- ฟังเสียงสะท้อนของคนกลางคืน หลังภาครัฐมีมติประกาศเลื่อนปลดล็อกธุรกิจร้านเหล้า-ผับ-บาร์ จากกำหนดเดิม 1 ธันวาคม 2564 เป็น 16 มกราคม 2565
- ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ผู้ประกอบการสถานบันเทิงในต่างจังหวัด วอนขอมาตรการเปิดร้านที่ชัดเจน ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามภายใต้วิถี New Normal ยุคโควิด-19
ภายหลังการคลายล็อกดาวน์โควิด-19 หลายกิจการเริ่มกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง แต่สำหรับธุรกิจสถานบันเทิง ดูเหมือนความหวังยังคงเลือนลาง เมื่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ยังมีมติให้คงปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ และคาราโอเกะต่อไป จากแผนเดิมที่กำหนดให้กลับมาเปิดบริการในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ก็ถูกเลื่อนเป็น 16 มกราคม 2565 ท่ามกลางกระแสเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องรับฟังเสียงของคนกลางคืนบ้าง
ไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่สถานบันเทิงในต่างจังหวัดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะในจังหวัดสงขลา จากที่เคยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคใต้ ปัจจุบันยังคงเป็น 1 ใน 6 จังหวัด ที่อยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ร่วมกับจังหวัดนครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และตาก
ไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ วศิน บริสุทธิ์ ผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับ "District" ในจังหวัดสงขลา สะท้อนมุมมองความเดือดร้อนของคนกลางคืนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังยามวิกฤติ ขาดรายได้ไปนานกว่า 8 เดือน และได้รับผลกระทบจากมติประกาศเลื่อนวันเปิดบริการ ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงานในร้านอีกหลายชีวิต ที่ยังรอคอยมาตรการปลดล็อกอย่างมีความหวัง เพื่อที่จะได้กลับมาทำงานและมีรายได้อีกครั้ง
...
เริ่มต้นธุรกิจ "อาชีพคนกลางคืน" เพราะใจรัก
จากบัณฑิตคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หันหลังให้งานอาชีพนักเขียนในกรุงเทพฯ กลับสู่บ้านเกิด อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยงานคุณแม่ที่ร้านโยคะ แต่กลับเห็นลู่ทางในการเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองด้วยใจรัก เริ่มการเปิดบาร์นั่งดื่มร้านเล็กๆ ในปี 2559 รวมถึงจัดคอนเสิร์ต อีเวนต์ ให้ชาวหาดใหญ่ได้มาเที่ยวพักผ่อน
แม้ว่าต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะทำกำไร แต่ 'วศิน บริสุทธิ์' สัมผัสได้ถึงความสุขและความสนุกที่ได้รับจากธุรกิจนี้ สามารถขยับขยายร้านเพิ่มเติมได้อีก 2-3 แห่ง จนกระทั่งเห็นโลเกชั่นแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่บนถนนริมทะเล บริเวณชายหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา เหมาะแก่การเปิดร้านอาหารกึ่งผับ (Pub & Restaurant) สำหรับนั่งกินดื่มชิลๆ มีเวทีจัดอีเวนต์คอนเสิร์ต จึงเริ่มลงทุนเปิดร้านใหม่ และเปิดบริการครั้งแรกเดือนมีนาคม 2564 กลายเป็นสถานบันเทิงใหญ่ริมทะเลที่ชาวสงขลารู้จักกันดี
วิกฤติโควิด-19 ทำยอดขายดิ่ง 20-30 เท่า ขายรถ ขายกีตาร์ หาเงินจ่ายพนักงาน
ธุรกิจสถานบันเทิงที่ดูเหมือนกำลังไปได้ดี ต้องหยุดชะงักลง หลังมีคำสั่งล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ทำให้ร้านต้องปิดตัวชั่วคราว ยาวนานถึง 8 เดือน รายได้ไม่มี แต่ภาระที่แบกรับยังคงอยู่ ทำให้วศินเลือกขายกิจการผับบาร์ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ โดยเหลือไว้แค่ District ร้านอาหารกึ่งบาร์ริมทะเลในตัวเมืองสงขลาเพียงแห่งเดียว
"ปี 2564 พอโควิดระบาดอีกรอบ ผมเลิกหมดเลย เพราะรู้ว่าแบกค่าเช่าไม่ไหวแน่ ไหนจะเงินที่ไปกู้ธนาคารมาลงทุน แต่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ผมบอกพนักงานว่าค่าจ้างค่อยจ่ายให้นะ ขอโทษที่ต้องเป็นแบบนี้ เราต้องจ่ายค่าเช่าร้านโดยที่ไม่มีรายได้เลย ผมขายรถยนต์ไปแล้ว 1 คัน ขายกีตาร์อีก 4-5 ตัว เหลือเก็บไว้แค่ตัวเดียว เผื่อไว้อาจต้องใช้ทำมาหากินในอนาคต" วศินกล่าว
แม้ว่าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วศินจะกลับมาเปิดร้านได้อีกครั้งตามมาตรการคลายล็อกดาวน์ แต่ก็ไม่สามารถเปิดเต็มรูปแบบ ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งปลดล็อกสถานบันเทิง ทำให้ยอดขายตกลงจากเดิมประมาณ 20-30 เท่า แต่ก็ต้องพยายามประคับประคองทุกทาง เพื่อให้ยังพอหาเงินมาจ่ายค่าเช่า จ่ายธนาคาร อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมปรับปรุงร้านหลังปิดไว้เฉยๆ เป็นเวลาหลายเดือนอีกด้วย
...
ขานรับมาตรการผ่อนคลาย ยอมปรับตัวจากร้านเหล้า สู่ "ร้านกาแฟ-ขายหม่าล่า"
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในจังหวัดสงขลา วศินมองว่าถึงเวลาต้องปรับตัว เพราะหากไม่มีรายได้เข้ามาเลย ก็จะไม่มีเงินสำหรับจ่ายค่าเช่า ทุกอย่างที่ทุ่มเทให้กับร้านนี้อาจหายวับไปกับตา จึงตัดสินใจนำเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ ไปลงทุนซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบสำหรับทำกาแฟ ปฏิบัติตามคำสั่งควบคุม ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่จะปรับให้เป็นร้านกาแฟริมทะเลแทน
วศินกล่าวว่า "ร้านเรายอมปรับตัว เพราะถ้าไม่ทำอะไรเลย เงินเราจะหมดจริงๆ เปิดเป็นร้านกาแฟไปก่อน ขายลูกชิ้น ขายหม่าล่า อย่างน้อยจะได้มีเงินเลี้ยงตัวเอง มีเงินจ่ายค่าเช่า และมีเงินให้ลูกน้องที่ร้าน ได้ช่วยนักดนตรีกลางคืนด้วย ใครที่กำลังผ่อนอะไรอยู่ก็ลำบากมาก ถูกยึดรถยนต์-มอเตอร์ไซค์ กันไปหลายคนแล้ว ผมเลยตัดสินใจว่าเรากลับมาทำร้านดีกว่า เพราะอีกไม่นานก็คงกลับมาเปิดได้ตามกำหนดวันที่ 1 ธันวาคม 2564"
...
ผลกระทบเลื่อนวันปลดล็อก หัวอกคนกลางคืน ฝากความหวังไว้กับ 16 ม.ค. ปีหน้า
"ทุกสิ่งที่เตรียมมาพังทลายหมด" คือความรู้สึกแรกของวศิน เมื่อทราบว่า ศบค.มีมติปรับเลื่อนเปิดบริการสถานบันเทิง จาก 1 ธันวาคม 2564 เป็น 16 มกราคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย
วศินเผยว่า การปรับเลื่อนวันปลดล็อกสถานบันเทิงรอบใหม่ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะตัวเขาในฐานะผู้ประกอบการ แต่พนักงานก็ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน เนื่องจากทุกคนได้ปักธงไว้แล้วว่า 1 ธันวาคม 2564 คือวันปลดล็อก วศินตามตัวพนักงานที่ก่อนหน้านี้แยกย้ายกันไปทำอาชีพอื่นๆ ชั่วคราว เช่น ขับแกร็บ ทำสวน ทำงานก่อสร้าง ใช้แรงงานรายวัน ฯลฯ ให้กลับมาเตรียมความพร้อมสำหรับเปิดร้าน ทุกคนไปลาออกจากงานเดิมที่ทำ เพื่อกลับมาประจำตำแหน่งเดิมในร้าน
"ผมเรียกตัวพนักงานกลับมาทำงาน ส่วนใหญ่เป็นคนที่ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น แต่ละคนแยกย้ายไปหางานเล็กๆ น้อยๆ ทำ ซึ่งต่างจังหวัดไม่ได้มีงาน หรือตัวเลือกมากนักในสถานการณ์แบบนี้ หลายคนไปลาออกจากงานที่ทำ เพื่อเตรียมกลับมาอยู่ร้านผมในวันปลดล็อก แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เปิด แล้วคิดว่าเขาจะทำงานที่เดิมต่อได้หรือ นายจ้างจะจ้างต่อหรือ แล้วใครรับผิดชอบเขา ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะ พนักงานก็มีครอบครัว มีพ่อ แม่ ลูก ต้องเลี้ยงดูแล เขาก็ต้องกินข้าว แต่พอมาเจอแบบนี้ มันเคว้งไปหมด"
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ประกอบการเองก็ได้เตรียมการจัดงานอีเวนต์ต่างๆ ไว้ในช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว แต่การเลื่อนปลดล็อกกะทันหัน ทำให้ทุกอย่างยกเลิกไปอย่างไม่มีกำหนด ต้องยอมเสียเงินมัดจำค่าจองคิวศิลปิน ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก ฯลฯ รวมถึงการทุ่มเงินก้อนสุดท้ายไปกับการลงทุนเตรียมเปิดร้าน เพื่อหวังจะมีรายได้อีกครั้ง ในวันปลดล็อก 1 ธันวาคม 2564 แต่กลับต้องเลื่อนออกไปอีก 45 วัน จึงฝากความหวังทุกอย่างไว้กับดีเดย์ 16 มกราคมปีหน้า
...
สงขลาออกคำสั่งปิดร้านริมทะเล 2 ทุ่ม ทำบรรยากาศเงียบเหงา เศรษฐกิจซบเซา
ตามประกาศของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา บังคับใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกำหนดให้เปิดร้านอาหารแบบนั่งรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 22.00 น. แต่สำหรับพื้นที่หาดชลาทัศน์ ตลอดแนวถนนซ้าย-ขวา (ตั้งแต่โค้งเก้าเส้ง-วงเวียนประติมากรรมคนอ่านหนังสือ) กลับอนุญาตให้เปิดร้านอาหารได้ไม่เกิน 20.00 น. เท่านั้น พร้อมห้ามจำหน่าย แจก จ่าย สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
วศินกล่าวว่า เขาเข้าใจเรื่องการออกคำสั่งควบคุม แต่สำหรับเส้นถนนริมหาดชลาทัศน์ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยร้านอาหารนั่งดื่ม กลับถูกสั่งให้เปิดบริการได้แค่ 20.00 น. ในขณะที่ร้านอาหารแนว Pub & Restaurant ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้ กลับสามารถเปิดได้ถึง 22.00 น. แม้จะห่างกันแค่ 2 ชั่วโมง แต่คำสั่งนี้ทำให้บรรยากาศร้านอาหารริมทะเลเงียบเหงา และบรรดาผู้ประกอบการต่างได้รับผลกระทบอย่างมาก
ก่อนหน้านี้ช่วงกลางเดือนตุลาคม ร้านอาหารเส้นริมหาดชลาทัศน์ สามารถเปิดได้ถึง 4 ทุ่มเหมือนร้านอื่นๆ ผู้ประกอบการเริ่มเห็นสัญญาณที่ดี พนักงานในร้านก็เริ่มคลายกังวล แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน กลับมีคำสั่งควบคุมเฉพาะร้านอาหารที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นริมทะเลให้เปิดได้ถึง 20.00 น.เท่านั้น เพราะไม่อยากให้คนมานั่งกินเหล้ามั่วสุมริมทะเลในช่วงโควิด-19
วศินเล่าต่อว่า การที่ร้านอาหารเปิดได้แค่ 20.00 น. ผู้ประกอบการมักเจอปัญหาคล้ายๆ กัน เมื่อลูกค้าเข้าร้าน แล้วรู้ว่าปิด 20.00 น. ก็จะเดินออก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่จะมาช่วงเย็น-ค่ำ เพื่อนั่งกินข้าวหลังเลิกงาน ต้องการบรรยากาศที่ไม่เร่งรีบ
"ผมยอมปรับตัว ไม่ได้ขายเหล้า-เบียร์ ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100 เปอร์เซ็นต์ เราขายกาแฟ ขายหม่าล่า เปิดให้ตรวจสอบได้ เข้าใจว่าทางการกลัวคนมานั่งมั่วสุมริมทะเล แต่นี่ผมเปิดเป็นร้านอาหาร มีบริเวณร้านชัดเจน ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ และจัดโต๊ะแบบเว้นระยะห่างด้วย
"เปิดร้านตั้งแต่บ่ายสาม แล้วต้องปิดตอน 2 ทุ่ม เคยขายได้ต่ำสุดวันละ 162 บาท ในฐานะผู้ประกอบการ ผมขอความอนุเคราะห์ให้ร้านอาหารบนถนนเส้นนี้เปิดได้ถึง 4 ทุ่ม เหมือนร้านบนถนนเส้นอื่นบ้าง เปิดช่องทางให้คนกลางคืนทำมาหากิน เพราะที่ผ่านมาไม่มีใครช่วยเรา เพราะเขาไม่เคยจะช่วยอยู่แล้ว"
ทุกสถานที่ก็เป็นคลัสเตอร์ได้ ไม่เฉพาะ "สถานบันเทิง-ร้านเหล้า-ผับ-บาร์"
เมื่อถูกถามถึงความเห็นที่หลายคนมองว่า สถานบันเทิง-ร้านเหล้า-ผับ-บาร์ คือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ และอาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 วศินมองว่า ตอนนี้หากการ์ดตก ไม่ว่าจะสถานที่ไหนก็สามารถแพร่เชื้อได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าจะมีมาตรการอย่างไร หรือมีการควบคุมอย่างจริงจังหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา สถานบันเทิงคือธุรกิจที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่เคยได้รับการเหลียวแล มีแต่สั่งปิดอย่างเดียวมาเป็นเวลานานร่วมปีแล้ว
"โรงงานหลายแห่งมีผู้ติดเชื้อเป็นร้อยเป็นพันคน แต่กลับมีมาตรการช่วยจัดการให้ ปิดชั่วคราวแค่ 1-2 สัปดาห์ แล้วกลับมาเปิดให้ทำงานปกติ แล้วทำไมธุรกิจกลางคืน ไม่เคยมีมาตรการรองรับเลย สั่งปิดอย่างเดียว ไม่สนใจพวกเราเลย อยากให้มีการออกมาตรการมาให้บ้าง พวกผมยินดีทำตาม ต้องทำอย่างไรถึงจะเปิดร้านได้ ให้ตั้งโต๊ะเว้นระยะห่าง, ตรวจ ATK ทุกวัน หรือจะให้พนักงานไปฉีดวัคซีนให้ครบกี่เข็มก็ว่ามา ออกมาตรการมาได้เลย"
เสียงสะท้อนของ "คนกลางคืน" ถูกมองเป็นผู้ร้าย ในยุคโควิด-19
อาชีพคนกลางคืนไม่ได้มีแค่เฉพาะผู้ประกอบการ นักร้อง นักดนตรี หรือดีเจเท่านั้น แต่ยังมีตำแหน่งหน้าที่อื่นๆ ที่ทำงานหาเลี้ยงชีพจากธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งวศินให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้อาชีพคนกลางคืน ถูกมองเป็นผู้ร้าย ไม่มีใครสนใจ ไม่มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
"อาชีพคนกลางคืน เรามีความสุขในการให้ความสุขกับคนอื่นๆ แต่เขากลับมองคนกลางคืนเป็นผู้ร้าย เพราะงานของเราต้องทำในเวลากลางคืนไง ถ้าคุณให้ผมเปิดผับกลางวันได้ ผมก็คงกลายเป็นคนกลางวันไปแล้ว แต่ใครจะมาเที่ยวตอนกลางวัน อากาศร้อน ทุกคนต้องทำงาน ไม่ใช่เวลาเที่ยวเล่น"
เสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการสถานบันเทิงยุคโควิด-19 โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด เผยว่าตอนนี้ทำได้แค่รอวันปลดล็อกเท่านั้น ผลกระทบไม่ใช่แค่การสูญเสียเงินลงทุนและขาดรายได้อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องปากท้องของพนักงานที่ร่วมหัวจมท้ายอีกหลายชีวิต
"ไม่ใช่ความเสียหายของผู้ประกอบการคนเดียว แต่มันล้มเป็นลูกโซ่ ไหนจะชีวิตพนักงานคนอื่นๆ ที่เขาลาออกจากงานเล็กๆ ที่ทำอยู่ชั่วคราว เด็กเสิร์ฟกลับมาจากพัทลุง นราธิวาส แม่ครัวไปลาออกจากงานโรงแรม เพื่อเตรียมช่วยกันเปิดร้าน แต่หลังปรับเลื่อนวันปลดล็อก ผมเปิดได้ไม่กี่วัน ก็ต้องปิดร้านอีกครั้ง กลายเป็นพวกเขาก็ไม่ได้ทำงาน แล้วจะหาเลี้ยงชีพครอบครัวกันอย่างไร เรื่องนี้อาจน่าเป็นห่วงกว่าผู้ประกอบการ"
อย่างไรก็ตาม "วันปลดล็อก" 16 มกราคม 2565 ได้กลายเป็นความหวังเดียวของคนทำธุรกิจสถานบันเทิงในขณะนี้ ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้ประกอบการ หรือลูกค้าเท่านั้น แต่ยังมีอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อครัว-แม่ครัว, พนักงานเสิร์ฟ พนักงานควบคุมเสียง พนักงานทำความสะอาด ฯลฯ ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองเล็กๆ ที่คอยขับเคลื่อนธุรกิจอยู่เบื้องหลัง
สิ่งที่พวกเขาต้องการสะท้อนไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือ อยากให้ฟังเสียงของคนกลางคืนบ้าง หรือมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อเปิดโอกาสในการทำมาหากิน เพราะ "คนกลางคืน" ไม่ใช่แค่คำนิยามเรียกอาชีพ แต่มันคือชีวิตและปากท้องของผู้คน.
เรื่อง : Tatiya Kaewchan
กราฟิก : Sathit Chuephanngam
ภาพ : BK Thunyada Sutthi-nunthachoat