วันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน นับเป็นวันสำคัญในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี โดยเฉพาะปี 2566 ที่สังคมไทยเริ่มสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี จำนวนมากเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด และที่น่าสนใจ คือผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 100 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายพันคน
เรามาเริ่มดูข้อมูลตัวเลขอายุคนไทยที่กรมกิจการผู้สูงอายุได้บันทึกสถิติไว้ พบว่าเมื่อสิ้นปี 2565 ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็นจำนวน 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน
ในจำนวนผู้สูงอายุกว่า 12 ล้านคนนี้ เป็นชาย 5,622,074 คน และหญิง 7,076,288 คน โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่งคือกลุ่มอายุ 60-69 ปี
หากสำรวจข้อมูลที่ลึกลงไปกว่านั้น ล่าสุดสิ้นเดือนมีนาคม 2566 จากฐานข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง พบข้อมูลน่าสนใจ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว มีจำนวน 36,986 คน เป็นชาย 18,456 คน หญิง 18,530 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2556 เพิ่มขึ้นประมาณ 7 พันคน จากจำนวน 29,935 คน เป็นชาย 14,604 คน หญิง 15,331 คน
...
สำหรับเคล็ดลับการมีอายุยืน ที่กรมอนามัยเคยสอบถามผู้สูงอายุของไทยที่มีอายุเกิน 100 ปี จำนวนประมาณ 60 คนก่อนหน้านี้ พบเคล็ดลับที่น่าสนใจ เช่น
- การรับประทานอาหารที่ส่วนใหญ่ทำเอง มีรสจืด หรือรสไม่จัด นิยมผักพื้นบ้าน นึ่งหรือต้ม รับประทานเนื้อปลา อาหารย่อยง่าย ส่วนผลไม้ที่รับประทานประจำ เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก งดอาหารหวาน ขนมจุบจิบ
- การออกกำลังกายเบาๆ ปลูกผักทำสวนครัว ทำงานบ้าน การเดิน
- ด้านอารมณ์ กรมอนามัยพบว่าผู้สูงอายุเกิน 100 ปีสุขภาพดี ส่วนใหญ่อารมณ์ดี ใจเย็น ไม่เครียด มองโลกในแง่ดี ทำสมาธิประจำ มีครอบครัวที่อบอุ่น
- ดูแลอนามัย เช่น งดสุรา ดูแลช่องปากอย่างดี การขับถ่าย
- การมีงานอดิเรก หรือกิจกรรมที่ชอบกับครอบครัว หรือกลุ่มชุมชน เพื่อนฝูง เป็นต้น