจำกัดในการเรียนรู้เท่าไรบ้าง
2) ต้องมีแบบฝึกปฏิบัติแบบใดให้ผู้เรียนได้เข้าถึงความรู้อย่างสมบูรณ์
3) มีแรงจูงใจ รางวัล และบทลงโทษอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการเรียนรู้
4) ผู้เรียนต้องมีความเข้าใจพื้นฐานเนื้อหาอะไรมาบ้าง
5) การเรียนรู้สิ่งหนึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้อีกสิ่งหนึ่งได้หรือไม่
6) การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น ได้รับผลอย่างไรจากเกิดการจำ และการลืม
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนออนไลน์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ตีพิมพ์ในวารสารราชพฤกษ์ ปี พ.ศ. 2561 ระบุว่า การเรียนโดยใช้สื่อออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและสภาพปัญหาของแต่ละโรงเรียน หากต้องการดึงประสิทธิภาพของสื่อออนไลน์มาใช้ให้มากที่สุด ควรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหามาตรการร่วมกันหลายฝ่าย
เชื่อว่าอีกไม่นานนี้ แต่ละโรงเรียน จะมีทางออกให้กับการสอนออนไลน์ของตน เพื่อเน้นประโยชน์ของเด็ก ๆ เป็นส่วนสำคัญที่สุด
ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, วารสารราชพฤกษ์ ปีที่ 16 ฉบับที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
...