ก่อนอื่นต้องยอมรับก่อนว่าปริมาณของแพทย์ในประเทศไทยไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาเราพุ่งเป้าพิจารณากันแต่ในเชิงตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองในรายละเอียดว่าแพทย์ยังมีชีวิตอยู่เท่าใด อยู่ในพื้นที่เท่าใด และช่วงอายุเท่าใด
แพทยสภาได้รวบรวมข้อมูลจนถึงปลายปี 2561 พบว่าจริงๆแล้วบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญในการบริบาลทั้งหมด ไม่ว่าจะอยู่ในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือโรงเรียนแพทย์ในรูปของแพทย์ประจำบ้านนั้น ส่วนใหญ่เป็นแพทย์อายุน้อยทั้งสิ้น
“เวลาเราพูดถึงปัญหาแพทย์กระจุกตัวไม่กระจาย โดยมักพูดกันต่อว่าจริงๆแล้วกำลังคนเพียงพอนั้น แท้ที่จริงแล้วมันไม่เพียงพอ เพราะว่าช่วงอายุของการทำงานจริงๆมีอยู่แค่ 2-3 หมื่นคนเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ทำให้แพทย์ “กระจุกตัวไม่กระจาย” ก็ต้องถามต่อว่าเหตุใดแพทย์จึงอยู่ไม่ได้ในระบบ?
สาเหตุที่ทำให้แพทย์อยู่ไม่ได้ในระบบมีหลากหลาย เริ่มตั้งแต่
1.ภาระงานมีมากเกินไปในขณะที่กำลังคนมีจำกัด
...
2.ผู้ป่วยมีความต้องการรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูงขึ้น ฉะนั้นคนที่อยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเกิดความอึดอัด เพราะไม่สามารถสร้างความพอใจให้กับตนเองและผู้ป่วยได้
ประการแรกคือแพทย์ทนไม่ไหว ประการต่อมาคือเรื่องของความก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ ความก้าวหน้าทางวิชาการ รวมไปถึง ความมั่นคงในชีวิตและครอบครัวของตัวเอง ตรงนี้จะเห็นได้ว่าแพทย์ที่ใช้ทุนเสร็จเรียบร้อยก็มักจะกลับมาเรียนต่อ ซึ่งการเรียนต่อตรงนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงในการเผชิญชีวิตต่อภายภาคหน้า
“เพราะต้องยอมรับว่าสังคมในปัจจุบันนี้ต่างร้องเรียกหาผู้เชี่ยวชาญ ประชาชนต้องการตรวจ รักษา ผ่าตัดกับผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้นแพทย์ก็ต้องหาอะไรที่ตอบสนองความต้องการของสังคม และตอบสนองความมั่นคงของตัวเองด้วย ในกรณีนี้ต้องถามคำถามต่อว่าแล้วจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร”
ทางออกของปัญหาคือการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทะลักออกไปข้างนอกจนแก้ปัญหาการกระจุกตัวได้เองเช่นนั้นหรือ?
และในขณะที่แพทย์ทะลักออกไปข้างนอกแล้วทุกคนยังเป็นผู้ เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ เมื่อแพทย์ไม่สามารถแข่งขันกันได้ในเมืองใหญ่ก็จะกระจายออกไปด้านนอกเองเช่นนั้นหรือ?
การแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้มักพบได้ในเมืองใหญ่ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งที่สุดแล้วระบบเช่นนี้ในตอนท้ายก็ล่มจม เพราะด้วยวิทยาการอะไรต่างๆ มุ่งตรงไปที่การรักษา เมื่อพุ่งเป้าไปที่การรักษาแล้วก็จะนำมาซึ่งนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือเครื่องมือหัวใจเทียม ปอดเทียม ฯลฯ
แต่ที่มาของนวัตกรรมและความเชี่ยวชาญเหล่านี้ก็คือเงินทองงบประมาณมหาศาลที่ต้องใช้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นหากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้โดยที่ไม่กลับมามองถึงประเด็นสำคัญคือเรื่อง “การส่งเสริมป้องกัน” และ “ความตระหนักรู้ในสภาพความเป็นจริงของประชาชนเอง” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด ก็คงมีปัญหาตามมา
สร้างบรรยากาศตระหนักรู้สุขภาพ หนุน ปชช.ดูแลตัวเอง
ทางออกของปัญหาคือประชาชนเองต้องตระหนักว่าการดูแลตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งต้องเป็นไปในลักษณะเดียวกับความตระหนักรู้ในเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ แต่สิ่งที่ต้องมีมากกว่านั้นคือการรับรู้ถึงความสำคัญของสุขภาพ และการรับรู้ว่าโรคต่างๆไม่เกิดขึ้นมาภายใน 5-10 ปี หากแต่เป็นการสะสมมาอย่างยาวนานเป็น 10-20 ปี แล้วจึงแสดงอาการออกมา
คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้ความตระหนักรู้เช่นนี้เกิดขึ้นมาได้
นั่นคือระบบการศึกษา ซึ่งไม่ใช่การศึกษาของแพทย์ แต่เป็นการศึกษาตั้งแต่เด็กอนุบาล การศึกษาในครอบครัว ซึ่งทำให้เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องนี้ เมื่อตระหนักรู้แล้วก็จะทำให้การป้องกันได้ผล
สำหรับการป้องกันคือการป้องกันในตัวเอง แต่ยังมีการป้องกันอีกส่วนหนึ่งคือการป้องกันโดย “หน่วยงานรัฐ” ซึ่งการให้ความรู้โดยภาครัฐนั้นจะต้องอยู่ในพื้นที่นั้นๆ และนั่นคือที่มาของ “ระบบสาธารณสุขมูลฐาน” ที่พยายามจะเปลี่ยนสถานีอนามัยให้มีความพร้อมมากขึ้น กำหนดให้มีแพทย์ประจำเพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
...
ในกรณีนี้หากนำแพทย์ลงไปเฉยๆก็จะมีความยากเย็นแสนเข็ญ เพราะตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เดิมทีในอดีตหากเริ่มต้นด้วยการคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงเป็นโรค แล้วเริ่มป้องกันตั้งแต่ 15 ปีที่แล้ว ปัจจุบันจะไม่มีคนไข้เดินเข้าโรงพยาบาลมากมายเช่นนี้
การโน้มน้าวด้วยสวัสดิการ–ผลิตผู้เชี่ยวชาญเพื่อชุมชน
เรื่องระบบสาธารณสุขมูลฐานในขณะนี้ ถ้าส่งหมอเข้าไปในพื้นที่เมื่อใด หมอคนนั้นต้องรอบจัด คือต้องเป็นหมอที่เก่ง เก่งพอที่จะรับมือกับสถานการณ์ที่เฉียดเต็มขั้น หรือเข้ามาครึ่งทางของตัวโรคแล้ว แต่ถ้าหากคนที่ลงไปตรงนั้นเป็นแค่หมอที่ให้ความรู้ การป้องกันเท่านั้นคงไม่เพียงพอ เพราะประชาชนเริ่มกลัวตายขึ้นมาแล้ว เขาเห็นว่าเบาหวาน น้ำตาลสูงมากแล้ว
“ประเด็นคือในขณะนี้หมอไม่ใช่แค่การคัดกรองคนที่เริ่มป่วย แต่เป็นการลงไปเพื่อรักษาคนที่ป่วยแล้ว และป่วยมาครึ่งทางแล้ว เพราะฉะนั้นความยากก็คือถ้าหากจะนำหมอที่รอบจัด หรืออยู่ในระดับเช่นนี้ลงไปในพื้นที่ได้ ก็จะต้องดึงหมอที่กำลังกระจุกตัวอยู่ในขณะนี้ด้วยการให้ความสำคัญ ให้ชื่อเสียง ให้รู้สึกว่ามีเกียรติ เขากำลังทำหน้าที่สำคัญ และที่สำคัญคือเขาต้องสามารถเลี้ยงตัวได้ และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้”
...
ดังนั้น การดำเนินการก็คือเริ่มนำเอาผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอยู่แล้วแต่ยังกระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่ อาจจะต้องจูงใจว่าแทนที่จะแก่งแย่งกันในเมืองอย่างยากลำบาก ลองไปอยู่ในบรรยากาศสบายๆ คุณภาพชีวิตดีๆในพื้นที่ แล้วยังได้ค่าตอบแทนโดยคิดค่าตอบแทนตามภาระงานที่เกิดขึ้น
คือทำงานมากก็ควรได้ค่าตอบแทนมาก
หากเป็นเช่นนี้ ในอนาคตเมื่อแพทย์เรียนจบแล้วใช้ทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาจะกลับมาศึกษาต่อหรือฝึกเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่
ควรจะฝึกอบรมให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ในภูมิลำเนาของตัวเอง เช่น ในเขตนั้นมีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่งก็ให้แพทย์ไปศึกษาอยู่ที่นั่น แล้วจบออกมาก็ไปอยู่ในภูมิลำเนาในโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีพี่เลี้ยงอยู่ในเขตตรงนั้นด้วย
ขอขอบคุณวารสาร Hfocus เรียบเรียง สรุป บทสัมภาษณ์ ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา 4 กรกฎาคม 2018.
หมอดื้อ