รู้หรือไม่ว่าช่วงเวลาประมาณวันที่ 21 และ 22 ของธันวาคมของทุกปีมีความสำคัญทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ที่มีผลต่อโลกของเรา และในเชิงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวจีนอีกด้วย โดยเรียกว่าเป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) คือวันที่มีเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด คนไทยมักเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ขณะที่ประเทศทางซีกโลกเหนือ จะนับว่าวันนี้เป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มตัว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 

โดยในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมายังตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุด วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนที่ยาวที่สุด ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06.36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17.55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น ส่งผลให้ท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี นับเป็นวันที่เข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศทางซีกโลกใต้

ทั้งนี้ ฤดูกาลต่างๆ เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย จึงทำให้เกิดฤดูกาลต่างๆ บนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน

...

ภายในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ วันครีษมายัน คือ วันที่กลางวันยาวนานที่สุด วันเหมายัน เป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุด และวันวสันตวิษุวัต และวันศารทวิษุวัต คือวันที่มีกลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน

นอกจากนี้ยังเป็นวันสำคัญต่อประเพณีดั้งเดิมของชาวจีนในช่วงปลายปี ก็คือ วันไหว้ขนมบัวลอย หรือ ตงจื้อ หากออกเสียงตามสำเนียงแต้จิ๋วจะเป็น ตังโจ่ย วันไหว้ขนมบัวลอยจะจัดขึ้นในเดือน 11 ตามปฏิทินจีน แต่ไม่กำหนดวันตายตัว แต่ถ้ายึดตามปฏิทินทางสุริยคติสากลจะตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ธันวาคมของทุกปี

ที่มาของประเพณีไหว้ขนมบัวลอยมาจากการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในช่วงฤดูหนาว เพื่อให้คุ้มครองสัตว์เลี้ยง และขอพรให้พืชผลทางการเกษตรเจริญงอกงามได้ดี ผู้คนมีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งเป็นการขอบคุณสำหรับการดำรงชีวิตอย่างราบรื่นมาอีก 1 ปี หรือใครมีเคราะห์อยู่ก็เชื่อว่าเมื่อไหว้แล้วจะทำให้หมดเคราะห์

ของที่ใช้ในการไหว้ขนมบัวลอย ประกอบด้วย

  • กระถางธูป
  • เทียนแดง 1 คู่
  • ขนมบัวลอย 5 ถ้วย
  • ผลไม้ 5 อย่าง
  • น้ำชา 5 ถ้วย
  • ธูปสำหรับจุดไหว้ คนละ 3 ดอก หรือ 5 ดอก (จำนวนแล้วแต่ความเชื่อตามแต่ละท้องที่)
  • กระดาษเงินกระดาษทอง และเครื่องบรรณาการต่างๆ

* จำนวนของที่ใช้ในการไหว้อาจปรับเปลี่ยนไปตามความสะดวกและความเชื่อตามแต่ละท้องที่

สำหรับขนมบัวลอย หรือขนมอี๋ ที่ใช้ในการไหว้ จะทำจากแป้งข้าวเหนียวนวดกับน้ำต้มสุกจนเข้าที่ และปั้นเป็นเม็ดกลมๆ เล็กๆ นิยมผสมสีชมพูและสีขาว เมื่อปั้นเสร็จแล้วจึงนำลงไปต้มในน้ำเดือด คล้ายกับการทำบัวลอยน้ำกะทิของคนไทย แต่ขนมอี๋จะใช้น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายแดงแทนกะทิ ที่สำคัญจะต้องมีขนมอี๋ลูกใหญ่ที่เรียกว่า อีโบ้ ใส่ลงไปในถ้วยขนมอี๋ที่จะไหว้ถ้วยละ 1 ลูกด้วย

ลักษณะกลมของขนมอี๋ สื่อความหมายถึง ความกลมเกลียวกันของคนในครอบครัว สีแดงและสีชมพู สื่อความหมายถึง ความโชคดี นอกจากนี้ ขนมอี๋ ยังถือเป็นขนมมงคลของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นิยมทำขึ้นในงานแต่งงานอีกด้วย