มีคำถามสำคัญเป็นที่สนใจของผู้ศึกษาเรื่องพระสมเด็จฯ ว่าจริงๆ แล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างพระสมเด็จฯ ของท่านไว้เป็นจำนวนเท่าไหร่ พิมพ์ทรงแบบไหนบ้าง ปัจจุบันพระสมเด็จฯ เหล่านั้นหลงเหลืออยู่เท่าไหร่ และควรจะไปเสาะแสวงหาได้จากที่ไหนจึงจะมีโอกาสพบเจอ “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” ขอนำเสนอแนวทางพิจารณาหาความจริงในเรื่องนี้ดังต่อไปนี้
พระสมเด็จฯ ที่สร้างหลังได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ช่วงปี พ.ศ. 2409 - พ.ศ. 2413
ข้อมูลจากหนังสือปริอรรถาธิบาย เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย บอกว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เริ่มสร้างพระสมเด็จฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมของท่านเมื่อปี พ.ศ. 2409 โดยประมาณ หลังจากที่ท่านได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเมื่อปี พ.ศ. 2407 (พระที่ท่านสร้างก่อนได้รับสถาปนานั้นอาจจะเรียกว่าเป็นยุคพระพิมพ์ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว มักสร้างเลียนแบบพระที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น เช่น พระขุนแผน พระนางพญา พระหลวงพ่อโต และน่าจะผุพังเสียหายไปจนเกือบหมดตั้งแต่สร้างเสร็จไม่นานนัก เนื่องจากยังขาดองค์ความรู้ในการสร้าง องค์พระยังขาดความงดงามและคงทน)
น่าสนใจว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2409 จนถึงปี พ.ศ. 2413 (ปีที่มีการสร้างและบรรจุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม) ได้มีการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ เป็นจำนวนเท่าไหร่ และมีพิมพ์ทรงแบบไหนบ้าง
หนังสือ ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่มที่ 1 ของตรียัมปวาย ได้พูดถึงเรื่องนี้ โดยอ้างถึงคำกล่าวของ พระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” วัดระฆังฯ ศิษย์พระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) ที่ได้ทราบจากอาจารย์ของท่านว่า “ในการสร้างพระสมเด็จฯ นั้น สร้างได้ครบ 84,000 องค์ แต่การสร้างครั้งหลังได้ไม่ถึง และเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ได้ปรารภกับนายเทดว่า ฉันเห็นจะสร้างพระได้ไม่ครบ 84,000 องค์เสียแล้ว จึงให้รวบรวมพระสมเด็จรุ่นแรกๆ คัดเอาเฉพาะพิมพ์ทรง 5 ชั้น 6 ชั้น และ 7 ชั้น เข้ากับพระสมเด็จฯ ที่สร้างรุ่นใหม่ จนครบ 84,000 องค์ บรรจุไว้ในกรุวัดไชโย อ่างทอง เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา ... สำหรับแบบพิมพ์ 7 ชั้น รุ่นเดิมของวัดระฆังฯ ที่นำไปบรรจุพร้อมกับพระรุ่นใหม่นั้น องค์พระมีหูประบ่าอย่างธรรมดา ส่วนแบบพิมพ์ 7 ชั้นที่สร้างครั้งหลัง ซึ่งท่านตั้งใจว่าจะนำไปบรรจุโดยเฉพาะนั้น หูกางสูงขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า หูบายศรี”
...
อาจสรุปจากตำราตรียัมปวายได้ว่า พระสมเด็จวัดระฆังฯ นั้น มีการสร้างใหญ่อย่างน้อย 1 ครั้ง โดยเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมยุคแรก แบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น (และมีพิมพ์อื่นๆ อีกด้วย) และสร้างเป็นจำนวนมากตามคติการสร้างโบราณจำนวนกว่า 84,000 องค์ โดยเริ่มสร้างในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2409 มีวัตถุประสงค์ในการสร้างเพื่อนำไปแจกจ่ายหรือบรรจุในสถานที่ต่างๆ ตามที่ท่านเจ้าประคุณกำหนด ตำราตรียัมปวาย บอกว่า ที่วัดเกศไชโย หรือวัดไชโยวรวิหาร มีการนำเอาพระส่วนหนึ่งไปบรรจุกรุองค์พระหลวงพ่อโตใหญ่ คราวอุทิศให้โยมมารดา (พระที่ตั้งใจนำไปแจกจ่ายน่าจะเป็นพระที่มีการฝนขอบเพื่อลบคมโดยเฉพาะเนื้อแบบเซรามิกที่อาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้แขวนบูชา ส่วนพระที่ไม่มีการฝนขอบอาจจะเป็นพระที่ตั้งใจนำไปบรรจุกรุ)
(หนังสือสามสมเด็จ ของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2523 บอกว่าพระหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่สร้างครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ที่สร้างโดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างและพังครืนลงมาในเวลาใกล้เคียงกัน การสร้างครั้งที่สามเริ่มประมาณปี พ.ศ. 2410 สอดคล้องกับระยะเวลาสร้างพระสมเด็จวัดระฆังฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมยุคแรก ซึ่งอาจเป็นเจตนาของท่านเจ้าประคุณฯ ว่าต้องการสร้างเพื่อนำมาบรรจุที่องค์หลวงพ่อโต เพื่ออุทิศให้โยมมารดา และต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2430 พระหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ได้พังทลายลงอีกครั้งเป็นครั้งที่สามเนื่องจากได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการปฏิสังขรณ์วัด (เกิดเป็นเรื่องราวของพระแตกกรุ) รัชกาลที่ 5 จึงได้มีรับสั่งให้สร้างพระหลวงพ่อโตขึ้นอีกเป็นครั้งที่สี่ให้เป็นของหลวง เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2430 และได้มีการฉลองใหญ่ในปี พ.ศ. 2438 และได้พระราชทานนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่ว่า “พระมหาพุทธพิมพ์”)
พระสมเด็จฯ แบบพิมพ์ 7 ชั้น หูบายศรี (7 ชั้น นิยม)
น่าสนใจว่า ที่พระอาจารย์ขวัญ “วิสิฏโฏ” กล่าวว่า “แบบพิมพ์ 7 ชั้นที่สร้างครั้งหลัง ซึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตั้งใจว่าจะนำไปบรรจุโดยเฉพาะนั้น” นอกจากแบบพิมพ์ 7 ชั้นหูบายศรีแล้ว พระที่สร้างในครั้งหลังนั้นมีพิมพ์ทรงอะไรอีกบ้าง “ศาสตร์แห่งพระสมเด็จ” อนุมานจากข้อมูลที่มีอยู่ว่า พระที่สร้างในครั้งหลังนี้ เป็นพระยุคท้ายๆ ที่ท่านตั้งใจสร้างเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมมารดา ท่านคงจะเน้นให้คัดเอาพระที่มีความประณีตเป็นพิเศษ พระแบบพิมพ์ 7 ชั้นหูบายศรี (7 ชั้น นิยม) นั้นท่านได้ให้ช่างแกะพิมพ์ขึ้นมาใหม่เป็นการเฉพาะในคราวหลัง มีความงดงามคมชัดและน่าจะได้รับเอาอิทธิพลการออกแบบของพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงมาตรฐาน พิมพ์ใหญ่ ที่แกะพิมพ์โดยช่างทองหลวง ที่ช่างสมมติว่ามององค์พระจากด้านหน้าซ้ายมือองค์พระขณะแกะแม่พิมพ์เช่นเดียวกัน โดยปรากฏให้เห็นจากลักษณะของฐานทั้ง 7 ชั้น (ความชันของขอบกรวยฐานด้านซ้ายมือองค์พระมักจะน้อยกว่าด้านขวามือ) ลักษณะของพระกรรณใบหู (ใบหูด้านซ้ายมือองค์พระมักจะอยู่ห่างจากพระเศียรมากกว่าด้านขวามือ) ลักษณะของวงแขน (วงแขนด้านซ้ายมือองค์พระมักจะกางออกมากกว่าด้านขวามือ) เป็นต้น และน่าจะมีการแกะแม่พิมพ์โดยช่างทองหลวงเช่นเดียวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงมาตรฐาน
พระสมเด็จฯ แบบพิมพ์ 7 ชั้น หูบายศรี (7 ชั้น นิยม) นี้น่าจะสร้างก่อนปี พ.ศ. 2413 จากการพบพระพิมพ์นี้ในกรุวัดบางขุนพรหม (ทำพิธีบรรจุกรุในปี พ.ศ. 2413) พร้อมกับพระสมเด็จฯ แบบ 6 ชั้นอกตลอด พระที่พบในกรุวัดบางขุนพรหมทั้ง 2 พิมพ์นี้มีรูปปรากฏอยู่ในหนังสือ “พระสมเด็จเกศไชโยและพระเครื่องเมืองอ่างทอง” ของเทศมนตรีเข่ง อ่างทอง และอาจารย์อ้า สุพรรณ พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2528 และน่าจะเป็นแม่พิมพ์พระสมเด็จฯ ที่ทำขึ้นมาเป็นยุคสุดท้ายโดยทำพร้อมกับแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงมาตรฐาน โดยมีการนำพระกลุ่มนี้ไปร่วมแจกจ่ายหรือบรรจุกรุที่วัดเกศไชโยในคราวเดียวกัน
...
หนังสือสามสมเด็จ ของอาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ กล่าวว่ามีการพบพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงมาตรฐานที่วัดไชโยวรวิหารด้วย แต่พบเป็นจำนวนไม่มากนัก โดยอ้างถึงคำสัมภาษณ์ของคนในพื้นที่หลายๆ ท่าน รวมถึงอ้างถึงข้อเขียนของ ร.ต.อ.นิรันดร์ กัลปพฤกษ์ ที่เขียนไว้ในหนังสือประวัติวัดไชโยวรวิหารที่กล่าวถึงเรื่องการพบพระสมเด็จฯ ฐาน 3 ชั้นนี้ไว้เช่นกัน อาจารย์ประกิต หลิมสกุล หรือ พลายชุมพล แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ให้ข้อมูลว่า ในสมัยที่พระสมเด็จวัดเกศไชโย ยังไม่มีราคาค่างวดมากนัก พิมพ์ที่คนในพื้นที่ให้ความศรัทธาเสาะหาไว้บูชานั้นคือ พิมพ์แข้งหมอน ซึ่งไม่ใช่พิมพ์นิยมที่มีราคาค่านิยมสูงในปัจจุบัน
อาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือสามสมเด็จอีกด้วยว่า ท่านเจ้าคุณมหาพุทธพิมพ์พาภิบาล (วร) อดีตเจ้าอาวาสวัดไชโยวรวิหารได้กล่าวว่า “หลายปีมาแล้ว พระเจดีย์ที่บรรจุพระสมเด็จพัง ท่านจึงรวบรวมพระเครื่องเหล่านั้นนำไปบรรจุไว้ยังใต้ฐาน “พระโต” ในวิหารวัดไชโยนั้นต่อไป” พระสมเด็จที่ว่านี้เป็นพระพิมพ์ 7 ชั้นเป็นส่วนมาก จึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าในสมัยนั้น ได้มีการบรรจุพระไว้ทั้งในองค์พระหลวงพ่อโตและในเจดีย์ที่อยู่ในบริเวณวัดไชโย
พระสมเด็จฯที่สร้างในช่วงบั้นปลายชีวิตท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415
ข้อมูลจากหนังสือประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เขียนในปี พ.ศ. 2473 โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพยโกษา (สอน โลหนันท์) ได้เล่าเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2413 ที่เป็นปีที่มีการสร้างบรรจุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมดังนี้
...

“แลพระพิมพ์ที่วัดบางขุนพรหมในนั้น เสมียนตราด้วง ขอเอาพิมพ์ของท่านไปพิมพ์ปูนแลผงของเสมียนตราด้วง ทำตามวุฒิของเสมียนตราด้วงเอง ชาวบ้านบางขุนพรหมปฎิบัติอุปฐาก บางทีขึ้นพระบาท หายเข้าไปในเมืองลับแลไม่กลับ คนลือว่าสมเด็จ ถึงมรณภาพแล้วก็มี ทางราชการเอาโกศขึ้นไป ท่านก็ออกมาจากเมืองลับแล พนักงานคุมโกศต้องเอาโกศกลับหลายคราว ... ครั้นท่านกลับลงมาแล้ว ก็รีบพิมพ์พระไป ท่านพระยานิกรบดินทร (โต) ได้ถวายทองคำเปลวมา ท่านก็ปิดพระได้สัก 40,000 กว่า ทองนั้นก็หมด พระพิมพ์ 8 หมื่น 4 พัน คราวนี้ เดิมตั้งใจจะถวายสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงปิดทองแต่จะได้ถวายหรือไม่ได้ถวายไม่ได้ความปรากฏ พระธรรมถาวรยังเป็นพระครูปลัดก็ไม่รู้ ผู้เรียงจะซักถามให้ได้ความจริงก็เกรงใจ เพราะเกณฑ์ให้ท่านเล่าเรื่องอื่นๆ มามากแล้ว ...”
และยังเล่าต่อเนื่องจนถึงถึงเหตุการณ์ในช่วงที่ท่านเจ้าประคุณฯ ได้กระทำกาละหลุดพ้นจากสังสารวัฏในปี พ.ศ. 2415 ไว้ว่า “วันเมื่อศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาถึงวัดระฆังวันนั้น (ท่านมรณภาพบนศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมในช่วงที่ไปดูการก่อพระโตวัดบางขุนพรหมใน อาพาธด้วยโรคชราภาพ 15 วัน ก็ถึงมรณภาพ ตรงกับจุลศักราช 1234 ปี เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลที่ 5) ผู้คนมาส่งศพรับศพนมัสการศพนั้นแน่นอัดคับคั่ง ... แน่นไปเต็มวัดระฆัง ... พระธรรมถาวรราชาคณะ ที่มีอายุ 88 ปี มีตัวอยู่ถึงวันเรียงประวัติเรื่องนี้ ได้ตักพระพิมพ์แจกชำร่วยแก่บรรดาผู้มาส่งศพ สักการะศพ เคารพศพนั้น แจกทั่วกันคนละองค์สององค์ ท่านประมาณราว สามหมื่นองค์ที่แจกไปและต่อๆ มาก็แจกเรื่อย จนถึงวันพระราชทานเพลิงและยังมีผู้ขอ และแจกให้อีกหลายปีจนพระหมด 15 กระถางมังกร เดี๋ยวนี้จะหาสักครึ่งก็ไม่มี มีแต่จำเพาะตนๆ ...”
...
(หนังสือบันทึกประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) "ประวัติขรัวโต" ที่แต่งโดย พระยาทิพโกษา (สอน โลหนันทน์) เมื่อปี พ.ศ. 2473 ถือว่าเป็นพยานเอกสารหรือพยานบอกเล่าเกี่ยวกับประวัติสมเด็จโตชิ้นแรกๆ ที่มีการเขียนขึ้นมา เนื้อหาเกิดจากการที่ ม.ล.สว่าง เสนีย์วงศ์ และนายพร้อม สุดดีพงศ์ ที่ได้สัมภาษณ์เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) อดีตพระฐานานุกรมของสมเด็จโต โดยขณะที่สัมภาษณ์ ท่านเจ้าคุณฯ อยู่ในวัย 88 ปี - ข้อมูลที่กล่าวอ้างในหนังสือเล่มนี้นั้น เนื่องจากผ่านระยะเวลาที่ยาวนานและยังไม่พบต้นฉบับจริง เป็นการคัดลอกต่อกันมามีลักษณะเพิ่มเสริมเติมแต่ง ควรใช้อ้างอิงประกอบกับหลักฐานจากแหล่งอื่นด้วยเพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของข้อมูล)
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในเรื่องการสร้างพระเพื่อถวายรัชกาลที่ 5 จำนวน 84,000 องค์นี้ค่อนข้างขัดแย้งกับข้อมูลจากหนังสือของตรียัมปวาย ที่มีความน่าเชื่อถือกว่า จึงไม่น่าเชื่อว่ามีการสร้างจริง แต่ข้อมูลที่พูดถึงเรื่องการแจกพระชำร่วยจำนวนมากในงานพิธีศพท่านเจ้าประคุณฯ นั้นค่อนข้างน่าเชื่อถือ
หนังสือพระเครื่องฯ ประยุกต์ ของตรียัมปวาย พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ได้พูดถึงว่า “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม สร้างในประมาณปี พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2413 เป็นการสร้างภายหลังพระสมเด็จวัดระฆังฯ 2-4 ปี แต่อย่างไรก็ดี พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ คงได้รับการสร้างต่อๆ มาอีก จนกระทั่งเจ้าพระคุณสิ้น และพระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ ที่สร้างหลังปี พ.ศ. 2413 ลงมา ก็ย่อมจะมีอายุการสร้างน้อยกว่าของวัดใหม่อมตรส (วัดบางขุนพรหม)”
บทสรุป เราน่าจะพบเจอพระสมเด็จฯ ได้ที่ไหนบ้าง
พระสมเด็จวัดระฆังฯ แบบกรอบสี่เหลี่ยมที่สร้างในยุคแรก (แบบฐาน 5 ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น และอาจมีพิมพ์อื่นๆ) นั้น จากหลักฐานและข้อมูลที่มีปรากฏ น่าจะได้มีการสร้างไว้เป็นจำนวนไว้ไม่น้อยกว่า 84,000 องค์ตามคติการสร้างแบบโบราณจริง โดยน่าจะถูกนำไปแจกจ่ายและบรรจุตามวัดต่างๆ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เคยสร้างพระใหญ่ ที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนคือวัดเกศไชโย (วัดไชโยวรวิหาร) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการนำไปแจกจ่ายและบรรจุเพื่ออุทิศให้โยมมารดาของท่าน โดยมีการนำพระที่สร้างรุ่นใหม่ไปแจกจ่ายและบรรจุร่วมด้วย สำหรับพระสมเด็จวัดระฆังฯ ที่สร้างในยุคหลัง (แกะแม่พิมพ์ก่อนปี พ.ศ. 2413 โดยหลังปี พ.ศ. 2413 ไม่น่าจะมีการแกะแม่พิมพ์วัดระฆังฯ เพิ่มอีก แต่อาจมีการทยอยสร้างเพิ่มไปเรื่อยๆ) ซึ่งเป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ทรงมาตรฐานรวมถึงพระสมเด็จฯ แบบฐาน 7 ชั้น หูบายศรี ซึ่งน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพระรุ่นใหม่ที่ถูกนำไปร่วมแจกจ่ายบรรจุที่วัดเกศไชโยนั้น น่าจะมีการสร้างมาไม่ถึง 84,000 องค์ แต่จะสร้างเป็นจำนวนเท่าไหร่ และจะหลงเหลือมาถึงปัจจุบันกี่องค์นั้นข้อมูลยังไม่แน่ชัด แต่น่าจะมีหลงเหลืออยู่พอสมควร สำหรับโอกาสพบเจอนั้น น่าจะมีในพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดที่ท่านเจ้าประคุณได้เคยไปสร้างพระใหญ่เอาไว้
ติดตามอ่านเพิ่มเติมได้ที่เพจ พระสมเด็จศาสตร์ ขอขอบคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่กรุณาเอื้อเฟื้อรูป พระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์ครู อีกองค์หนึ่ง เพื่อให้ความรู้ และขอขอบคุณท่านเจ้าของพระท่านปัจจุบัน พระองค์นี้เป็นพระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์ใหญ่พระประธาน (มีเส้นแซมใต้ตัก) องค์ครู ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีความงดงามมากที่สุดองค์หนึ่ง เนื้อละเอียดแน่น มีวรรณะขาวนวล มีเม็ดพระธาตุ มีรอยหนอนด้นปรากฏให้เห็นเล็กน้อย มีรอยรูพรุนเข็ม พิมพ์ทรงคมชัดถูกต้องตามตำรา มีเอกลักษณ์คือมีรอยยุบตัวที่ด้านบนหัวไหล่ซ้ายองค์พระ ตัดขอบชิดด้านซ้ายองค์พระ ด้านหลังเป็นแบบหลังเรียบ มีขอบปริกระเทาะ (รอยปูไต่) สามด้าน ที่แสดงถึงธรรมชาติความเก่า เป็นองค์ต้นแบบที่ดีเพื่อใช้ในการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระสมเด็จวัดระฆังฯ
@@@@@@
ผู้เขียน พ.ต.ต.คมสัน สนองพงษ์ อดีตตำรวจพิสูจน์หลักฐาน
เพจเฟซบุ๊ก – พระสมเด็จศาสตร์