เมื่อฤดูกาลวนกลับมาถึงช่วงหน้าหนาว สิ่งที่วนกลับมาด้วยไม่ได้มีเพียงอุณหภูมิที่ลดต่ำลง แต่เป็นสภาวะอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองและสิ่งปนเปื้อนมากมาย วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับมลพิษทางอากาศ ภัยเงียบที่มักจะกลับมาพร้อมกับฤดูหนาวช่วงสิ้นปี รวมถึงผลกระทบที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว จะร้ายแรงและน่ากลัวแค่ไหน เราไปดูกันเลย

มลพิษทางอากาศ คืออะไร

มลพิษทางอากาศ คือสภาวะทางอากาศที่มีสิ่งปนเปื้อนขนาดเล็กปะปนอยู่ ไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า อาทิ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5 และ PM 10) โมเลกุลชีวภาพ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ผงเขม่าดำต่างๆ ฯลฯ สิ่งปนเปื้อนเหล่านี้สามารถส่งผลเสียทั้งต่อระบบนิเวศและเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของเราได้ ซึ่งมลพิษทางอากาศจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

มลพิษอากาศทางตรง

สารพิษที่ถูกปล่อยออกสู่อากาศโดยตรงทั้งจากภัยธรรมชาติและจากมนุษย์สร้างขึ้น ล้วนเป็นมลพิษทางตรงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เช่น ฝุ่นละออง เขม่าดำ ที่เกิดจากการเผาไหม้ต่างๆ สารโลหะหนัก ตะกั่ว ปรอท แคทเมียม ที่เกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรม ก๊าซไนโตรเจนที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และกระบวนการอุตสาหกรรม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง รวมถึงก๊าซมีเทนหรือสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ที่เกิดจากการทำงานของโรงงานและจากร่างกายมนุษย์ เป็นต้น

มลพิษอากาศทางอ้อม

มลพิษที่เกิดจากสารพิษต่างๆ ในอากาศทำปฏิกิริยากันจนกลายเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและระบบนิเวศอย่างมาก เช่น หมอกควันต่างๆ หมอกที่จับตัวกันระหว่างไอควันและฝุ่น ซึ่งมลพิษประเภทนี้สามารถส่งผลเสียต่อทัศนียภาพทางอากาศ บดบังแสงสว่าง อีกทั้งเมื่อเกิดฝนตก สารพิษเหล่านี้จะปนเปื้อนมากับน้ำฝน จนส่งผลให้ฝนที่ตกลงมากลายเป็นฝนกรดได้นั่นเอง

ผลกระทบร้ายแรงของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ

อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก นับเป็นฝันร้ายของคนที่เป็นโรคภูมิแพ้เลยก็ว่าได้ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากมลพิษทางอากาศจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจแล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายอีกหลายด้าน บางคนอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ เซื่องซึม แน่นหน้าอก ซึ่งผลกระทบของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อร่างกาย มีดังนี้

อันตรายต่อหัวใจ

การที่ร่างกายของเราต้องเผชิญกับมลพิษ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจได้ ไม่ว่าจะเป็น อัตราผันแปรการเต้นของหัวใจที่ลดลง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดแข็ง และภาวะหลอดเลือดแข็งนี่เองที่เป็นสาเหตุนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวายและหลอดเลือดในสมองตีบ

อันตรายต่อปอดและทางเดินหายใจ

เชื่อว่าทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุสำคัญที่กระตุ้นโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังก่อให้เกิดโรคและความผิดปกติเกี่ยวกับปอดและระบบทางเดินหายใจ เช่น ไซนัส ภูมิแพ้ โรคหอบหืด โรคมะเร็งปอด และในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี การได้รับมลพิษทางอากาศอาจส่งผลต่อการทำงานของปอด และเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังมากกว่าในผู้ใหญ่ด้วย

อันตรายต่อสมอง

การเผชิญกับมลพิษทางอากาศต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของระบบประสาท หลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และความหนืดของเลือดก็เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดลิ่มเลือดในสมองตามมาได้นั่นเอง

เพราะมลพิษทางอากาศเป็นสภาวะอากาศที่เต็มไปด้วยสารพิษปนเปื้อนมากมาย ที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพร่างกาย ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม การป้องกันตัวเองจากสภาวะอากาศที่เลวร้ายหรืออากาศที่ปนเปื้อนเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่เราควรตระหนักและให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งในช่วงเวลาที่มีมลพิษทางอากาศสูง และการมีเครื่องกรองอากาศในพื้นที่อยู่อาศัย เป็นต้น แม้ว่าการกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำจะเป็นวิธีดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในระยะยาวแล้ว การดูแลตัวเองจากสภาพอากาศที่เป็นพิษก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน