จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด นอกจากจะป้องกันไวรัสเข้าตัวแล้ว สาธารณสุขต้องเร่งดูแลประชาชนให้เข้าถึงการคุมกำเนิด และการผดุงครรภ์ เนื่องจากข้อมูลทางการแพทย์ยังมีไม่มากพอ ที่จะสรุปว่า เชื้อไวรัสตัวนี้ทำลายพัฒนาการทารกในครรภ์หรือไม่แค่ไหนอย่างไร
ดังนั้นว่าที่คุณแม่จะต้องเตรียมตัวดูแลตัวเองให้ดี หากหลีกเลี่ยงที่จะต้องออกไปทำธุระนอกบ้านไม่ได้ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย และเลือกถอยห่างอย่างมีระยะ วันนี้ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์โรงพยาบาลพิจิตร และกรรมการแพทยสภา มาบอกถึงวิธีการดูแลตัวเองของคนท้องในช่วงโควิดยังอยู่
ถ้าต้องคลอดลูกตอนที่แม่ป่วยโควิด
“ปัจจุบันยังมีบทเรียนจำนวนไม่มาก จากประเทศที่ทำคลอดให้กับคุณแม่ที่ป่วยเป็นโควิด ส่วนไทยเองแต่ละโรงพยาบาลก็มีวิธีการคัดกรองความเสี่ยงก่อนคลอด หากไม่ติดเชื้อโควิด-19 การคลอดก็เป็นไปตามข้อบ่งชี้ แต่หากยืนยันว่าป่วยโควิด-19 อาจพิจารณาผ่าตัดคลอดในรายที่การคลอดอาจเนิ่นนาน หรือมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ เช่น มารดาหอบเหนื่อย เป็นปอดบวม กรณีเหล่านี้การคลอดเองตามธรรมชาติ เสี่ยงอันตรายต่อมารดาและทารก
การผ่าคลอด ยังช่วยลดการใช้อุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ หากรอคลอด อาจใช้เวลานาน มีโอกาสแพร่เชื้อ โดยปกติแล้วการเฝ้าคลอดจะต้องมีพยาบาลและเจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์อยู่ด้วย 2-3 คน มีขั้นตอนและใช้ระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง นอกจากลดโอกาสติดเชื้อ ยังลดค่าใช้จ่ายชุด PPE, หน้ากาก N95 ลดเวลา เพื่อให้ทารกคลอดออกมาปลอดภัย” พญ.ชัญวลี กล่าว
6 วิธีดูแลตัวเองของคนท้องเพื่อห่างไกลโควิด-19
โรคโควิด-19 เป็นอันตรายกับเด็กที่อยู่ในท้องหรือไม่นั้น ยังคงต้องรอผลการศึกษา แต่หากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงนี้ ควรดูแลตัวเองเป็นพิเศษ คุณหมอชัญวลีมีคำแนะนำดังนี้
1. เข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในคนท้องทุกราย
“วัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนพื้นฐานที่กระทรวงสาธารณสุขฉีดให้ผู้หญิงที่ฝากครรภ์ทุกคน” เนื่องด้วยอาการของโรคโควิด-19 จะคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เพราะเป็นโรคที่เกิดกับทางเดินหายใจเช่นกัน คนท้องทุกคนจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อป้องกันไว้ สามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์ แต่แนะนำให้ฉีดหลังตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยไม่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์” คุณหมอ กล่าว
“ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่า โควิด-19 จะอันตรายหรือไม่อันตรายกับเด็ก จีนและยุโรปที่กำลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเยอะ กำลังเก็บสถิติอยู่ สำหรับโรคที่มีผลวิจัยว่ากระทบกับทารกในครรภ์ ที่ต้องฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน และอีสุกอีใส”
2. พักผ่อนให้เพียงพอ
พญ.ชัญวลี แนะนำว่า “สาวๆ ที่ตั้งครรภ์ควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อไหร่ โรคภัยต่างๆ มาถึงตัวแน่นอนค่ะ”
“ช่วงกลางวัน คุณแม่ควรมีเวลาได้พักผ่อนนอนหลับครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง กลางคืนควรได้นอน 8-10 ชั่วโมง ท่านอนตะแคงซ้ายเป็นท่าที่ดีที่สุด เพราะเลือดจะไปเลี้ยงเด็กได้ดี”
การพักผ่อนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ หากว่าที่คุณแม่รู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีผลต่อการพักผ่อน เรื่องสุขภาพกับงานเป็นสิ่งที่คุณต้องเลือก
3. ระมัดระวังอุบัติเหตุ
“ทุกปีมีคนไข้ตั้งครรภ์ที่มาหาหมอเนื่องจากอุบัติเหตุ ทั้งอุบัติเหตุจากการขับขี่รถ เหตุหกล้มและพลัดตกจากเก้าอี้ หรือที่นอน หมอแนะนำว่าคนที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรเดินทางด้วยการขับขี่รถจักรยาน มอเตอร์ไซค์ หรือขับรถทางไกล ขณะขึ้นบันไดควรใช้มือจับราวบันได และไม่ควรใช้เปลญวน เพราะเคยเจอเคสที่เปลขาด ทำให้คุณแม่พลัดตกลงมา"
4. ไม่จำเป็น ไม่ควรออกไปสถานที่แออัด
“ว่าที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงธุระที่ต้องเดินทางออกจากบ้าน เพราะหากต้องขึ้นรถไฟฟ้า หรืออยู่ในสถานที่แออัด แล้วต้องสวมหน้ากากด้วย ก็จะรู้สึกไม่สบายตัว”
ในช่วงนี้คนท้องต้องออกจากบ้านเมื่อไหร่ก็ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา บางคนไม่คุ้นชิน และสูดอากาศไม่พอจนเป็นลมกันไปหลายคน พญ.ชัญวลี แนะนำว่าหน้ากากที่ดีที่สุดคือหน้ากากทางการแพทย์
5. ขอเพิ่มเวลา Work from Home
“หลายบริษัทยัง Work from Home อยู่ และอาจจะผ่อนปรนให้คนท้องขอทำงานอยู่ที่บ้านได้บ้าง ส่วนคุณแม่ที่ทำงานหนัก ถ้าชีวิตการทำงานมีผลต่อการพักผ่อน ควรต้องพิจารณาว่าจะเปลี่ยนงาน หรือปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋ารถเมล์ที่ท่วงท่าต้องจับโหน และเคลื่อนไหวอยู่บนรถตลอดเวลา รวมถึงพนักงานธนาคารที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา อาจจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปลี่ยนงาน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม”
6. เว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร
“Social Distancing ในที่ทำงาน ถ้าต้องทำงานในห้องของตัวเองคนเดียว ก็ไม่ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลาได้ ถ้าอยู่ในออฟฟิศให้ใช้วิธีการเว้นระยะห่างจากคนอื่น 2 เมตร ก็จะช่วยให้คุณแม่ไม่ต้องอึดอัดจากการสวมหน้ากาก จะได้ผ่อนคลายบ้างค่ะ”
นอกจากนี้ พญ.ชัญวลี ยังเน้นย้ำว่า "ตอนนี้เราทุกคนต่างเกรงว่าโควิด-19 จะระบาดรอบสองหรือเปล่า ดังนั้นคนท้องก็ต้องดูแลตัวเองทุกช่วงเวลา การสวมหน้ากากเป็นสิ่งที่ต้องทำ หากสวมหน้ากากตลอดเวลาแล้วรู้สึกอึดอัด ต้องใช้วิธีลดธุระที่ต้องไปที่สาธารณะ"
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช