จากการที่เหล่าผู้บริหารตัวท็อปของ บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ องค์กรสื่อรายใหญ่ของไทย ประกาศลาออกจากบริษัทพร้อมกันถึง 3 คน ทำให้ชื่อของเครืออมรินทร์ เป็นที่สนใจในแวดวงสื่อ สำหรับจุดเริ่มต้นขององค์กรสื่อแห่งนี้มีที่มาอย่างไร เรารวมข้อมูลมาให้แล้ว

ประวัติ เครืออมรินทร์

ก่อนที่จะมาเป็น บมจ.อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ ในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นของเครืออมรินทร์ มาจากกองบรรณาธิการเล็กๆ ที่ ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและพนักงานจำนวนเพียงไม่กี่คน ร่วมกันจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดวารสารบ้านและสวนเพื่อเริ่มผลิตนิตยสาร “บ้านและสวน” ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2519 ซึ่งในยุคสมัยนั้นยังต้องอาศัยการพิมพ์จากโรงพิมพ์ภายนอก ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด อมรินทร์การพิมพ์ เพื่อจัดพิมพ์นิตยสารเอง ขณะเดียวกันก็รับจ้าง งานพิมพ์อื่นด้วย

ถึงแม้จะมีพนักงานจำนวนไม่กี่คน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นอันยิ่งใหญ่ ที่ส่งผลให้กิจการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อมา ทำให้มีความจำเป็นต้องระดมทุนและแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อปี 2536 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท อมรินทร์ พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)”

ในปีเดียวกัน บริษัทได้ขยายกิจการด้านการจัดจำหน่าย โดยการก่อตั้งบริษัทอมรินทร์บุ๊คเซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมถึงการจัดตั้งร้านค้าปลีกขึ้น โดยให้ชื่อว่า “ร้านนายอินทร์”

เมื่อปริมาณผู้อ่านที่เริ่มต้นขึ้นจากเพียงไม่กี่กลุ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น บริษัทจึงเริ่มผลิตนิตยสารอื่นๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่านโดยมีนิตยสารแนวผู้หญิง ออกตามมาคือ “แพรว” และ “สุดสัปดาห์” และผลิตนิตยสารอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันบริษัทมีนิตยสารทั้งสิ้น 9 หัว ผลิตหนังสือเล่มปีละหลายร้อยเล่ม รับจ้างพิมพ์และขยายออกไปสู่ธุรกิจอื่นอีกหลากหลาย

...

จากนั้นอมรินทร์กรุ๊ปได้ขยายธุรกิจสื่อครบวงจรทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ ไปจนถึงการจำหน่ายผ่านร้านค้าและงานมหกรรม โดยมีการพัฒนาแต่ละแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่มีคุณค่าทุกช่วงเวลาของชีวิต เพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม ดังปณิธานที่ผู้ก่อตั้งได้วางรากฐานไว้

อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด ได้ประกาศขายหุ้นจำนวน 47.62% ให้กับบริษัท วัฒนภักดี จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ของกลุ่มทีซีซี ซึ่งเป็นของตระกูลสิริวัฒนภักดี ทำให้ตระกูลอุทกะพันธุ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอมรินทร์ มีสัดส่วนหุ้นลดลงเหลือ 30.83%

ต่อมาเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2566 ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 และเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น AMARIN ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของบริษัท จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีสัดส่วน 13.86% ให้กับ บริษัท สิริภักดีธรรม จำกัด (ผู้ซื้อ) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ เจริญ สิริวัฒนภักดี หรือ “เจ้าสัวเจริญ”

และล่าสุดในวันนี้ (18 ต.ค. 2566) บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการลาออกของกรรมการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเลขานุการบริษัท ได้แก่

  1. นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ลาออกจากตําแหน่งประธานกรรมการ, กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม และกรรมการกํากับดูแลบรรษัทภิบาล
  2. นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท, กรรมการผู้มีอํานาจลงนาม, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน, กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการความยั่งยืนและบริหารความเสี่ยง กรรมการบริหาร, กรรมการผู้อํานวยการใหญ่และเลขานุการบริษัท
  3. นายโชคชัย ปัญจรุ่งโรจน์ ลาออกจากตําแหน่งกรรมการบริษัท และกรรมการผู้มีอํานาจลงนาม

โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ได้มีมติแต่งตั้ง นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ ดํารงตําแหน่ง รักษาการกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ โดยคณะกรรมการบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาสรรหาและแต่งตั้งผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะดํารงตําแหน่งแทนตําแหน่งที่ว่างลง โดยจะแจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทราบต่อไป

การประกาศลาออกของกลุ่มผู้บริหารเดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งอมรินทร์ฯ อย่างตระกูล อุทกะพันธุ์ เป็นการผลัดใบไปยังตระกูล สิริวัฒนภักดี อย่างชัดเจน

ข้อมูลอ้างอิง : บริษัท อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์ จำกัด (มหาชน)