เป็นที่รู้กันว่าการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และหลีกเลี่ยงการสะสมของพลาสติกในสิ่งแวดล้อม เป็นกุญแจสำคัญในการจัดการกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีความพยายามพัฒนาโพลีเมอร์ที่ย่อยสลายได้หรือรีไซเคิลได้โดยทำด้วยวัสดุจากพืชที่กินไม่ได้ เรียกว่าชีวมวลอินทรีย์ลิกโนเซลลูโลส (lignocellulosic biomass) มากยิ่งขึ้น
ล่าสุดทีมนักวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานแห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิส โลซาน ในสวิตเซอร์แลนด์ เผยประสบความสำเร็จในการพัฒนาพลาสติกที่ได้จากชีวมวลอินทรีย์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพลาสติกโพลีเอทิลีน เทอพาทาเลท (Polyethylene terephthalate) หรือพีอีที (PET) นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการสร้างพลาสติกทดแทนที่สามารถเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนั้น ได้ใช้แอลดีไฮด์ (aldehyde) มาทำปฏิกิริยากับโมเลกุลน้ำตาล ซึ่งจะทำให้พวกมันทำหน้าที่เป็นตัวสร้างพลาสติกได้ และในอนาคตเชื่อว่านี่จะแปลงขยะจากการเกษตรที่มีน้ำหนักมากถึง 25% หรือน้ำตาลบริสุทธิ์ 95% ให้เป็นพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คุณสมบัติของพลาสติกแบบใหม่เหล่านี้สามารถนำไปใช้กับงานต่างๆ ตั้งแต่บรรจุภัณฑ์ สิ่งทอ ยา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทีมได้นำไปทำฟิล์มบรรจุภัณฑ์ เส้นใยที่สามารถนำมาผลิตเครื่องนุ่งห่มหรือสิ่งทออื่นๆ หรือเส้นใยสำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติได้แล้ว.