ไม่เพียงแต่ฟินแลนด์จะเป็นประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงอายุน้อยที่สุดเท่านั้น แต่สัดส่วนของผู้หญิงที่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองในฟินแลนด์ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้ง การสลายกำแพงของบทบาทหน้าที่ในกระทรวง ทบวง กรม ที่เคยถูกมองว่านายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีกลาโหม แม้แต่รัฐมนตรีคลังควรเป็นหน้าที่ของผู้ชาย ส่วนรัฐมนตรีหญิงควรถูกมอบหมายให้ดูแลกระทรวงด้านสุขภาพ การศึกษา หรือสังคมเท่านั้น

“เมื่อผู้หญิงได้พิสูจน์ตนเองว่ามีความสามารถเท่าเทียมในการตัดสินใจและสามารถเป็นผู้นำได้ เป้าหมายต่อไปในการที่จะเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงให้มีส่วนตัดสินใจในเรื่องเศรษฐกิจก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินไป” ตูลา ฮาไตยเน็น อดีต รมต.ด้านความเท่าเทียมของฟินแลนด์ บอก

ฟินแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิในการเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาแก่ผู้หญิงมาตั้งแต่ปี 1906 ปีต่อมา ผู้หญิง 19 คน ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภา ขณะที่ส่วนใหญ่ในโลกตะวันตกเพิ่งจะอนุญาตให้สิทธิผู้หญิงในการทำงานการเมืองในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1918

...

ปี 2000 ฟินแลนด์มีประธานาธิบดีหญิงคนแรกคือ ทาร์ยา ฮาโลเนน จากนั้นในปี 2003 มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกคือ อันเนลลี ยัตเทนมากี ก่อนที่ ซันนา มารีน จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของฟินแลนด์ ในช่วงปลายปี 2019 ซึ่งทำให้เธอกลายเป็นผู้นำประเทศที่อายุน้อยที่สุดในโลก

บทบาทและการเคลื่อนไหวของผู้หญิงฟินแลนด์เริ่มมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 ทั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งสากลและสิทธิที่จะยืนหยัดเพื่อการเลือกตั้ง

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในทางการเมือง หลายประเทศมีผู้นำเป็นผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรี “จาซินดา อาร์เดิร์น” แห่งนิวซีแลนด์ “แคทริน เจคอบสดอตเตอร์” แห่งไอซ์แลนด์ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน รวมถึง แมท เฟรดเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก และ แองเจลา มาร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยังไม่รวมประเทศเล็กๆอย่างเอสโตเนีย และไอซ์แลนด์ ที่ล้วนแล้วแต่มีผู้นำเป็นผู้หญิงทั้งสิ้น

ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 หลายประเทศที่มีผู้นำเป็นผู้หญิงอย่างไต้หวัน นอร์เวย์ เดนมาร์ก เยอรมนี นิวซีแลนด์ ต่างได้รับการยกย่องชื่นชมจากทั่วโลกถึงความเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมในการจัดการกับวิกฤติการระบาดของโควิด-19 ได้ดีและมีประสิทธิภาพ

เส้นทางที่ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจขึ้นมานี้ อาจเชื่อมโยงได้กับปรากฏการณ์ glass cliff phenomenon หรือ ปรากฏการณ์หน้าผาแก้ว ที่คำว่า นิสัยแบบผู้หญิง ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกด้านที่อ่อนแอหรือเป็นจุดที่เจ็บปวดของผู้หญิงอีกต่อไป หากแต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดการกับวิกฤติของผู้หญิงได้ชัดเจนมากขึ้น

งานวิจัยเรื่อง glass cliff มีต้นตอมาจากความที่ผู้หญิงมีแนวโน้มได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้นำช่วงที่บริษัทเริ่มย่ำแย่ ภาวะผู้นำหญิงในสถานการณ์วิกฤติจึงถูกเรียกเป็นหน้าผาแก้วที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และล่อแหลมเพราะง่ายต่อความล้มเหลว การวิจัย glass cliff หลายฉบับ พบว่าก่อนที่จะแต่งตั้งผู้ชายเข้าสู่บอร์ด บริษัทเหล่านี้มักเป็นบริษัทร้อนแรงในตาราง Financial Times Stock 100 Index แต่เมื่อมีการเริ่มแต่งตั้งผู้หญิงสักคนเข้ามาในบอร์ดบริหาร บริษัทนั้นก็มักเข้าสู่ช่วงที่ราคาหุ้นบริษัทตกต่ำมาแล้วนานกว่า 5 เดือน

...

แนวโน้มนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เท่านั้น แต่ดูเหมือนบริษัทและองค์กรทั่วโลกเริ่มเพิ่มความหลากหลายทางเพศให้บอร์ดบริหาร หลังจากเริ่มประสบปัญหาใหญ่ไปแล้ว แม้แต่ในวงการเมืองอังกฤษ “มาร์กาเร็ต แทตเชอร์” ก็กลายเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษนิยมในยามวิกฤติ รวมถึง อาร์เดิร์น แห่งนิวซีแลนด์ ก็หนีไม่พ้นกรณีของ glass cliff จนได้โอกาสเป็นผู้นำของพรรคแรงงานของนิวซีแลนด์ ในปี 2017 หลังจากหัวหน้าพรรคคนเก่าต้องลาออกเพราะคะแนนนิยมตกต่ำสุดขีด จนอีก 2 เดือนต่อมา อาร์เดิร์นก็กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดของประเทศในรอบ 150 ปี

ผลการวิจัยพบว่า glass cliff เป็นปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นเมื่อองค์กรรู้สึกยอมเสี่ยง และยินดีที่จะท้าทายสถานะ “ไม่มีอะไรจะเสีย” ที่กำลังเป็นอยู่

แต่พอถึงเวลาที่ผู้หญิงได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเอง โลกจึงได้ตระหนักว่า บางครั้ง เพศสภาพที่ถูกตีตรามานานอย่างผู้หญิง อาจจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤติและเป็นพลังของการเปลี่ยนโลกในอนาคตก็ได้.

...