เป็นที่รู้กันดีว่า “น้ำ” คือสิ่งสำคัญที่ร่างกายต้องการ หากขาดน้ำเพียง 3 วัน ก็ส่งผลอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ร่างกายมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่ายกว่าช่วงวัยอื่นๆ เราจึงควรหมั่นสังเกตและระวังเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุของภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ

สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เนื่องจากร่างกายมีการตอบสนองต่อการขาดน้ำได้น้อย แม้บางครั้งผู้สูงอายุจะมีภาวะขาดน้ำแล้ว แต่ร่างกายก็อาจจะไม่รู้สึกหิวน้ำ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยหรือมองข้ามปัญหานี้

สำหรับปริมาณน้ำที่เหมาะสมควรดื่มในแต่ละวันสำหรับคนทั่วไปนั้น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences – NAS) และสถาบันแพทยศาสตร์ (The Institute of Medicine – IOM) แนะนำให้ผู้หญิงดื่มวันละประมาณ 2.7 ลิตรต่อวันหรือ 11.5 แก้ว ส่วนผู้ชายควรดื่มวันละประมาณ 3.7 ลิตรต่อวัน หรือ 15.5 แก้ว ถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม

แต่หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุโดยทั่วไป ควรดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว หรือ 1.5 ลิตร ซึ่งถือเป็นปริมาณที่เหมาะสม ยกเว้นผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยด้วยโรคไต อาจจะมีการจำกัดปริมาณน้ำที่ต้องดื่มให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าป่วยเป็นโรคไตระยะใด หรือต้องฟอกไตหรือไม่ ซึ่งแพทย์จะให้คำแนะนำกับกลุ่มผู้ป่วยโรคไต ในการดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสมต่อวัน

ขณะเดียวกันก็มีผู้สูงอายุจำนวนมากดื่มน้ำได้ไม่เพียงพอ จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดน้ำได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอาการป่วย การได้รับยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาขับปัสสาวะ กลุ่มยาลดความดัน ซึ่งมีผลต่อการขับปัสสาวะมากขึ้น หรือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางด้านการสื่อสาร กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง ล้วนแต่ส่งผลให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้

...

ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ สังเกตอย่างไร

ภาวะการขาดน้ำ เป็นภาวะที่ร่างกายเสียสมดุลของน้ำในร่างกาย ซึ่งอาจจะเกิดจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอ ร่างกายขับน้ำออกมามาก การขับน้ำออกจากร่างกายมาก ซึ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะขาดน้ำ อาจมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่จะสังเกตได้ง่ายเมื่อมีความรุนแรงแล้ว โดยสามารถสังเกตได้จากอาการเหล่านี้

หากร่างกายมีภาวะขาดน้ำรุนแรง จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ วิงเวียนศีรษะ เป็นลม และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้
หากร่างกายมีภาวะขาดน้ำรุนแรง จะมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ วิงเวียนศีรษะ เป็นลม และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้
  • ริมฝีปากแห้ง
  • ความยืดหยุ่นของผิวหนังลดลง
  • อ่อนเพลีย
  • ปัสสาวะลดลง หรือมีสีเข้มขึ้น
  • เป็นตะคริวง่าย
  • มีชีพจรเต้นเร็วกว่า 120 ครั้งต่อนาที
  • ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า ทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ เป็นลมง่าย
  • มีภาวะสับสน
  • หมดสติ
  • เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวและไตวายได้

สิ่งที่น่ากังวลจากการที่ผู้สูงอายุเกิดภาวะขาดน้ำ คือ ทำให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้เพียงพอ ทำให้มีการทำงานผิดปกติ โดยเฉพาะอวัยวะที่ต้องมีน้ำหรือเลือดไปหล่อเลี้ยง เช่น สมอง ระบบไต ซึ่งทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

วิธีป้องกันภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ

วิธีการป้องกันไม่ให้ผู้สูงวัยต้องเผชิญกับปัญหาร่างกายขาดน้ำ คือ

1. ต้องรู้จักตนเอง

ผู้สูงอายุต้องรู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคอะไร หากไม่ได้เป็นโรคที่มีข้อห้ามในการดื่มน้ำ เช่น ไม่ได้มีภาวะน้ำท่วมปอด ไตวายขับปัสสาวะไม่ได้ สามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณที่เหมาะสม คือ วันละ 1.5 ลิตร

2. ตั้งขวดน้ำไว้ในจุดเห็นได้ง่าย

เพื่อป้องกันการหลงลืมในการดื่มน้ำ ให้ใช้วิธีการตั้งน้ำในปริมาณที่กำหนดไว้ในจุดที่เห็นได้ง่าย และหยิบดื่มได้สะดวก ซึ่งวิธีการดื่มน้ำที่เหมาะสม คือ การจิบน้ำเป็นระยะๆ ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ภายในครั้งเดียว

ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ รักษาได้ไหม

ส่วนวิธีการรักษาผู้สูงอายุที่มีภาวะการขาดน้ำนั้น จะขึ้นอยู่กับอาการ ระดับความรุนแรงและภาวะการขาดน้ำ ผู้ป่วยที่มีอาการมาก มีภาวะซึม ความดันโลหิตต่ำ อาจจะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล รวมไปถึงการได้รับสารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือดดำร่วมด้วย

ดังนั้นการดื่มน้ำไม่ใช่เรื่องยากหรือซับซ้อน แต่หากดื่มน้ำไม่เพียงพอหรือเหมาะสมกับร่างกายที่ได้รับ ก็อาจจะเกิดโทษและอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้สูงอายุหรือคนที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ จึงควรใส่ใจในเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้ ดูแลเรื่องการดื่มน้ำอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันปัญหาเกิดภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุ ไม่เช่นนั้นอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ตามมาภายหลังได้เช่นกัน

...

ข้อมูลอ้างอิง : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี, กรมประชาสัมพันธ์

ภาพ : iStock