"สมรสเท่าเทียม" เป็นการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBTQIA+ ที่ถูกพูดถึงและเป็นที่ถกเถียงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนเกิดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บนโซเชียลมีเดียหลายครั้ง นำไปสู่การลงชื่อเรียกร้องให้มีการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ล่าสุด สภาฯ มีมติรับหลักการร่างกฎหมายที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต จำนวน 4 ฉบับ ในวาระแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การพิจารณาและศึกษาร่างกฎหมายอย่างละเอียดในขั้นตอนต่อไปอีกครั้ง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีที่จะสร้างความเท่าเทียมทางกฎหมายให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกเพศ
ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่ามีสิทธิอะไรบ้าง และมีความแตกต่างกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างไร
ทำความรู้จัก "สมรสเท่าเทียม" คืออะไร?
สมรสเท่าเทียม คือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการสร้างครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศ ซึ่ง ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เคยเป็นร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลยื่นร่างต่อสภาฯ ในปี พ.ศ.2563 ก่อนที่จะผ่านวาระแรกพร้อมกับร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งหมดจำนวน 4 ฉบับ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ในการสมรส จดทะเบียนสมรส และใช้ชีวิตคู่เป็นคู่สมรส ไม่ว่าบุคคลเพศสภาพใดเมื่อสมรสกัน ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายรองรับ โดยไม่จำเป็นว่าคู่สมรสนั้นต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น ทำให้มีการร่างข้อกฎหมายที่แก้ไขถ้อยคำระบุรายละเอียดให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น
...
ประโยชน์ของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม สนับสนุนสิทธิ LGBTQIA+ อย่างไร?
หาก พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ผ่านมติสภาฯ และการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ในทุกวาระ และถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายในไทย "สมรสเท่าเทียม" จะมีประโยชน์ในการมอบสิทธิและความเท่าเทียมให้แก่ทุกเพศ เนื่องจากปัจจุบันกฎหมายยังยอมรับการสมรสเฉพาะแค่เพศชาย-หญิง เท่านั้น แต่หากมีการผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) ไม่ว่าจะเพศสภาพใด ก็สามารถสมรส จดทะเบียนสมรส และเข้าถึงสวัสดิการจากรัฐที่เป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่าง ดังนี้
- บุคคลไม่ว่าจะมีเพศสภาพ หรือมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร เมื่อจดทะเบียนสมรสกันก็ถือเป็น "คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย"
- "คู่สมรส" จะไม่จำกัดเฉพาะชาย-หญิง เท่านั้น แต่ครอบคลุมทุกเพศสภาพ
- ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางทางเพศมากขึ้น เช่น สามี-ภรรยา ปรับเป็น "คู่สมรส", ชาย-หญิง ปรับเป็น "บุคคล", บิดา-มารดา ปรับเป็น "บุพการี"
- ทุกบุคคลจะได้รับความเท่าเทียม และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีสิทธิในการหมั้น, สิทธิจดทะเบียนสมรส, สิทธิจัดการทรัพย์สินของคู่สมรส, สิทธิเป็นผู้จัดการแทนในทางอาญาเช่นเดียวกับสามี-ภรรยา, สิทธิรับมรดกหากอีกฝ่ายเสียชีวิต, สิทธิรับบุตรบุญธรรม, สิทธิรับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม, สิทธิเซ็นยินยอมให้รักษาพยาบาลอีกฝ่าย, สิทธิจัดการศพ เป็นต้น
- ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคม, สิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น
- คู่สมรสสามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้บุตรบุญธรรมใช้นามสกุลคู่สมรสได้ โดยจะต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี
- มีการปรับอายุขั้นต่ำของบุคคล ในการจดทะเบียนสมรส จากเดิม 17 ปี ขึ้นเป็น 18 ปี เพื่อสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก (หากอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม)
ความแตกต่างระหว่าง "พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม" และ "พ.ร.บ.คู่ชีวิต"
...
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ถูกเสนอโดยพรรคก้าวไกล
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ถูกเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์และครม.
- ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม นิยามให้คู่รัก LGBTQIA+ เป็น "คู่สมรส" โดยคู่สมรสทุกคู่มีสิทธิและสวัสดิการเท่าเทียมกันตามหลักความเสมอภาค ไม่มีการแบ่งแยก
- ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต นิยามให้คู่รัก LGBTQIA+ เป็น "คู่ชีวิต" โดยคู่ชีวิตมีสิทธิและสวัสดิการบางประการที่ยังไม่ได้ครอบคลุม เช่น การรับหมั้น, การขอสัญชาติให้คู่ชีวิต, การขอสิทธิลดหย่อนภาษี, สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการเบิกจ่ายข้าราชการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมให้ผ่านเป็นกฎหมายในไทย ยังคงเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจและจับตามอง หากในที่สุดแล้วถูกนำมาปรับใช้เป็นกฎหมายอย่างถูกต้อง นับเป็นก้าวสำคัญของกฎหมายไทย สู่การส่งเสริมความเท่าเทียมและเสมอภาคให้แก่กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+) และทุกเพศสภาพในสังคม ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน.
...
อ้างอิงข้อมูล : www.ilaw.or.th