วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 งาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ได้จัดวงเสวนา “ถอดบทเรียนเมรัยดังจากต่างแดน ต้องทำยังไงเหล้าขาวไทยถึงจะดัง” ณ ศูนย์การค้า Emsphere เพื่อหารือแลกเปลี่ยนวิธีการทำให้สุราท้องถิ่นไทยไปได้ไกลเท่ากับสุราใสต่างประเทศ ทั้งในแง่มุมของกฎหมาย การสนับสนุนจากภาครัฐ เรื่องเล่าเบื้องหลังเครื่องดื่ม และจุดเด่นจุดด้อยของสุราท้องถิ่นไทย

กลุ่มผู้ร่วมงานเสวนามาจากกลุ่มคนผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมสุราไทย และตัวแทนจากภาครัฐผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่

1. คุณเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์
2. คุณวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
3. คุณจารุวรรณ คงบรรทัด (จ๋า) เจ้าของ Kaori Craftroom
4. คุณภาสกร แสงรักษาเกียรติ (เทพ) ผู้นำเข้าสาเกและเหล้าบ๊วย Prum Plum Umeshu

เมื่อถามถึงภาพจำของ ‘เหล้าขาว’ สุราท้องถิ่นของประเทศไทย ผู้พูดทั้ง 4 สะท้อนออกมาใกล้เคียงกันว่ามันเป็นเครื่องดื่มที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นไทยมาอย่างยาวนาน เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นเครื่องดื่มสำหรับการสังสรรค์และรวมตัวกันภายในชุมชน โดยเฉพาะในชนบท คุณเทพพูดเสริมว่ามันเป็นสุราของชนบทที่มักไม่เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตการกินของคนกรุงเทพฯ

...

ภาพจำดังกล่าวเป็นภาพที่แตกต่างจากเหล้าใสไร้สีของต่างประเทศเช่นสาเก เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้เหล้าขาวของไทยไปไม่ถึงเหล้าต่างชาติ คุณจ๋าเล่าว่าสาเกเป็นเครื่องดื่มที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่นอย่างเหนียวแน่นในหลากหลายแง่มุม และเมื่อคนได้ยินถึงพวกมันบ่อย พวกเขาก็จดจำได้ “คนญี่ปุ่นผูกสาเกไปกับเรื่องราวของชีวิต ผูกมันกับสถานที่ กับวัตถุดิบ กับผลิตผล เมื่อเรามองไปที่เที่ยวสักที่ มันแทบจะกลายเป็นโฆษณาแฝงไปกับสถานที่นั้นไปเลย”

คุณเทพเสริมประเด็นเรื่องการเล่าเรื่องราวของสาเกต่อว่า จริงอยู่ที่มันเป็นเหล้าที่หน้าตาคล้ายคลึงกัน ประวัติศาสตร์อันยาวนานของสาเกทำให้เรื่องราวของมันเหนือกว่าเหล้าแบบใดๆ

“ผมเชื่อว่าเรื่องเล่าที่ดีต้องมีวัตถุดิบที่ดี วัตถุดิบในที่นี้คือข้อมูลประวัติศาสตร์ สาเกมีข้อได้เปรียบคือสายธารประวัติศาสตร์ของมันยาวนานมาก แล้วไม่ขาดช่วงแบบเหล้าไทย” คุณเทพพูด เสนอว่ามันเคยเป็นเครื่องดื่มแห่งชาติของญี่ปุ่นซึ่งผูกมันเข้ากับวัฒนธรรมการกินของพวกเขา อีกทั้งเข้าไปอยู่ในระบบและได้รับการพัฒนามาตรฐานอยู่เสมอ แตกต่างจากเหล้าขาวไทยที่เข้าระบบช้ากว่าเป็นหลักร้อยปี ทำให้ไม่เกิดการโอบรับโดยชนชั้นกลางในเมือง กลุ่มคนผู้ดื่มเหล้าต่างชาติเป็นหลัก สร้างช่องว่างระหว่างชนชั้นให้กับเครื่องดื่มทั้ง 2

นอกจากสาเกแล้ว ‘จิน’ คือเหล้าใสสัญชาติอังกฤษที่สามารถเข้าไปตีตลาดญี่ปุ่นได้ภายในเวลาราวๆ 10 ปี คุณจ๋าเสนอมุมมองของเธอในฐานะคนที่เคยอยู่ในธุรกิจจินของญี่ปุ่นว่า “ถ้าสาเกคือภูมิปัญญา จินคือวัฒนธรรมร่วมสมัย อย่างที่คุณเทพเล่าว่าชนชั้นกลางกรุงเทพกินเหล้าตะวันตก คนญี่ปุ่นเขาไม่มองแบบนั้น เขามองว่าทำยังไงเราจะเปลี่ยนเหล้าตะวันตกนี้ให้มีความเป็นญี่ปุ่นได้” เธอเล่าต่อว่าสิ่งที่คนญี่ปุ่นทำคือการใส่ความเป็นท้องถิ่นเข้าไปในจิน เช่น การใช้น้ำจากออนเซ็น จากภูเขา หรือน้ำจากศาลเจ้าเป็นส่วนผสม

คุณเอกฉัตรเสริมว่าในแง่ความหลากหลายทางวัตถุดิบ ประเทศไทยเองก็สามารถทำแบบที่ญี่ปุ่นทำได้ “ญี่ปุ่นเขามีการต่อยอด จินเป็นของตะวันตกก็จริง แต่พอเข้าญี่ปุ่นเขาก็มีการเอาไปทำเป็นรสบ๊วยหรือน้ำจากแหล่งต่างๆ ไทยคือดินแดนแห่งผลไม้ ที่ถ้าเราปรับปรุงกฎหมายให้มันเอื้อให้ท้องถิ่นมีสุราพื้นบ้าน เราก็ควรจะใช้จุดแข็งนี้ของเรามาต่อยอด”

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมจินเติบโตได้อย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นคือการเข้ามาอย่างรวดเร็วของภาครัฐ คุณจ๋าเล่าให้ฟังถึงแบรนด์คราฟต์จินแรกของญี่ปุ่นชื่อคิโนบิตั้งโรงกลั่น ภาครัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการแนะนำ ปรับปรุง และพัฒนาโดยทันที จนโรงกลั่นของคิโนบิกลายเป็นมาตรฐานของโรงกลั่นจินทั่วประเทศ และเมื่อมีมาตรฐานพื้นฐานที่มั่นคง อุตสาหกรรมก็สามารถงอกงามได้อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานนั้นๆ

...

คุณวิสารพูดในแง่มุมของรัฐบาลว่ารัฐบาลชุดนี้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมสุราพื้นบ้าน “ภาษีปี 2566 มีตัวเลขภาษีเฉพาะสุราพื้นบ้าน สุราแช่ และเบียร์อยู่ที่ 38,000 ล้านบาท…สิ่งที่เรายังขาดไปตอนนี้คือการสนับสนุนจากภาครัฐในข้อกฎหมายที่ยังเป็นข้อขัดข้องอยู่”

เขาพูดเทียบอุตสาหกรรมสุราไทยและจีน “ที่จีนมีเหล้าเหมาไถมีธุรกิจครบวงจรอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เขาบอกว่าภาษีที่ได้จากเหมาไถสามารถเอาไปพัฒนาระบบความมั่นคงปลอดภัยของจีนได้เลย” ซึ่งเขามองว่าความสำเร็จของเหมาไถเป็นเหตุมาจากความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเมาไม่ขับของจีนที่ทำให้แทบไม่มีอุบัติเหตุจากของมึนเมาเลย แตกต่างจากที่ไทยที่การบังคับใช้กฎหมายไม่แข็งแกร่งเท่า ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อย และทำให้ภาครัฐไม่อาจสนับสนุนสุราได้อย่างเต็มที่นัก