วันที่ 28 พฤศจิกายน 2567 งาน “เมรัยไทยแลนด์” มหกรรมสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ระดับประเทศ ได้จัดวงเสวนา “ฝรั่งหลงเสน่ห์สุราไทย” ณ ศูนย์การค้า Emsphere เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเอกลักษณ์และความพิเศษของวัตถุดิบทางการเกษตรท้องถิ่นของไทย

รวมไปถึงศักยภาพของแบรนด์สุราไทยในการก้าวสู่ตลาดโลก ผ่านมุมมองของชาวต่างชาติที่หลงใหลรสเมรัยไทยถึงขั้นสร้างแบรนด์สุราไทยขึ้นมาและตัวแทนจากภาครัฐที่พร้อมสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมสุราท้องถิ่นไทย ได้แก่

1) Mr. Yann Triffe ผู้ก่อตั้งแบรนด์ โกษาปาน
2) Mr. Jean-Marie Favre ผู้ก่อตั้งแบรนด์ The Spirit of ChaiyaPhum
3) ดร.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เมื่อถามถึงเสน่ห์ของสุราไทย Yann และ Jean เห็นตรงกันว่า ประเทศไทยมีสารพัดวัตถุดิบธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ได้ มากไปกว่านั้น ผู้ผลิตแต่ละเจ้ายังมีเทคนิคและกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันไป ทำให้สุราชุมชนในแต่ละพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

...

คุณภาพและความพิเศษของวัตถุดิบท้องถิ่นไทยคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาตั้งใจปลุกปั้นแบรนด์สุราไทยของตัวเองขึ้นมา

Yann เจ้าของแบรนด์ โกษาปาน ชาวฝรั่งเศสเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างแบรนด์ว่า เขาต้องการผลิตเหล้ารัมที่ใช้วัตถุดิบของไทยทั้งหมด โดยใช้กระบวนการกลั่นแบบฝรั่งเศสดั้งเดิม ซึ่งวัตถุดิบที่โกษาปานใช้คืออ้อยสดพันธุ์ดีที่ปลูกในไทยด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์

“ประเทศไทยมีวัตถุดิบหลายอย่างที่ดี มีเครื่องดื่มสุราหลากหลายรสชาติที่น่าสนใจ ผมมีความสุขมากที่เห็นผู้คนมากมายสนใจในสุราไทย จนมีการเกิดแบรนด์จากผู้ผลิตหน้าใหม่ และคนรุ่นใหม่อยู่ตลอด”

“แบรนด์โกษาปานต้องการผลิตเหล้ารัมที่มอบกลิ่น รสชาติ และจิตวิญญาณใหม่ๆ ให้กับตลาดสุราไทย ในขณะเดียวกัน เราอยากช่วยโปรโมตสุราชุมชนไทยด้วยวิธีใหม่ๆ เพราะเท่าที่ผมรู้ ยังไม่มีผู้ผลิตรายไหนกลั่นเหล้ารัมด้วยวัตถุดิบเหล่านี้”

นอกจากกระบวนการผลิต เหล้ารัมโกษาปานยังแฝงความเกี่ยวข้องกันของไทยและฝรั่งเศสไว้ในชื่อแบรนด์

“เราใช้ชื่อนี้เพราะท่านเจ้าพระยาโกษาปานเป็นนักการทูตผู้บุกเบิกและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในยุคของสมเด็จพระนารายณ์ โกษาปานจึงเป็นตัวแทนที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสสำหรับเรา”

ด้าน Jean ผู้ก่อตั้งแบรนด์ The Spirit of ChaiyaPhum ชาวฝรั่งเศส เล่าให้ฟังว่าจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นหลังจากเขาพบรักกับสาวชัยภูมิที่เกาะสมุย และหลังจากตกลงกันแล้วว่าจะย้ายมาอยู่ที่ไทย เขาตัดสินใจที่จะสร้างธุรกิจของตัวเอง

เนื่องจากเห็นว่าภรรยามีไร่อ้อยที่จังหวัดชัยภูมิ Jean ผู้ชื่นชอบในการจิบสุราอยู่แล้ว จึงมีไอเดียผลิตสุราจากอ้อยในท้องถิ่น

เมื่อนำอ้อยคั้นสดมาหมักโดยใช้ยีสต์จากธรรมชาติที่ติดมากับลำอ้อย ก็จะได้เหล้ารัมกลั่นจากน้ำอ้อยหอมกลมกล่อมตามแบบฉบับ The Spirit of ChaiyaPhum

“เราตั้งชื่อแบรนด์ว่า The Spirit of ChaiyaPhum เพื่อสื่อถึงจิตวิญญาณของชัยภูมิ เพราะเหล้ารัมที่คุณจะได้ดื่มจากขวดเหล่านี้ทำมาจากอ้อยและวัตถุดิบในท้องถิ่นทั้งหมด” Jean อธิบาย

...

หลังจากได้เห็นศักยภาพและโอกาสของสุราชุมชนไทย ดร.กาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ได้กล่าวว่า ปัจจุบันหน่วยงานของรัฐเองกำลังพยายามผลักดันภาคการเกษตรไทยให้ผลิตวัตถุดิบที่มีหลากหลายและมีคุณภาพ เพราะวัตถุดิบเหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการผลิตสุราชุมชน

“อุตสาหกรรมสุราไทยกำลังเติบโตไปในทิศทางที่ดี เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการและภาคเอกชนช่วยกันโปรโมตให้สุราไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในขณะเดียวกัน ภาครัฐเองก็พยายามยกระดับสุราชุมชนไทยในหลายมิติ โดยเฉพาะการทำให้ภาษีและข้อจำกัดต่างๆ ยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อผลักดันให้แบรนด์สุราไทยส่งออกไปตลาดโลกได้มากขึ้น”

“นอกจากการยกระดับสุราชุมชนจะช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการในไทย ยังอาจส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเกษตรกรและชุมชนโดยรวมด้วย” ดร.กาญจนา ทิ้งท้าย

...

ติดตามกิจกรรมอื่นๆ และร่วมกันขับเคลื่อนสุราชุมชนและคราฟต์เบียร์ไทยได้ที่ “เมรัยไทยแลนด์” ระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2567 ณ Em Glass และ Em Yard ชั้น G ห้างสรรพสินค้า Emsphere