ผลอัลตราซาวนด์จากฟิล์มอัลตราซาวนด์ ช่วยให้คุณหมอสูติประเมินความผิดปกติของเด็กทารก และคาดกำหนดคลอดได้ การทำอัลตราซาวนด์มีหลายแบบตั้งแต่ 3 มิติ ไปจนถึง 4 มิติ วิธีการอ่านผลอัลตราซาวนด์ที่แม่นยำต้องอาศัยแพทย์ที่เชี่ยวชาญและฝึกฝนการใช้เครื่องมือจนได้รับการรับรอง ซึ่งการทำอัลตราซาวนด์แต่ละครั้งจะบอกสุขภาพของทารกและคุณแม่ได้แตกต่างกันไปในแต่ละเดือน

ผลอัลตราซาวนด์เชื่อถือได้แค่ไหน

อัลตราซาวนด์ คือ คลื่นที่มีความถี่ 20,000 Hz เมื่อสะท้อนกลับมายังตัวรับสัญญาณก็ทำให้แพทย์พิจารณาเนื้อวัตถุที่ส่งคลื่นไปตรวจสอบได้ โดยจะอ่านผลพื้นผิวของการสะท้อนเป็นสีขาวดำ มองออกเป็นอวัยวะ การทำอัลตราซาวนด์กับคนท้องนั้นทำได้ 2 แบบ คือ 3 มิติ และ 4 มิติ

การทำอัลตราซาวนด์ 3 มิติ ทำได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 1 เดือน ขึ้นไป แม้ว่าจะยังมองไม่เห็นตัวเด็ก แต่ก็บอกได้ว่าเกิดถุงตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกหรือไม่

ส่วนอายุครรภ์ 2 เดือนขึ้นไป ก็จะเริ่มมองเห็นตัวอ่อน และฟังเสียงการเต้นของหัวใจเด็กได้ ถุงไข่แดงจะเริ่มฝ่อ และเดือนต่อๆ ไปก็จะมองเห็นส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่พัฒนาขึ้น

...

ส่วนการทำอัลตราซาวนด์ 4 มิติ เหมาะสำหรับอายุครรภ์ 24 สัปดาห์เป็นต้นไป เพราะจะมองเห็นรายละเอียดร่างกายของเด็กได้สมบูรณ์ และสามารถมองเห็นใบหน้าของทารกได้คร่าวๆ แต่ต้องอาศัยแพทย์ผู้ชำนาญการอ่านผลอัลตราซาวนด์ 4 มิติเพื่อความแม่นยำ

การทำอัลตราซาวนด์บอกสุขภาพทารกได้หลายอย่าง เช่น

  • การเต้นของหัวใจ
  • อายุของเด็ก
  • ความผิดปกติของร่างกาย
  • การตั้งครรภ์แฝด
  • เพศ
  • ฯลฯ

อัลตราซาวนด์เพศหญิง ชาย เห็นตั้งแต่กี่เดือน

การทำอัลตราซาวนด์เพื่อดูเพศนั้นจะเห็นได้ในช่วง 18 สัปดาห์ขึ้นไป หรือประมาณ 5 เดือน การดูผลอัลตราซาวนด์ 3 มิติ หากสรีระขณะทำอัลตราซาวนด์บดบัง หรือความคลาดเคลื่อนก็อาจทำให้อ่านเพศเด็กผิดได้ โดยแพทย์จะดูจากอวัยวะเพศ เพศชายจะเห็นถุงอัณฑะชัดเจน

อย่างไรก็ดีการดูเพศทารกที่แม่นยำขณะตั้งครรภ์ คือการตรวจโครโมโซม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 9,000 บาทขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ที่อายุ 35 ปีขึ้นไปทำเพื่อตรวจความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรมที่บ่งบอกได้จากการเรียงโครโมโซม เช่น โรคดาวน์ซินโดรม

โรคดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางร่างกายที่มองเห็นจากการทำอัลตราซาวนด์ก็มีให้พบ โดยแพทย์จะวัดจากความกว้างและความยาวของกระดูกศีรษะ คำนวณน้ำหนักทารกและอายุครรภ์ ก็พอบ่งบอกโรคทางพันธุกรรมและความผิดปกติบางโรคได้ก่อนคลอด

วิธีอ่านผลอัลตราซาวนด์จากอักษรย่อ

แผ่นรูปผลอัลตราซาวนด์ที่คุณหมอให้มา จะมีภาพตำแหน่งหัวใจ ขนาดของทารก บอกอายุเด็กในครรภ์ และบอกกำหนดคลอดอย่างคร่าวๆ อักษรย่อต่างๆ มีความหมายดังนี้

1. ชื่อคลินิก หรือชื่อโรงพยาบาล
2. ชื่อคุณแม่
3. วัน และเวลาที่ตรวจ
4. ขนาดของเด็ก อายุครรภ์ และอื่นๆ ดังนี้

- AC คือเส้นรอบท้อง
- AFI คือการวัดน้ำคร่ำ
- CRL คือ ความยาวของทารก
- BDP คือ ความกว้างของศีรษะทารก
- EFW คือน้ำหนักทารก
- FHR คืออัตราการเต้นของหัวใจทารก
- FL คือ ความยาวกระดูกต้นขาทารก
- HC คือ ความยาวของศีรษะทารก
- Placental Site คือ ตำแหน่งรกเกาะที่มดลูก
- Placental Grading คือลักษณะเนื้อรก

สิ่งที่คุณแม่ควรสอบถามคุณหมอเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันขณะทำอัลตราซาวนด์

1. น้ำหนักทารกในครรภ์ถึงเกณฑ์ไหม
2. น้ำคร่ำสมบูรณ์ไหม
3. การตั้งครรภ์ผิดปกติหรือไม่ รกเกาะต่ำหรือไม่
4. อัตราการเต้นของหัวใจปกติหรือไม่
5. เพศของเด็ก

อัลตราซาวนด์อันตรายไหม

ผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าการทำอัลตราซาวนด์บ่อยๆ อาจส่งผลที่เป็นอันตรายกับทารก แต่ก็ยังไม่มีรายงานผลเสียที่ร้ายแรง เหตุที่ไม่นิยมทำอัลตราซาวนด์บ่อยๆ เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง จึงนิยมทำอัลตราซาวนด์ในช่วงไตรมาสต่างๆ เพื่อเช็กความผิดปกติของร่างกายทารกในครรภ์

ก่อนอัลตราซาวนด์แต่ละครั้ง คุณแม่ควรรับประทานอาหารมาให้พอดี งดการกินอาหารหวานมากเกินไป เพราะจะทำให้เด็กดิ้นไม่นิ่ง เมื่อต้องนอนราบให้คุณหมอตรวจคุณแม่จะอึดอัดและเด็กไม่ให้ความร่วมมือ วันไหนมีนัดอัลตราซาวนด์กับคุณหมอ ก็ควรเดินเล่นให้ลูกในท้องตื่นตัวเล็กน้อย และก่อนนำฟิล์มกลับ ก็เช็กชื่อ นามสกุลให้ถูก ป้องกันการสลับกับคนอื่น