ข่าวล่ามาแรง รายงานในปี 2022 นี้เอง จนกระทั่งมีคำอุปมาว่า เบียร์วันละแก้วอาจช่วยไม่ให้ต้องพึ่งหมอ เหมือนกับที่เราเคยได้ยินได้ฟังว่า กินแอปเปิ้ลวันละลูก หมอไปไกลๆได้เลย
ทั้งนี้ เป็นรายงานจากคณะผู้วิจัยจากประเทศโปรตุเกส ตีพิมพ์ในวารสาร Agriculture and food chemistry โดยเป็นการศึกษาวิจัยที่รัดกุมและมีตัววัดหรือประเมินโดยการวิเคราะห์จุลินทรีย์หรือแบคทีเรียในลำไส้ว่ามีความหลากหลายเพิ่มขึ้นหรือไม่
จุดประสงค์ใหญ่ของการศึกษาชุดนี้ น่าที่จะเป็นการประนีประนอมกันหรือไม่ กับกระแสการต่อต้านการดื่มแอลกอฮอล์ที่เริ่มออกมาว่าไม่ควรจะดื่มเลยแม้แต่จะน้อยนิดก็ตาม
และในอีกประเด็นหนึ่งเพื่อที่จะพิสูจน์ว่า ตามตำนานความเชื่อที่ว่าเบียร์นั้นดีต่อสุขภาพ ช่วยระบบต่างๆจิปาถะ จริงไหม และถ้าเบียร์ที่ว่าดีนั้น เกิดดีจริง การที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปอยู่ด้วยจะไปเจือจางความดีจนหายไปและกลายเป็นโทษอย่างเดียว
ตามปกติ ในคำแนะนำของสหรัฐฯ ในปี 2020 ถึง 2025 Dietary Guidelines for Americans จะมีระดับของแอลกอฮอล์ที่สามารถบริโภคได้คือ วันละหนึ่งแก้วหรือหนึ่งดริ้งก์ นั่นก็คือมีปริมาณแอลกอฮอล์ 14 กรัมสำหรับผู้หญิง สำหรับผู้ชายนั้นสามารถขึ้นได้ โดยถึงสองดริ้งก์ต่อวันหรือเทียบเท่ากับ 28 กรัม โดยคิดง่ายๆก็คือ ผู้ชายเท่ากับสองกระป๋อง กระป๋อง 1 เท่ากับ 330 ซีซี ในขนาดแอลกอฮอล์คือ 4% (ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งกระป๋องไป)
...
แต่ถ้าจะสั่งเป็นแก้ว เช่น หนึ่งไพท์ (pint) ปริมาณจะเยอะหน่อยในระบบอเมริกัน จะเท่ากับ 473 ซีซี ระบบอังกฤษเท่ากับ 568 ซีซี (ดังนั้นดูด้วย เวลาที่มีลดราคา เวลาแฮปปี้ happy hour เป็นไพท์ระบบไหน)
สำหรับหลักฐานทางประโยชน์ของเบียร์หรือแอลกอฮอล์มีอยู่หลายชิ้นพอสมควรที่จะไปเพิ่มระดับของไขมันดีและลดระดับของไขมันเสีย มีการลดเลือดหนืดผ่านทางเกล็ดเลือด และบรรเทา การดื้ออินซูลิน แต่กระนั้นก็ตามประโยชน์ที่อาจจะพึงมีต่อเส้นเลือดในร่างกายรวมกระทั่งถึงหัวใจและเบาหวาน จะถูกบดบังกับการที่ดื่มเบียร์แล้วอ้วนลงพุง ขี้เกียจ ไม่ออก กำลัง ร่วมกับกินอาหารหรือกับแกล้ม ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ และยังมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็ง
ที่คณะผู้วิจัยพรรณนาไว้ก็คือ ในเบียร์นั้นมีโพลีฟีนอล จาก ฮอปมาก ซึ่งในการเพาะบ่มเบียร์นั้น การที่ใส่ฮอปไปเพื่อกลิ่นรสและความขม และก็ยังมีพรีนิลฟลาโวนอยด์ ที่ชื่อ แซงโธฮิวมอล (xanthohumol) โดยการศึกษาระดับพริคลินิก คือศึกษาในสัตว์ทดลองไม่ใช่คน ได้ผลการศึกษาที่น่าสนใจโดยสารดังกล่าว น่าที่จะลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคที่เกี่ยวพันกับสารอนุมูลอิสระและก่อให้เกิดโรคเรื้อรังทั้งโรคอ้วนและเบาหวานและในระหว่างกระบวนการเพาะบ่ม เบียร์ แซงโธฮิวมอลจะมีการปรับโครงสร้างกลายเป็น ไอโซแซงโธฮิวมอล ซึ่งมีฤทธิ์ในทางเป็นประโยชน์เช่นกัน
ส่วนประกอบโพลีฟีนอลในเบียร์ เมื่อตกถึงลำไส้จะมีผลในการปรับสภาพของจุลินทรีย์ทั้งปริมาณ ชนิดและความหลากหลาย ถึงจนกระทั่งมีเบียร์หลายยี่ห้อ มีส่วนประกอบเป็นจุลินทรีย์ดีเจือปนเข้าไปด้วย
โครงการศึกษาจุลินทรีย์ในลำไส้ที่ใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งโดยมีประชากรศึกษาเป็นจำนวน มาก ได้แก่ Flemish Gut Flora Project แสดงให้เห็นว่าการดื่ม เบียร์ในคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะส่งผลในการปรับสภาพจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นตัวดี
เพราะฉะนั้นการมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์จะส่งผลต่างกันหรือไม่โดยคณะผู้วิจัยแบ่งผู้ร่วมการศึกษาเป็นสองกลุ่มโดยมีอายุระหว่าง 18 ถึง 65 ปี และไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับระบบกระเพาะและทางเดินอาหารรวมกระทั่งถึงโรคลำไส้หงุดหงิด และไม่มีโรคหัวใจขาดเลือด เบาหวาน เส้นเลือดตีบที่ขา ไม่มีโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือไวรัสตับอักเสบและไม่เคยใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงระยะเวลาสี่อาทิตย์ก่อนหน้าและไม่ใช้ยาระบายในช่วงสองอาทิตย์ก่อนหน้าและไม่ใช่เป็นคนติดเหล้าติดยาหรือสารเสพติดอย่างอื่น การวิจัยลงทะเบียนใน clinical trials NCT 03513432
ตลอดช่วงเวลาของการวิจัย การออกกำลังและสภาพการทำงานจะอยู่ในระดับเดิม รวมกระทั่งถึงชนิดและปริมาณของอาหารการกิน อาสาสมัครจะไม่ทราบว่าดื่มเบียร์มี (5.2%) หรือไม่มีแอลกอฮอล์ (0%) โดยเบียร์ที่ใช้เป็นลาเกอร์เบียร์ (lager beer) โดยที่ทราบปริมาณของไอโซแซงโธฮิวมอล และแซงโธฮิวมอล ด้วยการตรวจ HPLC–DAD หลังจาก SPE extraction
...
ทั้งก่อนและหลัง การศึกษาที่กินเวลา 4 อาทิตย์ จะมีการเก็บอุจจาระ และวิเคราะห์เลือดอย่างละเอียด (serum cardiometabolic markers) และส่วนประกอบของร่างกาย ด้วยเครื่อง In Body และบันทึกผล ลักษณะชนิดประเภทของอาหารการกินด้วย food frequency questionnaire การวิเคราะห์ชนิดและความหลากหลายของจุลินทรีย์ด้วยการเตรียม DNA libraries (V3 และ V4 regions) จนถึงการวิเคราะห์มาตรฐานตามแบบที่เราใช้กัน
นอกจากการที่ดูความหลากหลายของจุลินทรีย์แล้ว ยังทำการประเมินดัชนีของการอักเสบในลำไส้และมีการรั่วของเยื่อบุผนังลำไส้หรือไม่โดยการหา fecal alka line phosphatase activity
ผลของการศึกษาในอาสาสมัครกลุ่มละ 11 คน ที่ติดตามเป็นระยะเวลาสี่อาทิตย์ พบว่า ทั้งสองกลุ่มมีการเพิ่มของจุลินทรีย์ชนิดที่เป็นตัวดีหรือมีประโยชน์มากกว่า 20 ชนิด และไม่พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงในน้ำหนัก ปริมาณและการกระจายตัวของไขมันในร่างกายรวมกระทั่งถึงดัชนีชี้วัด สภาพคาร์ดิโอเมตาบอลิกในเลือด
ผลของการศึกษานี้ แตกต่างจากรายงานใน วารสารแอลกอฮอล์ในปี 2020 ทำที่อริโซนา สหรัฐฯโดยได้ทำการศึกษาทั้งชายและหญิงที่อยู่ในเม็กซิโกอายุระหว่าง 21 ถึง 53 ปี โดยให้ดื่มเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์วันละ 12 ออนซ์ (1 ออนซ์ ประมาณ 30 ซีซี) กับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณ 4.9% เป็นเวลา 30 วันโดยที่เห็นความดีงามในเฉพาะกลุ่มที่ดื่มเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ โดยที่มีการเพิ่มความหลากหลายของจุลินทรีย์
ทั้งนี้ การศึกษาในปี 2020 ไม่ได้จำเพาะเจาะจง โดยอาสาสมัครไม่ได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทุกคน ซึ่งอาจอธิบายความแตกต่างของผลการศึกษาทั้งสองชิ้นนี้ได้
บทสรุป การดื่มเบียร์ให้ได้ประโยชน์นั้น สำหรับคนที่สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่แล้วไม่ได้มีโรคประจำตัว น่าที่จะดื่มได้ทั้งชนิดไม่มีหรือมีแอลกอฮอล์ และที่น่าสนใจก็คือ เบียร์ลาเกอร์อาจจะดีกว่า โดยที่มีคุณสมบัติทำให้เยื่อบุผนังลำไส้มีความแข็งแรงขึ้น แต่ข้อจำกัดที่คนดื่มเบียร์ทุกคนทราบก็คือ เบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์ดูรสชาติประหลาด และหัวหน้าทีมผู้วิจัยให้สัมภาษณ์ว่า รสชาติ “a bit wierd”
...
สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วทางเมตาบอลิก อ้วนลงพุง เบาหวาน ความดันสูง ไขมันผิดปกติ โรคทางเส้นเลือด ท่าทางน่าจะอยู่กับเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ดีกว่า ทั้งนี้ โดยถือผลของจุลินทรีย์ในลำไส้ที่จะส่งผลก่อให้เกิดการอักเสบในลำไส้ ทะลุไปเข้าเลือดกระจายไปทั่วร่างกายแม้กระทั่งกระทบสมอง
ดังนั้น ถ้าอยากจะดื่มอย่างมีความสุข ก็ปรับสุขภาพให้เป็นปกติเร็วที่สุด จะได้รับอานิสงส์จากการดื่มเบียร์แอลกอฮอล์ ได้ซะที ว่าแล้ว ก็เชียร์สสสส ครับ.
หมอดื้อ